หนังสือปกขาว สงครามการค้าสหรัฐ - จีน

หนังสือปกขาว สงครามการค้าสหรัฐ - จีน

หนังสือปกขาวของจีนว่าด้วยความขัดแย้งทางการค้าจีน-สหรัฐที่มีความยาว 55 หน้า ได้ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2018

และมีผู้ให้ความเห็นและคำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวแล้ว บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเสนอเนื้อหาของหนังสือโดยการย่อความจากต้นฉบับภาษาจีนโดยตรงให้ได้สาระสำคัญและความรู้สึก (tone) ครบถ้วนใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจท่าทีของฝ่ายจีนที่แสดงออกได้แม่นยำที่สุด

ดังนั้น คุณูปการของบทความนี้คือการใช้ทักษะระหว่างภาษาจีนและไทยให้ผู้อ่านได้รับทราบสิ่งที่แม่นยำที่สุด ดังมีใจความข้างล่างนี้

ตั้งแต่จีน-สหรัฐเริ่มมีความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ได้พัฒนาไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่ายตลอดจนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและระบบทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันทำให้เกิดความขัดแจ้งทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ตั้งแต่ปี 2017 ได้ดำเนินมาตรการฝ่ายเดียวเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนมากเกินไป จนจีนได้พยายามแก้ไขอุปสรรคผ่านการเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย แต่สหรัฐกลับพยายามสร้างความยุ่งยากเพิ่มขึ้นตลอดเวลาจนสถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายจีนจึงต้องการที่จะชี้ให้เห็นความเป็นจริงเบื้องหลังและชี้ชัดถึงจุดยืนของจีน 

  1. ความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีนสหรัฐอำนวยประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

1.)ความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ตั้งแต่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 1979 เป็นต้นมา ปริมาณการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายเพิ่มขึ้น 233 เท่า การส่งออกของสหรัฐไปยังจีนเพิ่มขึ้น 577% ตั้งแต่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ในปี 2001 สูงกว่าการส่งออกไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลกที่มีเพียง 112% การค้าจีน-สหรัฐต่างเติมเต็มอีกฝ่ายหนึ่งจากส่วนที่เป็นจุดแข็งของตน สหรัฐส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบกึ่งสำเร็จไปยังจีน ส่วนจีนส่งออกสินค้าผู้บริโภคไปยังสหรัฐ

2.)การค้าด้านบริการระหว่าง 2 ฝ่ายขยายตัวรวดเร็วใน 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกด้านบริการของสหรัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.4 เท่าเทียบกับที่ไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีเพียง 1.8 เท่า และ เป็นแหล่งที่มาของการขาดดุลบริการของจีนที่ใหญ่ที่สุดโดยมีขนาดถึง 20% ของการขาดดุลบริการของจีนโดยรวม สหรัฐได้ดุลบริการจากจีนในสาขาของการท่องเที่ยวการขนส่งและทรัพย์สินทางปัญญา

3.)จีน-สหรัฐต่างเป็นหุ้นส่วนการลงทุนที่สำคัญ ความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวจากการได้ตลาดทั่วโลก ธุรกิจสหรัฐในจีนกระตุ้นให้ธุรกิจจีนดูตัวอย่างจากนวัตกรรมด้านต่าง ๆ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ประสิทธิภาพองค์กร ระดับเทคโนโลยี และ การบริหาร ในขณะเดียวกันสหรัฐได้ประโยชน์จากการลงทุนผ่านโอกาสการเข้าถึงตลาดขนาดใหญ่และประโยชน์ต่อผู้บริโภคในประเทศของตนเอง การส่งออกและการลงทุนของสหรัฐไปยังจีน สร้างงาน 2.6 ล้านตำแหน่งในปี 2015 การวิจัยของโกลแมนแซคส์แสดงว่า ถ้าหาก Apple ทำการผลิต iPhone ในสหรัฐแทนจีน ต้นทุนจะสูงขึ้น 37% 

