“Predictiv” รู้ผลให้ชัด ก่อนผลักนโยบาย

“Predictiv” รู้ผลให้ชัด ก่อนผลักนโยบาย

ทำไมแนวคิดนโยบายดีๆ พอนำไปใช้จริงแล้วถึงไม่ตอบโจทย์สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้น

ยากที่จะคาดการณ์ได้ จะว่าไป คล้ายๆ กับสำนวนไทยที่ว่า ใจคนนี้ยากแท้หยั่งถึง หรือจะพูดอีกแง่ก็คือ นโยบายสำหรับประชาชนจะทำเหมือนตัดเสื้อเหมาโหลให้ทุกคนใส่ มันย่อมไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีพอสำหรับทุกคน ดังนั้น การกำหนดนโยบายออกมาให้ถูกใจประชาชนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เพราะพฤติกรรมคนแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมของคนในแต่ละบริบท แต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันไปด้วย

การที่รัฐบาลคิดนโยบาย หรือมีความคิดดีๆ แต่เมื่อประกาศเป็นนโยบายแล้วกลับไม่ตอบโจทย์ประชาชนจนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมที่ดีและยั่งยืน นับเป็นปัญหาสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญคล้ายๆ กัน เพราะแม้แต่ความคิดที่ดีที่สุดก็อาจล้มเหลวได้ในระหว่างการนำไปสู่การปฏิบัติ

ข้อจำกัดสำคัญในขั้นตอนของการกำหนดนโยบายที่หลายประเทศประสบปัญหา คือ มักจะไม่มีเวลาทดลองและทดสอบเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ ว่านโยบายต่างๆ สร้างผลกระทบจริงกับประชาชน และหากจะทำการทดลองจริงๆ ก็ดูจะใช้เวลาที่นานเป็นปี 

วันนี้เราจึงอยากเล่าถึงตัวอย่างโมเดลที่น่าสนใจในการช่วยทดสอบพฤติกรรมของประชาชนก่อนจะออกเป็นนโยบายของอังกฤษแพลตฟอร์มหนึ่ง ชื่อ “Predictiv” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการทดสอบพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งมีส่วนช่วยภาครัฐในการทดสอบว่านโยบายและมาตรการใหม่ๆ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีหรือไม่ ก่อนที่จะนำนโยบายไปใช้ในวงกว้าง

แพลตฟอร์ม Predictiv ได้เปิดตัวในปี 2016 โดยหน่วยงานที่ชื่อว่า Behavioral Insights Team (BIT) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้แนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการออกแบบนโยบายสาธารณะและได้สร้างเครื่องมือดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยเน้นการออกแบบโครงการที่ช่วยสะกิด (Nudge) ให้คนเลือกพฤติกรรมที่ดีได้อย่างง่ายๆ เช่น ออกแบบฟอร์มภาษีที่ช่วยสะกิดให้คนจ่ายภาษีตรงเวลา หรือการออกแบบบิลค่าไฟเพื่อให้คนอยากใช้ไฟอย่างประหยัด เป็นต้น

ทั้งนี้ จากปัญหาข้อจำกัดด้านเวลาและความเป็นจริงทางการเมือง บางครั้งอาจทำให้ยากที่จะ ทดลองนโยบายในภาคสนามได้ แพลตฟอร์ม Predictiv จึงเป็นทางออกสำคัญ เพราะเป็นแพลตฟอร์มการวิจัยพฤติกรรมแบบออนไลน์ที่ออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมเพื่อทดสอบว่า อะไรจะเกิดขึ้นกับพฤติกรรมของคนเมื่อได้รับผลจากนโยบายต่างๆ โดยสามารถเปรียบเทียบผลการทดลองระหว่างกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่เป็นกลุ่มควบคุม (Control Group) กับกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่จะได้รับผลทางนโยบาย (Intervention Group) ซึ่งเป็นวิธีการมาตรฐานที่เรียกว่า Randomised Controlled Trials (RCT) ที่น่าสนใจคือ แพลตฟอร์ม Predictiv นี้ที่มีฐานข้อมูลประชาชนที่พร้อมจะเข้าร่วมทดลองขนาดใหญ่แล้วถึง 4 ล้านคน

ในทางปฏิบัติ หน่วยงานที่ต้องการออกนโยบายของอังกฤษสามารถนำนโยบายของตนมาทดสอบบน Predictiv ซึ่งจะทำให้ได้รับทราบผลกระทบต่อพฤติกรรมของประชาชนเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แพลตฟอร์มนี้จึงทำให้หน่วยงานสามารถทราบได้โดยเร็วว่านโยบายมีผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจริง เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์  เทียบกับในแบบเดิมที่ต้องออกแบบการทดลองเองซึ่งจะใช้เวลานานเป็นปีและมีต้นทุนสูงมาก จนกระทั่งหน่วยงานส่วนใหญ่อาจตัดสินใจออกนโยบายไปเลยโดยข้ามขั้นตอนการทดสอบพฤติกรรมประชาชนไป

อังกฤษได้อาศัยแพลตฟอร์มนี้ทดสอบพฤติกรรมคนมากกว่า 30 ครั้ง และนำผลการวิจัยที่ได้จากการทดสอบเชิงพฤติกรรมนี้ไปสู่การกำหนดนโยบายของรัฐบาล

ตัวอย่างที่ Predictiv นำมาใช้เพื่อทดสอบพฤติกรรมประชาชน เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบใบแจ้งยอดบัตรเครดิตที่จะส่งผลให้มียอดการชำระเงินรายเดือนเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงแบบฟอร์มความยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวที่จะช่วยให้ประชาชนยินยอมตกลงให้ข้อมูลกับภาครัฐเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงแบบฟอร์มภาษีออนไลน์ที่จะช่วยเพิ่มความถูกต้องของข้อมูลที่ผู้เสียภาษีกรอกให้ เป็นต้น

จากการศึกษาโมเดลนี้ทำให้เห็นประโยชน์สำคัญ คือ แพลตฟอร์มนี้ช่วยให้รัฐบาลสามารถทดสอบประสิทธิภาพนโยบาย โครงการและบริการภาครัฐ ผ่านทางออนไลน์จึงเป็นวิธีที่เร็ว ถูก และง่ายกว่าในการทดสอบหรือวิจัยในภาคสนาม รวมทั้งช่วยเอื้อให้หน่วยงานต่างๆ ทดสอบแนวคิดของตนก่อนจะออกมาตรการหรือนโยบายใดๆ ออกไป

จากบทเรียนที่เราได้เรียนรู้จาก Predictiv ทำให้คิดย้อนไปถึงการประกาศนโยบายของประเทศไทยในอดีตหลายครั้งหลายคราที่ว่าด้วย การคิดเร็วแล้วทำเลย บางครั้งอาจไม่ตอบโจทย์ประชาชนเสมอไป หรือบางนโยบายอาจถูกใจประชาชนในระยะสั้น แต่สร้างความเสียหายให้กับประเทศในระยะยาวก็มีให้ได้เห็นกันมาหลายตัวอย่าง

ดังนั้นการเข้าใจพฤติกรรมของประชาชนได้อย่างลึกซึ้งจึงเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบนโยบายสาธารณะ พร้อมๆ กันนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี แพลตฟอร์มออนไลน์ในยุคดิจิทัลเพื่อทำการทดสอบผลกระทบจากนโยบายต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนจำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น และต้นทุนไม่สูงนัก  จึงนับว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจะเหมาะกับยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็นอย่างดี  

โดย...

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation