เส้นทางสู่การเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 (ตอนที่ 3)

เส้นทางสู่การเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 (ตอนที่ 3)

ดูๆแล้ว เราน่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 ก.พ.2562 ดังนั้น นักการเมืองที่ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องปฏิบัติตาม

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) พ.ศ. 2561 หมวด 4 ผู้สมัครและการสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนที่ 1 ผู้สมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 41 (3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน

ดังนั้นในราวปลายเดือน พ.ย.นี้ เราจะได้เห็นกันชัดๆว่า ตกลงแล้ว ใครจะอยู่ใครจะไปจากพรรคไหน และเมื่อเห็นหน้าค่าตาแล้ว รวมทั้งเห็นหน้าหัวหน้าพรรคชัดๆ และรวมไปถึงการไปสมัครกับคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าใครจะลงเขตไหนและใครจะอยู่ในบัญชีรายชื่อ เราก็อาจจะประมาณการได้ว่า ผู้สมัครคนไหนจะชนะในเขตไหน และพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะได้คะแนนเสียงรวมๆเท่าไร ซึ่งจะส่งผลต่อการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ

 ในบทความของผู้เขียนที่ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 15 ก.ย. 2561 ได้กล่าวไว้ว่าสิ่งที่คอการเมืองรอฟังอยู่ก็คือ การตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเอาอย่างไรบนเส้นทางการเมือง ? นั่นคือ ต้องการที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไหม ? และจะเลือกเดินบนเส้นทางแบบไหน ?

ตัวเลือกอันแรกคือประกาศชัดเจนสวนกระแส ไม่ว่าจะเป็นกระแสเชียร์หรือกระแสต้าน นั่นคือประกาศว่าไม่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นนายกฯคนในหรือคนนอก หลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อย ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว จะยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง

ตัวเลือกอันที่ 2 คือประกาศชัดเจนว่าจะรับใช้บ้านเมืองอาสาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปโดยจะลงชื่อกับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง เพื่อหวังให้ประชาชนที่สนับสนุนตนได้มีช่องทางในการสนับสนุนที่เป็นทางการ นั่นคือ ลงคะแนนเลือกในบัตรเลือกตั้งเลือก ส.ส. ของพรรคที่ลงสมัครชิงชัยในทุกเขตเลือกตั้ง ข้อเสียของตัวเลือกที่ 2 ก็คือ หากพรรคการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนน้อยถึงน้อยมาก อนาคตที่ พล.อ.ประยุทธ์หวังไว้ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็จบเห่ ข้อดีคือ ถ้าเสียงมาถล่มทลาย ก็ชอบธรรมสุดๆไปเลย

 ตัวเลือกอันที่ 3 คือประกาศชัดเจนว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก” คือจะรอให้สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกฯ “คนใน” ได้แล้ว และหากมีการปลดล็อกได้ และหากเสียงในสภาทั้ง 2 มีเกิน 375 ต้องการตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยินดีที่จะรับเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะต้องการให้ประเทศเดินหน้าได้ต่อไป ไม่ชะงักงัน”

 ผู้เขียนได้วิเคราะห์ตัวเลือกที่ 2 ไปในบทความดังกล่าว มาคราวนี้ จะวิเคราะห์ตัวเลือกที่ 1 กับตัวเลือกที่ 3 พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจอย่างไร ?

ตัวเลือกอันแรกคือ ประกาศจะยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ส่วนตัวเลือกอันที่ 3 คือ ประกาศชัดเจนว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ในความเห็นของผู้เขียน แนะนำว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่เลือกตัวเลือกที่ 2 (ซึ่งถ้าจะเลือกแบบนี้ ช่วงที่พรรคการเมืองไป กกต. เราก็จะเห็นว่า ลุงตู่ลงพรรคไหนในช่วงปลาย ก็ควรจะประกาศความมุ่งมั่นที่จะยุติบทบาททางการเมือง และจะปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองที่กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขาว่ากันไปตามคณิตศาสตร์การเมืองในสภาผู้แทนฯ และพล.อ.ประยุทธ์ก็ควรจะประกาศอีกด้วยว่า สมาชิกวุฒิสภาแต่ละคนควรมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจลงคะแนนเลือกผู้ที่เหมาะสมจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หากคณิตศาสตร์การเมืองหรือตัวเลข ส.ส. ในสภาผู้แทนฯลงตัว

ถ้าลงตัวจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วอย่างที่ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม คาดการณ์ไว้ว่า นั่นคือเดือนมิ.ย.2562 พล.อ.ประยุทธ์และคณะรัฐมนตรีชุดนั้นก็จะหมดวาระ มีการมอบงานส่งไม้ต่อให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่พล.อ.ประยุทธ์ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย (democratic coup d’etat) โดยประชาธิปไตยที่ว่านี้ตามทฤษฎีของ Ozan Varol ก็ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยยอดเยี่ยมสูงส่งอะไร เพราะเขาหมายเพียงแค่ มีการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรม และผู้นำรัฐประหารได้ส่งต่ออำนาจไปยังผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่ารัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 จะใช้เวลานานในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยสักหน่อยเมื่อพิจารณาภายใต้ทฤษฎีของ Varol ที่ศึกษาการรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยใน 3 ประเทศ นั่นคือ โปรตุเกส ตุรกีและอียิปต์ที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี แต่เรื่องระยะเวลาในทางสังคมศาสตร์ คงไม่สามารถจะให้เป๊ะเหมือนกันทุกประเทศทุกกรณีได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากไม่มีแรงกดดันจากภาคส่วนในสังคม คสช. อาจจะลากยาวไปเลยก็ได้ เพราะมีคนกล่าวถึงสมัยจอมพลสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสที่ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญเป็น 10 ปีกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2512

แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่สามารถมีคะแนนเสียงลงตัวที่จะเลือกผู้ที่จะเป็นายกรัฐมนตรีได้ ก็คงต้องต่อด้วยก๊อกสอง นั่นคือ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯจะต้องรวมรายชื่อกันได้ 250 คนขอให้วุฒิสภาเปิดประชุมเพื่อลงมติให้เปิดทางให้มีการเสนอชื่อ “คนนอกรายชื่อของพรรคการเมือง” ซึ่งจะต้องได้คะแนนรวมกัน 500 เสียง และถ้าชื่อ “คนนอก” ที่สภาผู้แทนฯเสนอและมีเสียงวุฒิสภาเห็นด้วยรวมแล้ว 376 เสียงคือชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เมื่อถึงตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็จะมีทางเลือกอีกว่าจะตัดสินใจรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับ ก็คงต้องเอาชื่ออื่นต่อไป แต่ถ้าเส้นทางสู่ก๊อกสองไม่เกิด ด้วย 2 เหตุผลคือ ส.ส. ในสภาผู้แทนฯที่ต้องการหาคนนอกไม่สามารถมีเสียงถึง 250 หรือแม้จะถึง แต่เมื่อประชุมร่วม 2 สภาแล้ว ไม่ถึง 500 การเมืองก็จะเข้าสู่ทางตัน คือ นายกฯไม่ว่าจะเป็นคนในหรือคนนอก ก็ไม่ได้ทั้งนั้น ตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรี (ที่ยังเป็นอยู่ ก็เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องเป็นจนกว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่) ก็มีอำนาจในการตัดสินใจว่า จะผ่าทางตันนี้อย่างไร ?

ถ้านักการเมืองพรรคต่างๆไม่สามารถเจรจาลงตัวที่จะให้ใคร (คนใน) จัดตั้งรัฐบาล และหากเวลายิ่งผ่านไปเนิ่นนานเท่าไร (เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดเวลาว่าหลังเปิดประชุมรัฐสภา จะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ภายในกี่วัน) ความชอบธรรมของนักการเมืองก็จะลดลงเท่านั้น และความชอบธรรมของผู้นำที่ไม่ใช่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งก็จะบังเกิดขึ้น...ยามเมื่อชาติต้องการ !