วิชาศึกษาทั่วไปเพื่อพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทย

วิชาศึกษาทั่วไปเพื่อพัฒนาคุณภาพพลเมืองไทย

ทุกวันนี้สถาบันอุดมศึกษามองหาวิธีการ และยุทธวิธีในการเร่งเรื่องคุณภาพผู้เรียนทางทักษะการทำงาน ใช้อัตราเร่งของดิจิทัล

เป็นกระแสผลักดันให้สร้างคนเก่งออกมาทำงานในสายอาชีพที่ต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย ความเข้มข้นทางวิชาการก่อให้เกิดความหนาแน่นทางปัญญา ซึ่งในบางครั้งบัณฑิตที่จบออกมาถูกเจือจางเรื่องการใช้ชีวิตแบบคนดีในวิถีดิจิทัล

กระแส SOCIAL MEDIA ที่ร้อนแรงทำให้วิถีชีวิตมีแต่ความเร่งรีบ แข่งขัน พอเจอทางตันของชีวิตแค่ลื่นก็ล้มแบบไม่เป็นท่า ล้มไม่พอ ไม่ยอมลุกอีกต่างหาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นกลไกกระบวนการที่ต้องเร่งปรับแก้ ไม่เช่นนั้นสังคมไทยจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาแบบในหลายประเทศที่เร่งป้อนคนเก่งเข้าโรงงาน แทนที่จะป้อนมนุษย์ที่สมบูรณ์เข้าสู่สถานประกอบการ

เรามีวิชาพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 30 หน่วยกิตในระดับปริญญาตรีที่ทุกคนต้องเรียน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า GE (GENERAL EDUCATION) หรือ วิชาศึกษาทั่วไป แต่บางครั้งเราก็ไม่เฉียบคมพอในการสอนวิชาเหล่านี้ เราต้องนำปรัชญาของการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไปมาวิเคราะห์และสอนอย่างละเมียดละมัย เพราะ“วิชาศึกษาทั่วไปไม่ใช่วิชาศึกษาไปทั่ว”

อีกทั้ง ตอนนิยามความหมาย ไม่ได้มุ่งหวังสร้างยอดมนุษย์ออกมาปรับเปลี่ยนโลกแห่งการทำงาน แต่เรามุ่งสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่พร้อมด้วย กาย ใจ สติปัญญา และสภาพแวดล้อม ออกมาปรับเปลี่ยนสังคม ควบคู่กับสมรรถนะในการทำงานที่คนเก่งในวิชาชีพต่างๆจะต้องมี

กายดีต้องทำให้เขามีสุขภาวะที่ดีเหมาะสมในช่วงวัย สุขภาพต้องสมบูรณ์ รักการเล่นกีฬา ในประเทศไต้หวัน บางมหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาทุกคนต้องมีกิจกรรมใน 2 ปีแรกของการเรียนโดยไม่คิดหน่วยกิต แต่ไม่เรียน ไม่เล่นไม่จบ วิชาพลศึกษา จึงมีความสำคัญและไม่เชยเลยถ้าต้องการสร้างมนุษย์ที่มีกายดี

ใจดีต้องมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมความเป็นพลเมือง คือ ต้องสร้างพลเมืองตื่นรู้ ให้สำเร็จ

สูตรสำเร็จง่ายๆ คือ ต้องสร้างพลเมืองที่ พึ่งสังคมและตนเองอย่างสำเร็จ ต้องถือเคล็ดเคารพสิทธิผู้อื่นเสมอ เคารพความแตกต่างฉันและเธอ เคารพความเสมภาคและเท่าเทียม เคารพกฎกติกามารยาท รับผิดชอบสังคมชาติไม่หลีกเลี่ยง

สติปัญญาดี ต้องมีวิชาที่เสริมสร้างความเป็นมนุษย์ หรือทักษะการเป็นพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 แต่ที่แน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การใช้ภาษาในการสื่อสารต้องเฉียบคมทั้ง ไทย อังกฤษ และภาษาที่ 3

คนที่จะมีสติปัญญาดีต้องรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยากหรือไม่ ไม่ทราบแต่ต้องเพาะบ่มให้เกิดขึ้นทุกช่วงอายุในการเรียน

