หนังสือปกขาว สงครามการค้าสหรัฐ - จีน ตอน 2 ***

หนังสือปกขาว สงครามการค้าสหรัฐ - จีน ตอน 2 ***

เมื่อสัปดาห์ก่อน(12 พ.ย.) เรื่องราวของ หนังสือปกขาวของจีนว่าด้วยความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาที่มีความยาว 55 หน้า

ออกเผยแพร่ไปเมื่อเดือน ก.ย.2018 และมีผู้ให้ความเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวแล้ว ในบทความนี้ จะยังคงวัตถุประสงค์เดิมในแง่คุณูปการของบทความ ที่มีการใช้ทักษะระหว่างภาษาจีนและไทยให้ผู้อ่านได้รับทราบสิ่งที่แม่นยำที่สุด

IV. พฤติกรรมกลั่นแกล้งทางการค้าของสหรัฐอเมริกา

1.)การสร้างความขัดแย้งทางการค้าบนฐานของกฎหมายภายในประเทศฝ่ายเดียว

รัฐบัญญัติว่าด้วยการขยายการค้าปี 1962 มีมาตรา 232 ที่ให้อำนาจทำการตรวจสอบคู่ค้าภายใต้ข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศแต่ฝ่ายเดียว เมื่อได้ข้อสรุปแล้วดำเนินมาตรการต่อคู่ค้าโดยไม่แจ้งองค์การการค้าโลก การขึ้นอัตราภาษีต่ออลูมิเนียมและเหล็กกล้าในเดือนมีนาคม 2018 ก็เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลาย ๆ กรณี มาตรา 201 ของรัฐบัญญัติว่าด้วยการค้าปี 1974 เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ตรวจสอบคู่ค้าและดำเนินมาตรการต่อฝ่ายตรงข้ามได้ ดังกรณีเครื่องซักผ้าจากเกาหลีใต้ในปี 2017 มาตรา 301 ของรัฐบัญญัติเดียวกันทำการตรวจสอบสินค้านำเข้าจากจีนและปรับขึ้นอัตราภาษีขาเข้าในเดือนกรกฏาคม สิงหาคม และ กันยายน ของปีนี้ รวมมูลค่า $250 พันล้าน การดำเนินมาตรการทั้งหมดนี้ไม่เป็นไปตามระเบียบองค์การการค้าโลก เนื่องจากการดำเนินการต้องได้รับมอบอำนาจจากองค์การการค้าโลกก่อน

2.)การวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศอื่นแต่ฝ่ายเดียว

ในช่วง 10 ปีท่านมา สหรัฐอเมริกาได้คิดค้นและกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมถึง 12 ฉบับ รายงานของ UNDP ปี 2018 ก็ระบุว่า 101 เขตเศรษฐกิจทั่วโลกต่างก็มีนโยบายอุตสาหกรรมของตนเอง นโยบาย “Madein China 2025” ของจีนก็เป็นนโยบายอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งและเป็นนโยบายที่ยึดถือตลาดเป็นหลักโดยเปิดกว้างทั้งแก่ธุรกิจภายในและภายนอกประเทศ ที่สำคัญคือ จีนปฏิบัติตามระเบียบขององค์การการค้าโลก

3.)การใช้กฎหมายภายในประเทศแทรกแซงคว่ำบาตรประเทศจีน

สหรัฐอเมริกามีรัฐบัญญัติว่าด้วยการควบคุมสินค้าขาออกที่ ระบุให้ธุรกิจที่จะส่งสินค้าออกต้องขออนุญาตต่อทางการ ส่วนผู้ซื้อต่างประเทศก็ต้องปฏิบัติตามวัตถุประสงค์การใช้และผู้ใช้งานปลายทางที่กำหนดไว้ มิฉะนั้น ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะถูกขึ้นบัญชีดำ ในปี 2018 ประธานาธิบดียังได้ลงนามในคำสั่งการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีพื้นฐานและใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกายังได้ขึ้นบัญชีดำธุรกิจจีน 44 แห่ง ด้วยข้อหาว่า “ขัดต่อความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา”

