กบช. กฎหมายที่ต้องเร่งผ่าน

กบช. กฎหมายที่ต้องเร่งผ่าน

พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. คืออะไร สำคัญอย่างไร ทำไมถึงต้องเร่งผ่าน ผมสรุปให้ดังนี้ครับ

กฎหมายฉบับนี้ถูกยกร่างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้แรงงานในระบบทุกคนมีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มขึ้น และมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอในการดำรงชีพ โดยการ“บังคับ” ให้กิจการทุกแห่ง ต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงาน แปลง่ายๆ กบช. ก็คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ นั่นเอง

ในปัจจุบัน กิจการ ห้าง ร้านต่างๆ ไม่ได้ถูกบังคับให้ต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ยกเว้นถ้าจะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ถึงจะโดนข้อบังคับของตลาด) จึงมีจำนวนกิจการเพียง 19,353 แห่ง จากทั้งหมด 710,944 บริษัท ที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่พนักงาน จากตัวเลขล่าสุด มีลูกจ้างแค่ 3.3 ล้านคน (ไม่รวมข้าราชการ) ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากแรงงานในระบบทั้งหมดเกือบ 16 ล้านคน

สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคยกับระบบบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นการออมเพื่อการเกษียณรูปแบบหนึ่ง ที่นายจ้างให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง โดยที่นายจ้างจะสมทบเงินเข้ากองทุนร่วมกับลูกจ้างในจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน เงินก้อนนี้จะถูกนำไปบริหารจัดการโดยมืออาชีพ และเมื่อลูกจ้างเกษียณ ก็จะได้รับเงินก้อนนี้ไปทั้งจำนวนบวกกับดอกผลที่ได้จากการลงทุน ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือการสร้างวินัยการออม และทําให้ลูกจ้างมีเงินก้อนไว้สำหรับใช้ตอนเกษียณ

กฎหมายนี้จะไม่มีความจำเป็นเลย ถ้าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสังคมสูงอายุ หรือถ้าเรามีระบบบำนาญที่มีประสิทธิภาพ แต่ในปัจจุบัน 17% ของประชากรไทยมีอายุมากกว่า 60 ปี และภายในปี 2564 ประชากรที่อายุเกิน 60 ปี จะมีสูงถึง 20% ซึ่งถ้าอิงตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ จะถือว่าไทยเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์

การมีผู้สูงอายุจำนวนมากจะไม่สร้างปัญหา ถ้าทุกคนมีเงินออมที่เพียงพอในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุไทยไม่ได้มาจากเงินบำนาญ หรือเงินเก็บ แต่มาจากบุตร (35% ของรายได้) และจากการทำงาน (31% ของรายได้) ซึ่งแปลว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยเกษียณ ยังต้องให้ลูกหลานเลี้ยงดู หรือไม่ก็ต้องทำงานต่อไป เงินบำนาญซึ่งควรเป็นรายได้หลัก กลับคิดเป็นสัดส่วนเพียง 6% ของรายได้เท่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเรามีเงินออมในระบบบำนาญน้อยมาก คิดเป็นแค่ 7% ของ GDP ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม OECD อยู่ที่ 51% และของประเทศที่เหลืออยู่ที่ 20% ประเทศที่มีระบบบำนาญดีมากๆ อย่าง เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ หรือ สหรัฐฯ มีขนาดของกองทุนบำนาญสูงถึง 150-200% ของ GDP

สาเหตุที่กองทุนบำนาญเรามีขนาดเล็ก เป็นเพราะเราแทบไม่มีการบังคับออมเพื่อการเกษียณอายุเลย กองทุนเพื่อการเกษียณส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบ “สมัครใจ” จึงทำให้คนส่วนใหญ่ละเลยที่จะออมเงินในช่วงวัยทำงาน แรงงานในระบบถูกบังคับออมเฉพาะในกองทุนประกันสังคม และเป็นเงินจำนวนที่น้อยมาก ในขณะที่แรงงานนอกระบบไม่ได้ถูกบังคับให้ออมเลย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนไทยส่วนใหญ่มีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

ระบบบำนาญของไทยจึงจัดว่าเป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะครอบคลุมแรงงานเพียง 40% หรือ 16 ล้านคน จากทั้งหมด 38 ล้านคน อีกทั้งรายได้จากเงินบำนาญสำหรับคนที่อยู่ในระบบบำนาญ ก็ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ คนที่ไม่ออมเพิ่มเอง หรือทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พอเกษียณอายุ จะมีแค่เงินหลักพันจากกองทุนประกันสังคม บวกกับเงินอีกไม่กี่ร้อยบาทจากเบี้ยคนชรา ไว้ใช้ยังชีพในแต่ละเดือน

การบังคับให้ทุกกิจการต้องจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน คงไม่ได้ช่วยตอบโจทย์ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จะช่วยสร้างวินัยการออม เพิ่มความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณ และช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการใช้งบประมาณเพื่อดูแลคนชรา ซึ่งก็จะทำให้ระบบบำนาญของเรามีความยั่งยืนมากขึ้น

กฏหมาย กบช. กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. ผมหวังว่าสมาชิก สนช. และรัฐบาลจะเห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นเร่งด่วนของกฎหมายฉบับนี้ และช่วยกันผลักดันให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด