Don’t invest against policy maker

Don’t invest against policy maker

อย่าลงทุนสวนทางนโยบายรัฐ น่าจะยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน

เขากล่าวกันว่า 'อย่าลงทุนสวนทางนโยบายรัฐ' สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว ความเสี่ยงสำหรับการลงทุนมีหลายประเภท อาทิเช่น ความเสี่ยงของธุรกิจ อัตราแลกเปลี่ยน นโยบายและกฎระเบียบ เป็นต้น ในปีนี้เราพบว่า ปัจจัยที่กระทบการลงทุนในตลาดหุ้นไทยล้วนมาจากต่างประเทศโดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และเพื่อนบ้านในเอเซีย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า นโยบายกำแพงภาษีสหรัฐต่อคู่ค้า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยี เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในประเทศเกี่ยวกับการควบคุมการสินเชื่ออสังหาฯ ทั้งนี้ ธปท.อาจพบว่า ผู้บริโภคในประเทศเริ่มมีการลงทุนผ่านสินทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนจูงใจกว่าการฝากเงินในสถาบันการเงิน และการลงทุนในสินทรัพย์หุ้น หรือ ตราสารหนี้

แม้ว่าบางท่านอาจเรียกว่า ลงทุนทางเลือก สำหรับเงินที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่บางท่านก็อาจเรียกว่า การเก็งกำไร ทั้งนี้ ธปท.อาจเห็นรายชื่อของผู้บริโภค และผู้กู้เงินผ่านสินเชื่อที่อยู่อาศัย เริ่มมีรายชื่อซ้ำซ้อนหลายโครงการ ทำให้อาจทำให้โครงการอสังริมทรัพย์ที่วางขายในตลาดปัจจุบันอาจไม่ได้สะท้อนความต้องการที่อยู่อย่างแท้จริง

การที่ธปท.ยอมรับสัดส่วน loan/value ในระดับ 70-80% สำหรับการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ไม่ใช่มาตรการที่เข้มงวดแต่อย่างใด เนื่องจากสถาบันการเงินก็พิจารณาในระดับสัดส่วนนี้โดยทั่วไป ยกเว้นบางช่วงเวลาที่สถาบันการเงินอยากเร่งปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ การพิจารณา loan/value ในระดับ 90-110% อาจเกิดขึ้นได้สำหรับผู้กู้บางท่านที่สถาบันการเงินมีประวัติการกู้และชำระเงินที่ดีมายาวนาน

แต่หากการพิจารณาปล่อยสินเชื่อในระดับ 90-110% เริ่มกลายเป็นวิธีปฏิบัติโดยทั่วไปสำหรับสถาบันการเงิน อันนี้ธปท.อาจเริ่มไม่สบายใจ เนื่องจากสถาบันการเงินอาจพิจารณาการเพิ่มของมูลค่าสินทรัพย์ในอนาคต และการผ่อนชำระรวมกันไป ซึ่งกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในสหรัฐช่วงที่อสังหาริมทรัพย์เริ่มเข้าสู่ยุคฟองสบู่เฟื่องฟูหลายปีก่อนซบเซานั้น สถาบันการเงินก็ปฎิบัติเช่นนี้ เนื่องจาก ยามเศรษฐกิจสะดุด หดตัว รายได้ของผู้กู้อาจไม่เพียงพอที่จะผ่อน สถาบันการเงินก็ยึดและขายทอดตลาด กระบวนการนี้ทำให้ราคาบ้านในสหรัฐหลายแห่งตกต่ำ และกลายเป็นปัญหากระจายตัวในวงกว้าง

มุมมองต่อการลงทุนในตลาดหุ้น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซื้อขายด้วยมูลค่าพีอี (จากผลประกอบการจริงย้อนหลัง)ที่ต่ำกว่าตลาดเล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนมองว่า กลุ่มธุรกิจนี้จะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น การกู้สินเชื่อยากขึ้น ซึ่งยอดขายและกำไรอาจหดตัวในอนาคต ประกอบกับธปท.ออกโรงมาเตือนสถาบันการเงินในเรื่องสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อ ยิ่งส่งผลให้ความผันผวนของหุ้นในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจนี้ยังคงซื้อขายด้วยมูลค่าแพงขึ้น สังเกตจาก ค่าพีอีเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นโดยรวมสูงขึ้น แต่มูลค่าที่แพงขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากนักลงทุนยังมั่นใจ และยอมจ่ายพรีเมี่ยมให้หุ้นกลุ่มนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้ ดัชนีกลุ่มอสังหาฯปีนี้ลดลง 10% เทียบกับดัชนีตลาดฯที่ลง 7.8% จากต้นปี แสดงว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนต่ำกว่าเป้า และราคาหุ้นที่ลงนั้นยังตามไม่ทัน

โดยปกติ หุ้นกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบอาจเข้มงวดขึ้น ควรจะซื้อขายด้วยค่าพีอีที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นโดยรวม เพราะเมื่อตัวเลขโดยรวมไม่ชะลอ ธปท.อาจมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การจำกัดสัดส่วนประเภทสินเชื่อ การปรับค่าธรรมเนียมบางอย่างเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนจะเป็นปัจจัยลบต่อเนื่อง ดังนั้น สุภาษิตหลังกระดาน ที่ว่า 'อย่าลงทุนสวนทางนโยบายรัฐ' น่าจะยังใช้ได้อยู่ในปัจจุบัน แม้นักลงทุนจะเปลี่ยนไปซื้อขายหุ้นผ่านมือถือมากขึ้นก็ตาม