4.)ปัญหาภายในกลายเป็นระดับนานาชาติ ปัญหาเศรษฐกิจการค้ากลายเป็นการเมือง

สหรัฐอเมริกาโทษความผิดพลาดทางนโยบายและความบกพร่องเชิงระบบว่า มาจากการค้าระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรมที่ช่วงชิงการจ้างงานภายในประเทศไป และ ทำให้สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้า จีนจึงกลายเป็นแพะรับบาปที่สำคัญ แต่ความเป็นจริงคือ แนวโน้มการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาขยายตัวสวนทางกับแนวโน้มอัตราการว่างงานที่ลดลง และ สาเหตุที่แท้จริงมาจากประสิทธิภาพการผลิตและความได้เปรียบเปรียบเทียบของการผลิตที่เคยสูงของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองที่จัดการกับความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทันเอง

5.)รัฐบาลปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาไม่รักษาสัจจวาจา

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ให้ราคาความศักดิ์สิทธิ์ของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และ สร้างความวุ่นวายแก่ระเบียบกติกาที่รักษาความสงบเรียบร้อยของโลก ทั้งยังไม่รักษาความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ โดยละทิ้งคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้โดยรัฐบาลก่อน ๆ ดังเช่น การออกจากสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ หรือ สนธิสัญญาระหว่างประเทศในหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกายังไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลกเป็นจำนวนมากถึง 2/3 ของคดีที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ในด้านกลไกตลาด รัฐบาลพยายามแทรกแซงขัดขวางไม่ให้องค์กรธุรกิจเอกชนตัดสินใจดำเนินการอย่างอิสระ เช่น การลงทุนต่างประเทศ เป็นต้น ในเชิงของการเจรจาระหว่างประเทศ รัฐบาลมีพฤติกรรมผีเข้าผีออก บางขณะก็เรียกร้องให้เจรจา แต่บางขณะก็ดำเนินมาตรการต่อฝ่ายตรงข้าม ดังเช่นกรณีปัญหาเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาในปีนี้

V. การกระทำของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ไม่สมควรเป็นอันตรายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

1.)สหรัฐอเมริกาละเมิดและโจมตีระเบียบและกลไกทำงานขององค์การการค้าโลกบ่อย ๆ ปฏิเสธการสนับสนุนการค้าพหุภาคี ไม่ร่วมมือในการบริหารจัดการเศรษฐกิจโลก และ ทำให้ที่ประชุมเอเปค 2017 และ 2018 ไม่อาจบรรลุท่าทีที่เป็นเอกฉันท์ต่อการสนับสนุนการค้าพหุภาคี

2.)การขัดขวางการค้าระหว่างประเทศและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ การที่สหรัฐอเมริกาสร้างความขัดแย้งทางการค้าจะมีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในทางลบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้องอีกทอดหนึ่งในทางลบเช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้ว จากการใช้นโยบายปกป้องทางการค้าในยุคทศวรรษที่ 1930 จนทำให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำขึ้นทั่วโลก

3.)ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เลือกใช้เทคโนโลยี แรงงาน และ ทุน ตามความได้เปรียบเปรียบเทียบของตนที่ให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด ส่วนบริษัทข้ามชาติเลือกการจัดสรรทรัพยากรทั่วโลกตามประเทศต่าง ๆ ให้ได้ต้นทุนต่ำสุด การที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการภาษีศุลกากรส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่บริษัทข้ามชาติมีบทบาทอยู่ ซึ่งรวมบริษัทของสหรัฐอเมริกาเองด้วย และ นำไปสู่การชะลอตัวของนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในที่สุด

4.)ลัทธิปกป้องทางการค้าทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาเองในที่สุด

สถาบัน PIIT ระบุว่า 95% ของอัตราภาษีขาเข้าที่สูงขึ้นกระทบต่อชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็คโทรนิค ทำให้ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น และ กระทบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค เป็นที่แน่นอนว่า ประเทศที่ได้รับผลจากมาตรการภาษีย่อมทำการตอบโต้ ซึ่งจะส่งผลกลับมายังสหรัฐอเมริกาหรือผู้บริโภคเองอีกรอบหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ลงทุนจากต่างประเทศจะไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกาเองอีกรอบหนึ่ง ทั้งหมดนี้จะส่งผลทางลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในระยะยาว

