ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (2)

ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (2)

ในตอนที่แล้วผมสรุปว่า เมื่อใดที่ราคาแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน (Lithium ion หรือ Li-ion) ราคาลดลงครึ่งหนึ่งจากราคาปัจจุบัน

208 เหรียญต่อ 1 kWh เหลือ 100 เหรียญต่อ 1 kWh ต้นทุนรวมในการใช้รถไฟฟ้า (Electric vehicle หรือ EV) จะต่ำกว่าต้นทุนรวมในการใช้รถสันดาปภายใน (รถ internal combustion engine หรือ ICE) เพรารถ EV นั้น ค่า “น้ำมัน” ถูกกว่ารถ ICE อยู่แล้ว และค่าบำรุงรักษาก็ต่ำกว่ารถ ICE อย่างมาก เพราะมีชิ้นส่วนที่สึกหรอเพียง 20 กว่าชิ้นหรือประมาณ 1/100 ของจำนวนชิ้นที่สึกหรอได้ของรถ ICE (เช่นรถ EV ไม่มีท่อไอเสีย ไม่ต้องเปลี่ยนหัวเทียน ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไม่มีหัวฉีด ไม่มีหม้อน้ำ ไม่มีเกียร์ ฯลฯ) แต่การเปลี่ยนจากรถ ICE เป็นรถ EV นั้นจะมีผลต่อระบบการขนส่งอย่างกว้างขวาง เพราะรถ EV จะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้เป็นรถขับเอง (self-driving vehicle หรือ autonomous vehicle, AV) ซึ่งเทคโนโลยีในด้านนี้กำลังถูกพัฒนาอย่างเร่งรีบ

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา นางMary Barra ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทรถยนต์จีเอ็ม (General Motors, GM) ประกาศว่าจีเอ็มจะเริ่มให้บริการขนส่งส่วนบุคคลแบบ ride-sharing (เช่นเดียวกับ Uber) โดยรถของจีเอ็มจะเป็นรถที่อาศัยเทคโนโลยีด้านการขับเคลื่อนเองหรือ AV โดยนาง Barra บอกว่าจีเอ็มจะแสดงให้เห็นว่ารถ AV นั้นปลอดภัยกว่ารถที่มนุษย์ขับเอง โดยกล่าวว่า “GM’S vehicles are safer than human drivers” ที่ความเร็วสูงสุดเท่ากับ 50 กม.ต่อชั่วโมง โดยในขั้นแรกจะเริ่มให้บริการในบริเวณจำกัดก่อน ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นมลรัฐซานฟรานซิสโก

ทำไมรถ EV จึงเหมาะที่จะนำไปดัดแปลงเป็นรถ AV? เพราะเป็นรถที่ใช้งานได้หลายแสนกิโลเมตร โดยไม่สึกหรอมากและค่า “น้ำมัน” ก็ไม่สูงมาก รถส่วนตัวนั้นใช้งานเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมง เวลาที่เหลือจอดอยู่ที่บ้านหรือที่ทำงาน ทำให้ต้นทุนที่สูงเป็นลำดับต้นสำหรับรถส่วนตัวคือการเสื่อมค่าตามอายุของรถ (รถจะราคาตกทุกปี แม้ว่าจะใช้น้อยหรือไม่ใช้เลย) และค่าจ้างคนขับรถ (ขับเองก็ไม่อยากขับแล้วในภาวะรถติดปัจจุบันหาก) ดังนั้นการลดต้นทุนการขนส่ง จะมาจากการมีบริษัทที่เป็นเจ้าของรถหลายแสนคันที่ขับเองได้แล้วขายบริการขนส่งให้กับผู้บริโภค (ride sharing) แทนการเป็นเจ้าของรถของตัวเอง ในส่วนของผู้ประกอบการ ride sharing นั้นก็จะสามารถทำกำไรคล้ายกับเครื่องบิน low cost บินขึ้น-ลงตลอดเวลา เพื่อให้มีการใช้อุปกรณ์ (รถยนต์) อย่างคุ้มค่า (high turnover) 

ที่กล่าวข้างต้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่พูดกันในเชิงทฤษฎี เพราะหากดูข้อมูลจากตารางข้างล่างจะเห็นว่า บริษัทที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นผู้บุกเบิก EV, AV นั้น ราคาหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นของบริษัทจีเอ็มอย่างมาก (หากจะเปรียบเทียบกับบริษัทรถยนต์อื่นๆ ก็จะได้ข้อสรุปเหมือนกัน)

ความคืบหน้าเรื่อง EV กับ AV (2)

กล่าวคือจีเอ็มจ้างงานมากถึง 180,000 คน และผลิตรถยนต์ปีละเป็นสิบล้านคันทั่วโลก แต่มูลค่าหุ้นโดยรวม (market cap) ของจีอีที่ 51,200 ล้านเหรียญนั้น ยังต่ำกว่ามูลค่าหุ้นของ Tesla ที่ 58,200 ล้านเหรียญ แม้ว่า Tesla จะขาดทุนมาตลอด 8 ปีหลังการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่จีเอ็มทำกำไรทั้งสิ้น 70,000 ล้านเหรียญในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้น Tesla ก็ผลิตรถได้เพียงปีละ 100,000 คันหรือ 1/100 ของการผลิตของจีเอ็ม แต่นักลงทุนก็ยังมีความเชื่อว่า Tesla เป็นผู้บุกเบิกทั้งในด้าน EV และ AV สำหรับ Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) และ Apple นั้นก็เป็นที่รู้จักกันดีว่าเข้ามาร่วมลงทุนและเป็นผู้บุกเบิกในด้าน AV อย่างเด่นชัดเช่นกัน ผมหมายความว่าผู้ถือหุ้นของจีเอ็มและบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อื่นๆ ย่อมจะต้องกดดันให้บริษัทรถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน EV และAV เพราะจะทำให้ราคาหุ้น (กำไรในอนาคต) สามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด

เทคโนโลยีที่จะทำให้ AV เป็นไปได้จริง คือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ตา ให้รถ AV มองเห็นและการนำเอาข้อมูลดังกล่าวมาประมวลเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะ “ขับ” รถอย่างไรจึงจะถึงที่หมายอย่างรวดเร็วและปลอดภัย ซึ่งในส่วนของการมองเห็นนั้นน่าจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Lidar และในส่วนของการ ขับรถก็จะเป็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) ส่วนของเอไอนั้น ผมเชื่อว่าน่าจะพัฒนาได้รวดเร็วมาก เพราะเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ผ่านมาบริษัท Christie ได้ประมูลขายรูปวาดโดยปัญญาประดิษฐ์ที่ทำราคาสูงถึง 432,500 เหรียญ สูงกว่าราคาที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินถึง 45 เท่า

ผมคิดว่าส่วนของเทคโนโลยีของเอไอในการ “ขับ” รถยนต์นั้น ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหนือความสามารถของผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ และน่าจะสามารถสร้างระบบขับรถเองได้ภายในเวลา 5-10 ปี พร้อมกับวิวัฒนาการที่จะทำให้ราคาแบตเตอรี่ลดลงอีกครึ่งหนึ่งของราคาปัจจุบัน อย่างไรก็ดีปัญหาหลักน่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดเกณฑ์ของการตัดสินใจในกรณีคับขัน เช่น สมมุติว่ารถ AV ที่มีครอบครัวพ่อ-แม่-ลูก 4 คนนั่งอยู่ ขับผ่านสี่แยกและเสี่ยงที่จะถูกรถโดยสารนักเรียน 20 คนที่มาจากทางขวาพุ่งชนอย่างรุนแรง เพราะเบรกไม่อยู่ และสมมุติอีกว่าหากรถยนต์เร่งหลบออกไป ก็จะชนกับคนที่จะเดินข้ามถนน ในกรณีนี้จะต้องให้รถยนต์พุ่งชนคนเดินถนน 1 คน เพื่อช่วยชีวิตคนในรถยนต์และเด็กนักเรียนในรถโดยสารใช่หรือไม่ และจะคำนวณเปรียบเทียบชีวิตของคนอย่างไร อาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและยืดเยื้อ ก่อนที่จะให้มีรถ AV วิ่งกันอย่างแพร่หลายครับ