สิงคโปร์กับการสร้าง Technopreneur

สิงคโปร์กับการสร้าง Technopreneur

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2561 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (Nanyang Technological University - NTU) ได้ตกลงความร่วมมือกับ Dyson

บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้านวัตกรรมระดับโลก อาทิ พัดลมไร้ใบและที่ดูดฝุ่นไร้ถุง ในการสร้างสตูดิโอและห้องทดลองเพื่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ NTU รวมทั้งความร่วมมือในการนำการเรียนการสอนแบบ module มาใช้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี สอนโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง NTU และ Dyson ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่ได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็น Rapid Prototyping machine หรือเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีความละเอียดและซับซ้อน โดยสตูดิโอแห่งนี้นับเป็น Dyson-NTU Studio ในสถาบันการศึกษาแห่งแรกของเอเชีย

ความร่วมมือดังกล่าวเป็นมากกว่าความร่วมมือด้านวิศวกรรมระหว่างองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาโดยทั่วไป กล่าวคือในอดีตมักเป็นความร่วมมือในรูปแบบของการเตรียมความพร้อมด้านทักษะของวิศวกรเพื่อให้ทำงานตามเป้าประสงค์ของบริษัทและภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่โลกปัจจุบันสิ่งประดิษฐ์ สินค้า และรูปแบบการทำงานนั้นมุ่งแก้ไขปัญหาและเอาใจใส่ผู้บริโภค (Pain point and empathy) ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีทักษะเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าในอนาคตอีกต่อไป 

Dyson ได้สร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยแนวคิด ที่ว่า “As engineers, we have to see beyond existing technology and ask ‘is there a better way?’ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดใหม่ด้านการศึกษาของ NTU ที่ต้องการให้นักศึกษามีความสุขและสนุกกับการสร้างสรรค์ เล่น และดัดแปลงเพื่อพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ ภายใต้เงื่อนไขว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องที่รับได้ และยังกระตุ้นให้นักศึกษายอมรับความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และพัฒนาเพื่อต่อยอดในอนาคต ซึ่งถอดมาจากประสบการณ์ของ Sir James Dyson ผู้คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นไร้ถุง ที่ใช้เวลาในการผลิตนานถึงห้าปีและได้สร้างต้นแบบมากถึง 5,127 ชิ้นกว่าจะประสบความสำเร็จ

นอกเหนือจากความสนุกในการเรียนและการทำงานแล้ว เป้าหมายที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการพัฒนาผู้ประกอบการด้านธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือเรียกว่า Technopreneur ด้วย Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในการออกแบบ ผลิต และทดสอบ แต่ยังรวมถึงความเข้าใจผู้บริโภค ผ่านความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ภายใต้ความเชื่อดังกล่าว NTU มีเป้าหมายที่จะพัฒนาทั้งกำลังคนและมหาวิทยาลัย เพื่อการออกแบบสินค้าและศิลปะเชิงสร้างสรรค์รวมทั้งนวัตกรรมให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

ส่วนการศึกษาของไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปรับตัวอย่างหนัก เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติที่จำนวนของนักศึกษาใหม่ลดลงทุกปี โดยการปรับหลักสูตร อาทิ การเรียนการสอนแบบ module แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปและสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศสิงคโปร์คือทำอย่างไรให้การเรียนการสอนมีความสุข สนุก ผิดพลาดได้ และจับต้องได้ รวมถึงจะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการสร้าง “คน” มากกว่าการสร้างสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นเพียงการเพิ่มทักษะหรือ Credentials เท่านั้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีความสำคัญไม่แพ้การสร้างคนให้ออกไปทำงานและการสร้างองค์ความรู้ที่พร้อมใช้งานได้ทันที ซึ่งปัจจุบันก็มีมหาวิยาลัยไทยหลายแห่งเน้นย้ำเรื่องนี้เช่นกัน