VI, จุดยืนของจีน

1.)จีนมุ่งมั่นรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์หลักของประเทศ

การแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่ และ การยึดถือการแก้ไขปัญหาทางการค้าผ่านการพูดคุยหรือการพิจารณาขององค์การการค้าโลกเป็นความปรารถนาของรัฐบาลและประชาชนจีน ประตูแห่งการเจรจาของจีนเปิดกว้างเสมอ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาค ปากกับใจที่ตรงกัน และ ไม่อยู่ภายใต้การข่มขู่ใด ๆ

2.)จีนมุ่งมั่นพัฒนาการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา ให้พัฒนาอย่างแข็งแกร่ง

เศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาเกี่ยวข้องกับ เสถียรภาพ และ ความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจโลก จีนยินดีก้าวไปพร้อมกับสหรัฐอเมริกาในอันที่จะสร้างความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย

3.)จีนมุ่งมั่นรักษาขับเคลื่อนและปฏิรูประบบการค้าพหุภาคีที่สมบูรณ์

องค์การการค้าโลกถือเป็นหัวใจของพื้นฐานการค้าพหุภาคีระหว่างประเทศ และ เป็นเสาหลักของการพัฒนาการค้าอย่างมีระเบียบทั่วโลก จีนสนับสนุนการปฏิรูปองค์การการค้าโลกผ่านองค์กรพหุภาคีต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้เศรษฐกิจระหว่างประเทศเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

4.)จีนมุ่งมั่นปกป้องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา

จีนเห็นความสำคัญของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยผ่านการปรับปรุงกฎระเบียบและยกระดับการตรวจสอบทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในเชิงคุณภาพและประสิทธิภาพ อีกทั้งนำระบบการลงโทษและชดใช้ต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ จีนยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อยกระดับและสร้างมาตรฐานเพื่อการดังกล่าวทั่วโลก

5.)จีนมุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ที่ถูกกฎหมายของธุรกิจต่างชาติในจีน

จีนทุ่มเทสร้างเสริมสภาวะแวดล้อมที่ดีแก่บริษัทต่างชาติ ให้ความเสมอภาค ตอบสนองต่อข้อห่วงใย และ ปกป้องผลประโยชน์ของทุนต่างชาติที่มาลงทุนในจีน

6.)จีนมุ่งมั่นปฏิรูปในเชิงลึกและขยายการเปิดกว้าง

ปฏิรูปและเปิดกว้างเป็นนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของจีนที่มีแต่มุ่งหน้าโดยไม่ย้อนกลับ จีนมุ่งมั่นให้กลไกตลาดจัดสรรทรัพยากร รัฐบาลมีบทบาทสนับสนุน ส่งเสริมการแข่งขัน และ ต่อต้านการผูกขาด จีนไม่ได้เป็นประเทศที่สมบูรณ์จึงยินดีที่จะร่วมมือประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้

7.)จีนมุ่งมั่นกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในรูปของเขตการค้าเสรีระหว่างกันภายในแต่ละกลุ่มประเทศต่าง ๆ

8.)จีนมุ่งมั่นผลักดันองค์กรเพื่อชะตากรรมแห่งมนุษยชาติ

ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ควรจะรับผิดชอบร่วมกันต่อปัญหาวิวัฒนาการของมนุษยชาติที่ท้าทาย โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ่ ในฐานะที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ในลักษณะที่มีผู้ได้และเสียที่เป็น zero-sum game ทั้งนี้เพื่อสร้างโลกที่สันติ ปลอดภัย เจริญรุ่งเรือง เปิดกว้าง และ สะอาดสวยงาม อย่างยั่งยืนร่วมกัน

 

*** ชื่อเต็ม: หนังสือปกขาว “ว่าด้วยความเป็นจริงแห่ง ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาและจุดยืนฝ่ายจีน” ตอน 2