  1. ความเป็นจริงของความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐ

การแลกเปลี่ยนเศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐ มีขนาดใหญ่มหาศาล ครอบคลุมองค์ประกอบกว้างขวาง และ องค์กรระดับต่าง ๆ ย่อมหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ยาก แต่ว่ารัฐบาลสหรัฐ ปัจจุบันใช้ข้อหา การรุกรานทางเศรษฐกิจ การค้าไม่เป็นธรรม การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และ ทุนนิยมแห่งรัฐ ต่อจีนโดยมองข้ามผลลัพธ์ของการปฏิรูปเปิดกว้าง และความเหนื่อยยากของประชาชนจีนที่มุ่งไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

1.)อย่าใช้ดุลการค้าตัดสินความได้เปรียบ-เสียเปรียบของความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐ

จีนไม่ได้ตั้งใจที่จะแสวงหาการค้าเกินดุล ตรงกันข้าม ได้พยายามลดการเกินดุลจาก 11.3 เหลือเพียง 1.3 % ของ GDP ในสิบปีที่ผ่านมา แต่ว่าความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าระหว่าง 2 ฝ่ายครอบคลุมถึงยอดขายด้านบริการของธุรกิจสหรัฐในจีนด้วย เมื่อพิจารณาตรงนี้แล้ว สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบอยู่ $456 พันล้านในปี 2015

ดุลการค้าบริการ เป็นเพียงผลลัพธ์ของความได้เปรียบเปรียบเทียบและการใช้แรงงานตามความถนัดระหว่างประเทศ ส่วนการขยายตัวของดุลการค้าเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยอันเป็นวัตถุวิสัยที่ร่วมกันกำหนดด้วย คือ

ประการที่ 1 สหรัฐ มีอัตราการออมไม่เพียงพอ

ประการที่ 2 การสะท้อนถึงความได้เปรียบเปรียบเทียบของแต่ละฝ่ายที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน

ประการที่ 3 ผลสืบเนื่องจาก การใช้แรงงานตามความถนัดระหว่างประเทศและการเปลี่ยน แปลงเครือข่ายการผลิตของบริษัทข้ามชาติทั่วโลกที่ใช้จีนเป็นแหล่งผลิตแทนที่ประเทศอื่นในเอเชียตะ วันออกมากขึ้น

ประการที่ 4 ผลสืบเนื่องจากการห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสูงไปยังจีน การขาดดุลของสหรัฐจะลดลงได้ราว 35% ถ้าหากสหรัฐยินยอมให้ส่งออกสินค้าเทคโนโลยีสูงไปยังจีนได้ในหลักเกณฑ์เดียวกับฝรั่งเศส

ประการที่ 5 ผลจากการที่เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินตราระหว่างประเทศหลัก สหรัฐ ใช้ต้นทุนที่ต่ำมากในการพิมพ์เงินที่ใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าที่ประเทศอื่นต้องใช้ทั้งวัตถุดิบและแรงงานที่เป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ การรวบรวมสถิติของสหรัฐทำให้ตัวเลขขาดดุลการค้าสูงกว่าที่จีนรวบรวมได้ประมาณ $100 พันล้าน ตลอดเวลา

2.)อย่าหันเหจากหลักการเอื้อเฟื้อต่อกันขององค์การการค้าโลกในการพูดเรื่องการค้าที่เป็นธรรม

สหรัฐใช้หลักการค้าที่เป็นธรรม ในลักษณะของการเปิดตลาดและอัตราภาษีนำเข้าที่ต้องเท่ากันสำหรับสินค้าแต่ละประเภทโดยไม่สนใจว่าประเทศนั้น ๆ มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันหรือไม่ แต่องค์การการค้าโลกได้ยึดถือหลักการเอื้อเฟื้อต่อประเทศที่ระดับการพัฒนาที่ต่ำกว่าโดยยอมให้มีอัตราภาษีนำเข้าที่สูงกว่า และ การเปิดตลาดที่น้อยกว่าเพื่อคุ้มครองการผลิตของประเทศกำลังพัฒนา ได้ ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือว่าไม่เป็นธรรมต่อการค้าระหว่างกัน ถ้าหากใช้หลักการตามที่สหรัฐอเมริกายึดถือแล้ว อัตราภาษีนำเข้าถั่วลิสงของสหรัฐอเมริกาที่สูงกว่า 100% ย่อมถือว่าไม่เป็นธรรมสำหรับประเทศอื่น ที่จริงแล้ว จีนได้ลดอัตราภาษีนำเข้าตั้งแต่เป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกมาเป็นลำดับจากค่าเฉลี่ยที่ 15.3% เหลือเพียง 4.4% ในปี 2015 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย

3.)อย่าละเมิดจิตวิญญาณแห่งสัญญา และ อย่าลบล้างความพยายามและความสำเร็จในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของจีน

ในปี 2013 จีนได้ปรับปรุงกฎหมายเครื่องหมายการค้า ปี 2014 ปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ ปี 2017 ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่คุ้มครองความลับทางการค้า ในปัจจุบัน จีนเป็นประเทศมีศาลทรัพย์สินทางปัญญา 16 แห่งทั่วประเทศและมีการพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุดในโลก โดยที่ใช้เวลาพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาสั้นที่สุดในโลกเพียง 4 เดือน

นอกจากการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาทางคดีความแล้ว จีนยังมีสำนักงานลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติที่ดูแลงานทางด้านนี้ในเชิงบริหารด้วย ธุรกิจต่างชาติในจีนมีการจดทะเบียนลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าเพื่อขอรับการคุ้มครองแต่ละด้านกว่าแสนรายต่อปี PIIT ระบุว่า จีนมีการจ่ายค่าใช้ลิขสิทธิ์ทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศในจีน เป็นที่สองรองจากสหรัฐเท่านั้น 

4.)อย่าบิดเบือน การสนับสนุนธุรกิจให้ออกสู่ต่างประเทศของจีน ว่า เป็นพฤติกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าผ่านการซื้อกิจการ

รัฐบาลจีนสนับสนุนให้ธุรกิจจีนออกสู่ต่างประเทศบนหลักการขององค์การการค้าโลก ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ในบรรดากิจการที่ธุรกิจทำการลงทุนโดยตรงจำนวน 232 รายการ มีเพียง 17 รายการเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชั้นสูง

5.)อย่ากล่าวหาจีนในเรื่องนโยบายอุดหนุนธุรกิจ โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักการองค์การการค้าโลก

ตามหลักการขององค์การการค้าโลก นโยบายอุดหนุนเป็นมาตรการหนึ่งที่ใช้จัดการกับกรณีที่กลไกตลาดไม่ทำงานและพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งสหรัฐเองก็ใช้ หลังจากเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกแล้ว จีนได้ทำรายงานเกี่ยวกับนโยบายอุดหนุนต่าง ๆ เสนอองค์การการค้าโลกตามระเบียบที่วางไว้ รัฐบาลจีนได้เวียนประกาศให้ทุกท้องที่ปฏิบัติต่อธุรกิจต่างชาติเช่นเดียวกับธุรกิจสัญชาติจีนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และ ให้มีกลไกที่รับร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้รัฐบาลจีนเปิดกว้างให้ราคาพืชผลการเกษตรเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น ในกรณีที่ยังมีราคาประกันขั้นต่ำ ระดับราคาขั้นต่ำได้ลดลงเรื่อย ๆ

III. พฤติกรรมลัทธิการปกป้องการค้าของรัฐบาสหรัฐ 

สหรัฐยังมีพฤติกรรมและนโยบายการบิดเบือนการแข่งขันของตลาด การขัดขวางการค้าที่เป็นธรรม และ การจำกัดการค้าการลงทุนที่ตัดขาดห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก ซึ่งสร้างความเสียหายแก่การค้าพหุภาคีที่มีระเบียบเป็นพื้นฐาน และ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการพัฒนาที่เป็นปกติของความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ

1.)การเลือกปฏิบัติต่อสินค้าของประเทศอื่น

ในบรรดาประเทศ OECD 35 ประเทศ สหรัฐอยู่ใน ลำดับ 27 ของดัชนีชี้วัดที่แสดงถึงการมีนโยบายควบคุมกำกับที่ขัดต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมของตลาดสินค้า และ ลำดับ 32 ของดัชนีชี้วัดการเลือกปฏิบัติต่อสินค้าต่างชาติ (ลำดับมากไม่ดี) สหรัฐอเมริกาใช้กฎหมายบังคับให้หน่วยงานรัฐบาลใช้เฉพาะสินค้าภายในประเทศ

