เมื่อกระแสลมแห่ง AI กำลังพัดมา

เมื่อกระแสลมแห่ง AI กำลังพัดมา

ในโลกใบเดิม ที่เพิ่มเติมคือการหมุนเร็ว จนหลายครั้งคนรุ่นเราๆ ก็แอบห่วงลึกๆ ว่า รุ่นลูกหลานเหลนโหลน

ซึ่งกำลังจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ไม่มีใครคาดเดาได้นั้น จะต้องเป็นคนแบบไหน มีทักษะอะไร แล้วก็มีความพยายามที่จะตระเตรียม ทั้งทักษะ การศึกษา เงินตรา ด้วยเชื่อว่าจะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสดีๆ ที่ถูกต้อง ในอนาคต

แต่เมื่ออนาคตคือเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เป็นแต่เพียงการ“คาดการณ์”ของกูรูจากหลากหลายวงการ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการเตรียมการใดๆ ให้แม่นยำ อย่างไรก็ดี อย่างน้อยในยุคนี้ เราก็ได้เรียนรู้ว่า จะใช้ไม้บรรทัดของคนรุ่นปัจจุบัน ขีดเส้นตัดสินโลกแห่งอนาคตนั้นไม่ได้แน่ๆ บทเรียนจากรุ่นสู่รุ่นที่ผ่านมา เราพบว่า หากเส้นทางชีวิตของคนรุ่นหลัง ถูกกำหนดโดยสมมติฐานของคนรุ่นก่อนแบบใช้แว่นตาอันเดียวไม่เปลี่ยนเลนส์ อาจจะเป็นโทษมากกว่ากว่าเป็นคุณ ที่สุดแล้ว ความพยายามตระเตรียมแบบหลวมๆ น่าจะเป็นสิ่งที่พอจะทำได้

ข้อมูลจาก World Economic Forum (WEF)ที่ระบุว่าภายในปี2568เครื่องจักรและAIจะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานที่ทำโดยมนุษย์ได้ถึง71%แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ อีกเหมือนกัน เป็นการบอกกลายๆว่าไม่ว่าจะอยากหรือไม่ การเตรียมตน เตรียมคน ในยุคที่AIจะเข้ามามีบทบาทขนาดนี้ คงหนีไม่พ้น การวางรากฐานให้อยู่เป็นกับเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนอยู่ตลอดนี้ให้ดีที่สุด คล้ายคำพูดที่ว่าเมื่อเจอกระแสลมแรง คนฉลาดจะไม่สร้างกำแพง แต่เลือกที่จะสร้างกังหัน และใช้ประโยชน์จากกระแสลมนั้น

หากเครื่องจักรหุ่นยนต์ ยังไม่อาจมีชีวิตจิตใจแบบมนุษย์เราๆ จุดแข็งที่มนุษย์มี ไม่ว่าจะเป็น “ความสร้างสรรค์” “การมีศิลปะแห่งการสื่อสาร” “การมีทักษะทางสังคม”“การมีความรู้สึกนึกคิดและความทรงจำ” “การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น”“การรู้จักแก้ปัญหาเหล่านี้ น่าจะเป็นสิ่งจำเป็น เป็น“จุดเด่น”ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์

นอกจาก จุดเด่นที่เราเป็นมนุษย์โดยรวมแล้ว อาจต้องลงลึกไปอีกว่า เรามีจุดเด่นเฉพาะตน อย่างไร ก็ชูจุดนั้นให้ประเสริฐเลิศในปฐพีไปเลย เพราะโลกยุคใหม่ซึ่งไม่ใช่ยุคอุตสาหกรรมที่เราต้องการคนมาตรฐานเหมือนๆ กันแล้ว การเป็นคนถัวเฉลี่ย ทำได้ในสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ ซึ่งหุ่นยนต์AIก็มีโอกาสทำได้เช่นกัน ก็ดูคล้ายว่าจะถูกกลืนกิน คุณค่าความพิเศษเฉพาะตน แบบเอกลักษณ์ของเอกบุรุษ ดูท่าจะรุ่ง และหากเดินตามรอยของPeter F. Druckerปรมาจารย์ด้านการบริหารจัดการ ก็คงต้องใช้ทักษะการรู้จักค้นหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ แล้วดันให้เจิด (เพราะDruckerเชื่อว่าผลักดันจากจุดแข็งที่มี ดีกว่าไปเริ่มจากจุดที่ไม่ถนัด สรุปแล้ว แม้ไม่รู้โลก (อนาคต) แต่ถ้ารู้ตน ผลักดันจนเกิดผล ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

และเพราะโลก รวมถึงผู้คน สังคม เปลี่ยนไว ไม่แพ้ปลายนิ้วคลิกการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ เมื่อความรู้เปลี่ยนทุกวัน ความใฝ่รู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ว่าจะมีความรู้ มีทักษะ มีวิสัยทัศน์ ทันโลกอย่างชาญฉลาดเพียงไหน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือคุณธรรม เพราะที่สุดแล้ว สำนวนไทยๆ อย่าง“ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”น่าจะยังใช้ได้ความยั่งยืนที่แท้ทรูทั้งหลาย ล้วนต้องตั้งอยู่บนเสาหลักที่ชื่อว่าคุณธรรม