ส่วนสภาพแวดล้อมนั้น ต้องมีวิชาที่เสริมสร้างให้ผู้เรียนเป็นคนดีในสังคม เมื่อออกไปอยู่ในสังคมหรือชุมชนใดต้องเป็นนักจัดการความดี ดูแลครอบครัว เกลียดการโกง สร้างนิเวศวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาที่จะก่อให้เกิดความสุขของมนุษย์และแผ่นดินเกิด

แค่ 4 ประเด็น กับ 30 หน่วยกิต ที่เราจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้ออกไปสร้างสังคมไทย น่าจะคุ้มค่า

กิจกรรมต่างๆ ในวิชาศึกษาทั่วไปต้องมุ่งสู่ การขับเคลื่อนเขยื้อนสังคม หรือ SOCIAL MOVEMENT อย่าสร้างกิจกรรมให้มากเกินไป แต่กิจกรรมการเรียนรู้ต้องแรงและโดนใจเด็กใน GENERATION นี้

ถามว่ายากเกินไปหรือไม่ ต้องตอบว่าถึงยากแค่ไหนก็ต้องทำ และต้องทำให้สำเร็จ

กิจกรรมการเรียนการสอนที่ดีไม่ต้องลงทุนทางเทคโนโลยีให้มากมาย ใช้ต้นทุนทางสมองที่ผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปทั่วประเทศมี แล้วช่วยกันออกแบบอย่างสุดฝีมือ เราก็จะมีคนดีคืนสู่สังคมได้พร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพ

โลกการเรียนการสอนของมนุษย์ในทุก GENERATION อย่าวัดที่คุณภาพของเทคโนโลยี แต่ต้องวัดที่ความตั้งใจในการออกแบบการเรียนรู้ของครู ครูต้องเป็นครูอยู่ตลอดเวลา ครูในประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตพลเมืองดีมีคุณค่าออกมารับใช้ประเทศชาติและสังคม เขาวัดที่คุณภาพผู้เรียนที่จบออกมา

เก่ง.... คนในวิชาชีพต้องช่วยกันสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ ให้รองรับตลาดแรงงาน

ส่วนดี และ มีความสุข วิชาศึกษาทั่วไปต้องจัดการให้สำเร็จ มีคำหลายคำที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในรายวิชาต่างๆ ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เช่น ความเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก การนำศาสตร์พระราชาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน การจัดการความดี การส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ หรือแม้แต่วิชาการขับเคลื่อนเขยื้อนสังคม ก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ 30 หน่วยกิตของวิชาศึกษาทั่วไปให้คุ้มค่า

ส่วนเรื่องของความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล หรือ วิชา DIGITAL LITERACIES มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสอนให้เขาสร้างเสริมคุณลักษณะบัณฑิตด้านนี้อย่างเร่งด่วน แต่ต้องสอนแบบผ่อนพักตระหนักรู้ เพราะวิถีชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้ เขาอยู่กับดิจิทัลอยู่แล้วอย่ายัดเยียดความจำ แต่ต้องสร้างความตระหนัก มีแบบแผนการสร้างพลเมืองและรายวิชาแบบนี้มากมายในประเทศต่างๆ

สุดท้ายประเทศที่พัฒนาแล้วทางด้านการศึกษาจะมีค่านิยมอย่างหนึ่งคือ “จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

สังคมไทยต้องถูกขับเคลื่อนโดยคนดี คนเก่ง และคนที่มีความสุข อย่าจัดการเรียนการสอนวิชาศึกษาทั่วไปแบบผ่านๆ เพราะประเทศไทยเราเสียเวลากับการพัฒนามนุษย์แบบผ่านๆ มานานพอสมควรแล้ว

ขอให้กำลังใจผู้สอนวิชาศึกษาทั่วไปทั้งประเทศ มาร่วมออกแบบ ปรับรูปแปลงร่างการสอนวิชาศึกษาทั่วไป ให้สนองตอบโจทย์การพัฒนาทรัพยาการมนุษย์ ให้ถึงฝั่งฝันให้ได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดย... 

ผศ.กิตติภูมิ มีประดิษฐ์ 

ผู้อำนวยการ สำนักวิชาการศึกษาทั่วไป ม.ศรีปทุม 

[email protected]