2.)การใช้ “การสอบสวนเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ” เพื่อขัดขวางการลงทุนตามปกติของธุรกิจจีนในสหรัฐ

ในปี 1975 สหรัฐเริ่มจัดตั้งคณะกรรมการลงทุนต่างประเทศเพื่อตรวจสอบผลกระทบของการลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ รัฐบัญญัติว่าด้วยการลงทุนของต่างประเทศกับความมั่นคงของชาติ ปี 2007 ให้อำนาจไว้กว้างขวางมาก ตั้งแต่ปี 2008 การลงทุนต่างประเทศที่ถูกตรวจสอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการสอบสวนถึงครึ่งหนึ่ง ในช่วงปี 2013-2015 จีนเป็นประเทศที่ถูกตรวจสอบมากที่สุด ในปี 2017-2018 มีกรณีที่ไม่อนุมัติ 9 ราย ตั้งแต่ปี 2019 รัฐบัญญัติให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์เป็นพิเศษต่อประเทศที่เพ่งเล็งโดยเฉพาะจีน

3.)การให้เงินอุดหนุนและบิดเบือนการแข่งขันของตลาด

สหรัฐมีการให้เงินอุดหนุนทั้งผ่านรัฐบาลกลางและท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง แม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ก็ยังได้รับและมีสัดส่วนสูง ตัวอย่างเช่น โบอิ้งได้รับเงินอุดหนุนทั้งจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่นอย่างผิดกฎหมายจนถูกสหภาพยุโรปฟ้องต่อองค์การการค้าโลก แม้กระทั่งเมื่อองค์การการค้าโลกตัดสินว่าขัดต่อระเบียบแล้ว รัฐบาลของรัฐวอชิงตันก็ยังคงให้การอุดหนุนต่อไป อาวุธยุทธภัณฑ์ รถยนต์ คอมพิวเตอร์ และ เซมิคอนดั๊กเตอร์ ต่างก็เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการอุดหนุนตามนโยบายระดับประเทศของสหรัฐ นอกจากนี้ ผลิตผลการเกษตรก็เป็นภาคที่ได้รับการอุดหนุนมานาน กรณีที่โด่งดังระดับโลกคือ คดีที่บราซิลฟ้องสหรัฐว่าอุดหนุนการปลูกฝ้ายและสหรัฐแพ้คดี

4.)การใช้มาตรการที่ไม่ใช่กำแพงภาษี

องค์การการค้าโลกได้รวบรวมสถิติการใช้มาตรการที่ไม่ใช่กำแพงภาษีและพบว่าสหรัฐใช้มาตรการที่ไม่ใช่กำแพงภาษีในเรื่องมาตรฐานทางชีวอนามัยถึงร้อยละ 18 และ ในเรื่องเชิงเทคนิคร้อยละ 6.6

5.)การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

องค์การการค้าโลก ยินยอมให้ดำเนินมาตรการปกป้องช่วยเหลือฉุกเฉินต่อสินค้าภายในประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสินค้านำเข้าที่มีลักษณะการทุ่มตลาด อุดหนุน หรือ ขยายตัวเร็วเกินไป แต่ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด สหรัฐเคยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดก่อนหน้ารัฐบาลชุดปัจจุบันประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนครั้งที่ใช้ทั่วโลก แต่เพิ่มเป็น 33% ในรัฐบาลชุดนี้

ในกรณีของจีน สหรัฐปฏิเสธการปฏิบัติตามข้อ 15 ของ “สัญญาการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน” นอกจากนี้ สหรัฐยังกำหนดอัตราภาษีขาเข้าที่ปกป้องการทุ่มตลาดสูงถึงราว 100% หรือมากกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2018 นี้ ทั้ง ๆ ที่อัตราที่ใช้กับประเทศอื่น ๆ เฉลี่ยเพียง 37% 

 

หนังสือปกขาว

“ว่าด้วยความเป็นจริงแห่ง

ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจการค้าจีน-สหรัฐอเมริกาและจุดยืนฝ่ายจีน”