Disruptive Technology กับการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

Disruptive Technology กับการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

หากย้อนดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกในช่วงราวห้าร้อยปีที่ผ่านมา เราก็จะเห็นบทบาทสำคัญของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

(หรือเรียกตามกระแสว่า Disruptive Technology) ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของระเบียบเศรษฐกิจโลกอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปืนไฟได้นำไปสู่การปฏิวัติระบบอำนาจและการจัดรูปแบบใหม่ของกองกำลังทหารในยุโรป ก่อนที่เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกนำมาเผยแพร่และมีผลสำคัญต่อการขยายตัวของอาณาจักรสำคัญต่าง ๆ ในทวีปเอเชียในคริสต์ศตวรรษที่ 15-17 ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ของคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ส่งผลทำให้ความหนาแน่นของประชากรเมืองในยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นแรงกดดันให้เกิดการปรับขึ้นค่าเช่าที่ดินอันเป็นผลจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรที่ดิน จนนำไปสู่แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน (Ricardo, 1817) ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นขึ้นในอังกฤษ ได้ทำให้เจ้าของปัจจัยทุนมีอำนาจทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าแรงงานมากจนเกิดเป็นความขัดแย้ง (Marx, 1867) แต่ทว่าผลประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้นก็ได้ตกไปถึงชนชั้นกลางของสังคมในที่สุด (Kuznets, 1955) ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงผลของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในอดีต

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ผ่านมายังส่งผลต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ และทำให้เกิดช่องว่างของความแตกต่างทางรายได้ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสังคม (Piketty, 2014) ในปัจจุบัน กระแส Disruptive Technology ก็เริ่มส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่กันบ้างแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนก็ได้แก่ กรณีที่กระแสการค้าเสรีของโลกที่เคยเฟื่องฟูอย่างมากนั้น กลับต้องถูกบดบังรัศมีด้วยระบบของการกีดกันทางการค้าที่นำไปสู่สงครามการค้าในปัจจุบัน จึงอาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรืออุบัติเหตุทางการเมืองที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ (ที่หลายคนอาจมองว่าไม่มีคุณสมบัติของผู้นำที่ดีนั้น) สามารถเอาชนะผลการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2016 มาได้อย่างเหนือความคาดหมายชนิดหักปากกาเซียนและช็อกคู่ท้าชิง ในทางตรงกันข้ามมันอาจเป็นผลโดยตรงมาจากการความล้มเหลวที่ผ่านมาของระบบการเมืองสหรัฐเองที่ไม่สามารถจะกระจายผลประโยชน์ที่เกิดจากการค้าเสรีให้ส่งลงต่อไปจนถึงคนส่วนใหญ่ในระดับล่างมากกว่า ตามที่ประจักษ์ได้จากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคมอเมริกันที่ขยายตัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นสาเหตุหลักที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายประชานิยม สามารถชูประเด็นเรื่อง ‘American First’ ได้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรว่า ประธานาธิบดีคนใหม่นี้จะไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนมากกว่าคนยากคนจนก็ตาม

หากเราพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ก็จะเห็นว่าผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปนั้นถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มหาอำนาจตะวันตกกลายเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากระบบการค้าเสรี เนื่องจากว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ส่งผลทำให้ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายต่างก็มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการผลิตที่สูงขึ้นจากเดิม ซึ่งก็ส่งผลต่อไปทำให้สัดส่วนระหว่างราคาส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับราคาสินค้านำเข้าของชาติตะวันตกเหล่านี้มีการปรับตัวลดลงอย่างมาก ดังนั้น การสนับสนุนการค้าเสรีก็จะมีผลทำให้ชาติตะวันตกสามารถได้รับประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่มากขึ้น เพราะประเทศเหล่านี้จะสามารถส่งออกสินค้าประเภทอุตสาหกรรมได้มากขึ้น และยังจะช่วยทำให้ราคาส่งออกไม่ปรับลดลงมากเหมือนกรณีที่ไม่มีการค้าเสรีนั่นเอง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดจาก Disruptive Technology ในอดีตนั้น ได้สร้างผลกระทบต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ในทิศทางที่มุ่งไปสู่ระบบการค้าเสรี มากขึ้นนั่นเอง

หากเราวิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐในแง่มุมที่ละเอียดมากขึ้น ก็จะพบข้อเท็จจริงว่า ประเภทสินค้าส่งออกของจีนที่ส่งไปยังสหรัฐ (และประเทศอื่นๆ ) ที่มีสัดส่วนที่สูงนั้น ก็คือสินค้าขั้นสุดท้ายที่จีนผลิตได้ด้วยการอาศัยการนำเข้าสินค้าขั้นกลาง (intermediate output) มาจากสหรัฐนั่นเอง ในขณะที่รายการสินค้าที่จีนมีการปรับอัตราภาษีนำเข้าให้สูงขึ้นยังคงเป็นสินค้าเกษตรกรรมและอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ข้อสังเกตนี้สะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แม้ทั้งคู่จะกำลังทำสงครามการค้ากันอยู่ แต่ทั้งคู่ก็ยังคงมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในแบบที่ยังต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอยู่ด้วย และดูเหมือนว่า ในปัจจุบันนี้ สหรัฐจะยังคงถือไพ่ที่เหนือกว่าในแง่ของการมีพื้นฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีชั้นสูงที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าขั้นกลางที่เหนือกว่าจีน ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จีนจะต้องเร่งกวดให้กันเพื่อปิดช่องโหว่นี้ และหากวิธีการปิดช่องโหว่ของจีนจะรวมไปถึงวิธีการล้วงความลับ/บังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างไม่เป็นธรรมให้กับจีนตามที่สหรัฐกล่าวหาแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สหรัฐจะต้องรีบตัดสินใจเลือกทำสงครามการค้ากับจีนในตอนนี้เพื่อบีบจีนเสียก่อน เพราะจะดีกว่าการรอให้สถานการณ์เลวร้ายกว่านี้เมื่อจีนสามารถไล่ตามสหรัฐได้ทันในเชิงเทคโนโลยีชั้นสูง

ดังนั้นหากระบบคิดในเชิงยุทธศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายเป็นจริงดังที่วิเคราะห์มาข้างต้น เราก็จะสรุปได้ว่าการเกิดขึ้นของสงครามการค้าในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือมาจากความหุนหันพลันแล่นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่กลับเป็นรูปแบบของความพยายามในการช่วงชิงโอกาสในการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่โดยมีเดิมพันอยู่ที่ตำแหน่งผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในอนาคตนั่นเอง

ผู้สนใจสามารถติดตามการสัมมนาวิชาการ และงานวิจัย ได้จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์