ลงทุนอย่างไรในปี 2019 (2)

ลงทุนอย่างไรในปี 2019 (2)

ในบทความฉบับนี้ จะเป็นตอนจบของฉบับที่แล้ว โดยผู้เขียนจะตอบคำถามที่ว่า ทิศทางการลงทุนในปีหน้าจะเป็นเช่นไร โดยก่อนจะตอบคำถาม

จะขอสรุปเนื้อหาของฉบับที่แล้ว โดยสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเด็นหลัก

  1. เศรษฐกิจโลกปีหน้าจะชะลอตัวลงจากปีนี้จาก 3 ปัจจัยคือ (1) นโยบายการเงินโลกที่ตึงตัว (2) เศรษฐกิจจีนที่ชะลอและ (3) สงครามการค้า แต่ปัจจัยที่สำคัญคือการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่จะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าชะลอลง ทำให้ความผันผวนในตลาดการเงินเพิ่มมากขึ้น และอาจเกิด Inverted Yield Curve (ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าระยะสั้น) ในช่วงกลางปี ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง
  2. เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะชะลอจากปีนี้จากเศรษฐกิจภาคต่างประเทศ (ได้แก่การส่งออกและท่องเที่ยวที่ชะลอลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ สงครามการค้า และความกังวลของนักท่องเที่ยวจีน) และต้นทุนทางการเงินที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่การบริโภคและลงทุนในประเทศอาจปรับเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก เนื่องจากหลากหลายปัจจัยลบรุมเร้า เช่น รายได้จากภาคต่างประเทศที่ลดลง ความไม่แน่นอนหลังการเลือกตั้ง และราคาสินค้าเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ

นอกจากภาพดังกล่าวแล้วนั้น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีอีก 4 เหตุการณ์ที่มีผลต่อเศรษฐกิจและมีนัยสำคัญต่อการลงทุน สรุปได้ดังนี้ (รายละเอียดสามารถติดตามได้จากบทความ SCBS Make Sense ใน FB: SCB Securities และ Line App: @SCBS)

หนึ่ง สหรัฐประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งโดยหลักคือการสั่งห้ามสถาบันการเงินสหรัฐทำธุรกรรมกับคู่สัญญาที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอิหร่าน แต่กลับมีการผ่อนปรน โดยประกาศรายชื่อ 8 ประเทศที่ได้รับการผ่อนผันให้ยังคงสามารถทำธุรกรรมกับอิหร่านได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่า ทรัมป์จะใช้มาตรการเหล่านี้ควบคุมให้ราคาน้ำมันดิบวิ่งอยู่ในระดับประมาณ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อไปได้ หากไม่มีปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์อื่นผลักดัน

สอง ผลการเลือกตั้งกลางเทอม (Midterm Election) ของสหรัฐ ที่ออกมาเป็น Split Congress คือพรรครีพับลิกันของทรัมป์ยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา แต่พรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผู้เขียนมองว่า มีนัยต่อเศรษฐกิจการเมืองสหรัฐ 3 ประการ คือ (1) ความเสี่ยงทางการเมืองในสหรัฐจะมีมากขึ้น (2) สงครามการค้าจะทวีความรุนแรงขึ้น และ (3) เศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าจะชะลอลง เนื่องจากทรัมป์จะไม่สามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ ๆ ได้มากนัก

สาม การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐในเดือน พ.ย. ที่แม้ยังจะคงดอกเบี้ยนโยบาย (FFR) ไว้ที่ระดับเดิมที่ 2.00-2.25% แต่ในแถลงการณ์เลือกที่จะกล่าวถึงความแข็งแกร่งของสหรัฐและละเลยปัจจัยลบอื่น ๆ เช่น ความผันผวนของตลาดการเงิน ซึ่งบ่งชี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างน้อยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า และ

สี่ สัญญาณจากทางการจีนที่พร้อมจะผลักดันกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้ง (1) การที่คณะกรมการเมือง (Politburo) ส่งสัญญาณที่จะออกมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจจีนหากมีสัญญาณชะลอลง (2) การที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) จะจัดตั้งเงินกองทุนเพื่อเพิ่มทุนให้กับบริษัทจีนที่มีปัญหาสภาพคล่อง (Equity Financing Tool) และ (3) การค่อย ๆ ปล่อยให้หยวนอ่อนค่าเพื่อสนับสนุนรายได้ภาคส่งออก

เหตุการณ์ทั้งสี่มีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ 4 ประการ คือ (1) ราคาน้ำมันในระยะ 3-6 เดือนอาจไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นอีกมาก โดยน่าจะวิ่งอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (2) เศรษฐกิจสหรัฐอาจเริ่มชะลอลงในปีหน้า ขณะที่ความเสี่ยงการเมืองภายในสหรัฐและสงครามการค้ามีมากขึ้น (3) Fed ยังคงที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า และ (4) เศรษฐกิจจีนจะชะลอลง แต่จีนจะใช้นโยบายผ่อนคลายสนับสนุน แต่นโยบายหลักคือทำให้หยวนอ่อน ทำให้ค่าเงินที่อื่นอ่อนตาม

มุมมองต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นเป็นปัจจัยที่กำหนดทิศทางการลงทุนในปีหน้า ดังนี้

ในส่วนของตลาดหุ้นต่างประเทศ จะผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก โดยแม้ว่าทิศทางตลาดที่ตกต่ำในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาจะทำให้ราคาหุ้นทั่วโลกตกต่ำมาใกล้เคียงกับพื้นฐานมากขึ้น (วัดจากค่า P/E Ratio) แต่ปัจจัยลบทั้ง 3 ประการ (การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง และสงครามการค้า) จะกดดันผลตอบแทนของสินทรัพย์เสี่ยงเช่น หุ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายประเทศ ผู้เขียนเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบจะทำให้หุ้นสหรัฐยังคงไปต่อได้

ส่วนหุ้นยุโรปอาจเผชิญปัจจัยลบในช่วงต่อไป จากความเสี่ยงทางการเมืองที่จะมีมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนผู้นำในเยอรมนี และเส้นตายของการเจรจา Brexit ทำให้อาจไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีนัก นอกจากนั้น การที่ธนาคารกลางยุโรป จะยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ณ สิ้นปีนี้ และมีแผนจะขึ้นดอกเบี้ยปีหน้าขณะเดียวกันกับที่สหรัฐอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลัง ก็อาจส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าและกดดันตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน

ขณะที่หุ้นญี่ปุ่นนั้นอาจให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะต่อไปจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งขึ้น เช่น อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ปรับตัวดีขึ้นมากตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา จากการที่บริษัทญี่ปุ่นควบคุมต้นทุนดีมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวและอัตราว่างงานญี่ปุ่นที่ต่ำก็มีส่วนช่วยเช่นกัน

ในส่วนของผลตอบแทนพันธบัตร เป็นไปได้ที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐตามการปรับขึ้น FFR ของ Fed ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวนั้นจะปรับขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า จากทิศทางเงินเฟ้อและเศรษฐกิจระยะยาวของสหรัฐที่ไม่น่าจะขยายตัวได้ดีเท่าก่อน (New Normal) รวมถึงการที่พันธบัตรอายุ 10 ปี ของสหรัฐถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ทุกครั้งที่เกิดความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น ภาพดังกล่าวทำให้เป็นไปได้สูงที่จะเกิด Inverted Yield Curve ในปีหน้า

ในส่วนราคาโภคภัณฑ์นั้น เป็นไปได้ที่จะไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก รวมถึงปรับลดลงได้ในระยะต่อไป จากคความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มากขึ้น ทำให้ความต้องการลดลง โดย IMF มองว่าราคาโภคภัณฑ์ (ทั้งเชื้อเพลิงและไม่ใช่เชื้อเพลิง) จะปรับลดลง 1-2% จากปีหนี้ สอดคล้องกับ OEPC ที่มองว่าความต้องการน้ำมันโลกในปีหน้าจะขยายตัวลดลง 5 หมื่นล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือเพียง 1.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน

โดยสรุป ดอกเบี้ยสหรัฐ เศรษฐกิจจีน และสงครามการค้า จะเป็นแรงลมต้าน (Headwind) การเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า นักลงทุนที่ชาญฉลาดอาจต้องชะลอการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้นในระยะสั้น

จนกว่าพายุฝนแห่งการลงทุนจะคลี่คลาย

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]