ลงพื้นที่ 'เมืองหลวง' นี่หรือส่งเสริมท้องถิ่นยุค 'บิ๊กป๊อก'?

ลงพื้นที่ 'เมืองหลวง' นี่หรือส่งเสริมท้องถิ่นยุค 'บิ๊กป๊อก'?

ถ้าคนทำงานเป็น! ไม่ต้องมีใครไปบอก ไม่มีใครไปแนะนำ เพราะเขารู้ว่าชาวบ้านนั้น ได้ประโยชน์แน่ๆ

ช่วงวันที่ 12-15 พ.ย. ที่ผ่านมา รับเชิญไปเป็นวิทยากร "ค่ายหัดบิน" ผลิตสื่อเพื่อชุมชน ของกลุ่มนิสิตสาขานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) จำนวน 160 คน ภายใต้การนำของ ผศ.ดร.ปรีชา สาคร หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ , อ.อดิสรณ์ อันสงคราม นักวิชาการด้านภาพยนตร์ , อ.สถิตย์ ผลทิพย์ อดีตนายกฯองค์การนิสิต มมส และนักกิจกรรมพัฒนาชุมชน

โดยเลือกชุมชนบ้านเมืองหลวง ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งค่ายดังกล่าว ได้ประสานงานกับ กำนันสมชาย อินทร์แก้ว แห่งตำบลเมืองหลวง , ผอ.สมศักดิ์ ดวงนิล โรงเรียนบ้านเมืองหลวง และ ปลัดฯวสันต์ ดวงศรี องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองหลวง (อบต.เมืองหลวง) 

1_3

วันแรก (12พ.ย.) การเดินทางถึงหมู่บ้านล่าช้า แต่ได้รับการประสานกับผู้ช่วยกำนัน เพลินพิศ จังอินทร์ ว่าจะพร้อมในเรื่องบายศรี หมอพราหมณ์ และนางรำ ประมาณ 11 โมงเช้า ทำให้กำหนดการจาก 9 โมงเช้า ต้องเลื่อนออกไป จากการเก็บสัมภาระของนิสิต ทำพิธีสู่ขวัญ และรับประทานอาหารกลางวัน

ได้เริ่มงานจริงๆ ช่วงบ่าย ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่ - ผู้นำชุมชนบางส่วน ที่มาตั้งแต่เช้ากลับไปทานอาหารเที่ยง และเหลือกลับมาร่วมกับเด็กไม่ถึงครึ่ง ซึ่งก็เข้าใจได้ เห็นใจที่ต้องมารอเด็ก แม้ดูจะเหลือผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน อยู่น้อยก็ตาม

ในการนี้ ผอ.สมศักดิ์ ดวงนิล ร.ร.บ้านเมืองหลวง ท่านเข้าใจดีเรื่องการทำค่ายของนิสิตนักศึกษา ในฐานะผู้นำโรงเรียน เจ้าของสถานที่ และคณะครูได้ดูแลอำนวยความสะดวก ให้ความอบอุ่นแก่นิสิตเหมือนลูกหลาน และดูแลอาจารย์และทีมวิทยากรอย่างเป็นกันเอง จนแขกต่างถิ่นได้พูดชื่นชมไม่ขาดปากในแง่มิตรภาพ

2_10

ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับค่ายดังกล่าว ดังนี้ 1.มองความร่วมมือจากโรงเรียนได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม 2.ประเมินจากนิสิตชั้นปี 2 ที่ออกค่ายกลุ่มใหญ่ครั้งแรก แม้ว่าจะติดขัดหลายอย่าง ทั้งเรื่องช่วงเวลาที่ชาวบ้านกำลังตากข้าว แต่การลงพื้นที่ของเด็กๆ นิสิตได้ฟังเสียงสะท้อน ต่างขอบคุณผู้นำลงพื้นที่ ชาวบ้านให้ความร่วมมือดี ส่วนชิ้นงานของนิสิตทั้ง15-16เรื่อง ถือว่าดีในการถ่ายทำและนำเสนอ จับประเด็นได้ เล่าภาษาภาพได้สวยงาม

และข้อสุดท้าย มองความร่วมมือองค์กรระดับชุมชน อาจยังไม่เล็งเห็นถึงการพัฒนาในเชิงประชาสัมพันธ์กิจกรรมชุมชนเพื่อสร้างภาพลักษณ์และอัตลักษณ์ให้เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อประโยชน์ชาวบ้านในชุมชน เหมือนไม่สอดรับต่อเข็มมุ่งระดับจังหวัด และนโยบายรัฐบาล

3_6

แปลกอยู่เหมือนกัน? ประสานขอความอนุเคราะห์ความกรุณาองค์กรในชุมชนแล้ว เหมือนไม่เห็นใจเด็กๆนิสิตนักศึกษาในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนหรือ? ..เรื่องง่ายๆ ช่วงเด็กๆนิสิตเข้าค่าย3วัน3คืนได้อนุเคราะห์อะไรหรือไม่

ยังไม่พูดถึงการอำนวยความสะดวกในด้านอื่นๆ ที่เด็กนิสิตที่มาจากทั่วภาคอีสาน มาลงพื้นที่ในจังหวัดศรีสะเกษ จะได้เห็นความร่วมมือในท้องถิ่นแบบไหนกัน?

ไม่แน่ใจว่า พ่อเมืองคนใหม่ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ มีแนวคิดแนวนโยบายอะไรบ้าง ในการพัฒนาและประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ โดยเฉพาะการที่ชุมชนบ้านเมืองหลวง มีภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมย้อมมะเกลือ

ไม่แน่ใจว่า แนวคิดดีๆ จาก ท่านธวัช สุระบาล ผู้ว่าฯศรีสะเกษ คนก่อนหน้านี้ ถูกพัฒนาต่อหรือทิ้งขว้างหรืออย่างไร

แม้กระทั่งแนวนโยบาย ท่านอธิบดีฯสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, ท่านฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และภายใต้การนำของ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะขับเคลื่อนอย่างไร หากหน่วยงานรัฐยังมองไม่เห็นการร่วมไม้ร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชน ที่จะเข้าไปสนับสนุนแบบไหนอย่างไร

4_4

ทั้งนี้ ในการเดินทางจากกรุงเทพฯเพื่อลงพื้นที่ชุมชนบ้านเมืองหลวงดังกล่าว ถือเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ จึงอยาก "สะท้อน" ไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ว่า สภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร

เสียงสะท้อนชาวบ้านบางคนบอกว่า เมื่อไหร่จะมี "นายกฯอบต." (ตัวจริง) เพื่อทำงานเป็นปากเป็นเสียงเพื่อทำงานให้ประชาชนในพื้นที่เสียที เนื่องจากสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ คือการย้ำอยู่กับที่ หรือเหมือนความกลัวทำให้เสื่อม ไม่กล้าคิดกล้าทำอะไรใหม่?

ถ้าคนทำงานเป็น! ไม่ต้องมีใครไปบอก ไม่มีใครไปแนะนำ เพราะเขารู้ว่าชาวบ้านนั้น ได้ประโยชน์แน่ๆที่กลุ่มนิสิตนักศึกษา 160 คน มาจากต่างบ้านต่างเมือง มาทำภาพยนตร์สารคดี15-16เรื่องเพื่อเผยแพร่ความเป็น "ชาวบ้านเมืองหลวง" ชุมชนโบราณให้ปรากฎสู่สายตาชาวโลก

หรือเพราะ "บิ๊กระดับนโยบาย" มองภาพกว้างและภาพเชิงลึกในการพัฒนาชุมชนไม่ออก???