อยากลงทุนจีน แต่ความผันผวนสูงมาก ทำอย่างไรดี

อยากลงทุนจีน แต่ความผันผวนสูงมาก ทำอย่างไรดี

ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 11 ของปี 2018 กันแล้ว ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่ยากปีหนึ่งในการลงทุน

โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนที่ล่าสุดดัชนี Shanghai Composite และดัชนี HSCEI ให้ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ -17.5% และ -6.3% ตามลำดับ และหากเทียบกับปี 2017 ที่บวกกว่า 8.8% และ 29.6% ตามลำดับ สะท้อนถึงสภาพตลาดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ปัญหารุมเร้าอันดับแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯที่ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องทั้งปี และแตะจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ 6.98 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ท่ามกลางหุ้นจีนที่ปรับตัวลงแรง ท่านนักลงทุนควรถามตัวเองว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงหรือไม่ รัฐบาลจีนที่หันกลับมาเดินหน้าพยุงเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการเงิน และการคลังจะยังคงเอาอยู่หรือไม่ ท่านจะพบว่าคำตอบไม่ได้เลวร้ายอย่างที่ตลาดหุ้นตอบสนอง ในอนาคต จีนก็ยังจะเป็นชาติมหาอำนาจ และมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รวมถึง การเติบโตของ GDP ก็ยังสามารถขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่าหลายๆประเทศ ทั้งนี้ด้วยความพยายามล่าสุดของรัฐบาลจีนที่มีการประกาศมาตรการเพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2019 เรามองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นโยบายภายในประเทศสะท้อนความยืดหยุ่นของการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อเสถียรภาพระยะยาวของประเทศ ดังนั้นหากสหรัฐฯ และจีนสามารถหาข้อเจรจาตกลงกันได้เมื่อใด ตลาดหุ้นจีนจะกลับมามีแรงหนุนอีกครั้ง

จากสถิติของดัชนี Shanghai Composite ในรอบ 20 ปี พบว่าค่าความผันผวนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 24% ซึ่งสูงกว่าดัชนี SET ของไทย และดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯที่ 21% และ 17% ตามลำดับ จึงเป็นเหตุผลให้ท่านนักลงทุนบางส่วนยังคงกล้าๆกลัวๆกับการลงทุนในหุ้นจีน เพราะเจ็บตัวมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกๆวันต้องคอยกังวลกับผลกำไรที่เคลื่อนไหวอย่างกับรถไฟเหาะ แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานทุกอย่างบ่งบอกว่าหุ้นจีนน่าจะยังมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ยังจะเติบโตต่อไปอีกฏก็ตาม

ปัจจุบันกลยุทธ์การลงทุนของกองทุนในไทยเริ่มผสมผสานนวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มผลตอบแทน หรือเพื่อลดความเสี่ยง ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ควบคุมความเสี่ยงที่เรารู้จักกันดีตามทฤษฎีของ Ray Dalio เจ้าพ่อเฮดฟันด์ และผู้ก่อตั้งบริษัท Bridgewater Associates นั่นก็คือ Risk-based Approach ที่พิจารณาความเคลื่อนไหวของสินทรัพย์หลายๆสินทรัพย์ และมีการปรับพอร์ตตามความผันผวนของแต่ละสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ หากสินทรัพย์อย่างหุ้นเริ่มผันผวนสูงขึ้นก็จะจับสัญญาณและปรับน้ำหนักการลงทุนออกมายังสินทรัพย์ที่ผันผวนต่ำกว่าอย่างพันธบัตรรัฐบาล การลงทุนในลักษณะนี้จึงอาจตอบโจทย์สำคัญในการลดความกรอบเสี่ยงการลงทุนหุ้นจีนลงได้ อธิบายง่ายๆให้เห็นภาพว่าเราไม่ต้องการมีสถานะการลงทุนเต็มความเสี่ยงที่ระดับ 24% ของหุ้นจีน โดยกำหนดกรอบความเสี่ยงสูงสุดที่รับได้ว่าไม่เกิน 20% เป็นตัวตั้งต้น เพื่อเป็นเกณฑ์ในการปรับพอร์ตระหว่างหุ้นจีนและเงินสด (เนื่องด้วยปัจจุบันตลาดพันธบัตรจีนอาจไม่เปิดกว้างต่อนักลงทุนต่างชาติมากนัก) จากการทำโมเดลโดยใช้ข้อมูลจริงในอดีตพบว่ากลยุทธ์ควบคุมความเสี่ยงนี้สามารถช่วยลดการขาดทุนลงได้จริง โดยในปี 2008 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดัชนี Shanghai Composite ติดลบไปกว่า -71% ขณะที่การลงทุนหุ้นจีนในกรอบความเสี่ยง 20% ติดลบน้อยกว่าที่ -39% คิดเร็วๆก็สามารถกำจัดกรอบขาดทุนแก่ผู้ลงทุนได้มากกว่า 40% เลยทีเดียว อย่างไรก็ดี ในช่วงสภาวะตลาดไม่ปกติที่เกิดวิกฤตนั้น มีโอกาสบางช่วงเวลาที่ความเสี่ยงพอร์ตสามารถปรับตัวขึ้นเกินกรอบความเสี่ยงที่ 20% ได้ชั่วคราว อันเป็นผลมาจากสภาวะของตลาดที่ตื่นตระหนก ถูกเทขายหนักจนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว