ที่มาของการลดมาตรฐานจากอนุบาลถึงปริญญาเอก

ที่มาของการลดมาตรฐานจากอนุบาลถึงปริญญาเอก

คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 19 ต.ค. ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งพูดถึงความขาดแคลนแสนสาหัสของโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กในชนบท

เนื่องจากตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการขาดครู เป็นเหตุให้ผู้ปกครองต้องการส่งลูกหลานไปเรียนยังโรงเรียนนอกชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้โรงเรียนชุมชนของตนถูกยุบ การยุบโรงเรียนชุมชนจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชุมชนแตกสลาย ซึ่งจะกระทบฐานการเป็นเมืองไทยตามนัยเดิม การขาดแคลนครูเป็นปัจจัยที่ทำให้การเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียนแคบยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะครูที่มีอยู่ต้องมุ่งเน้นในด้านการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กทำข้อสอบมาตรฐานของทางราชการแทนด้านการเรียนการสอน ที่จะส่งผลให้เกิดฐานด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม การมุ่งเน้นเช่นนั้นจึงเป็นการลดมาตรฐานของการเรียนรู้จากชั้นอนุบาลไปถึงชั้นที่สูงขึ้น

โครงการสนับสนุนการศึกษาของ มูลนิธินักอ่านบ้านนาและกัลยาณมิตร ตระหนักในเรื่องนี้ เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา เราจึงก่อตั้งโครงการ ธนาคารครูบ้านนา ด้วยเป้าหมายว่าจะส่งจิตอาสาเข้าไปช่วยทุเลาความขาดแคลนแสนสาหัสของโรงเรียนขนาดเล็กในอำเภอบ้านนา หลังเริ่มทำงานได้ไม่นาน ประสบการณ์ของเราบ่งว่าเราต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการงานของเราจึงจะเกิดประสิทธิผลตามเป้าหมาย เป็นที่น่ายินดีว่าเรามีจิตอาสาเข้ามาร่วมโครงการธนาคารครูของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจากนอกท้องถิ่นและผู้ที่ไม่เคยเป็นครูมาก่อน จากประสบการณ์สั้นๆ มีข้อสังเกตบางประการซึ่งขอนำมาปันกันวันนี้

ครั้งหนึ่ง เราคิดไม่ถึงว่าจะมีครูอาสาของเราเท่านั้นที่อยู่กับเด็ก เรื่องนี้เกิดขึ้นที่โรงเรียนชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งตอนนั้นมีนักเรียนราว 50 คนและมีครู 2 คน ประกอบด้วย ครูประจำการ 1 คน และครูอัตราจ้าง ระยะสั้น 1 คน โรงเรียนขอให้เราส่งครูอาสาไปช่วยอย่างเร่งด่วน เพราะครูทั้ง 2 จะต้องไปประชุม เด็กๆ โชคดีที่วันนั้นเรามีครูอาสาที่มีเวลาไปร่วมงานได้พร้อมกัน 3 คน ประกอบด้วย ครูคณิตศาสตร์ ครูภาษาอังกฤษ และครูผู้สอนได้ทั้งภาษาอังกฤษ ดนตรีและกีฬา สรุปว่า วั้นนั้นครูอาสาของเรากลายเป็นเจ้าของโรงเรียน หากมองในมุมกลับ น่าจะมีคำถามว่าเด็กๆ จะอยู่กับใครในวันนั้น ครูจะต้องปล่อยให้พวกเขากลับบ้าน หรืออยู่กันตามลำพังหากเราไม่เข้าไปช่วย?

นอกจากการเข้าไปช่วยดูแลและสอนเด็กในภาวะฉุกเฉินดังกล่าว ครูอาสาของเราเข้าไปช่วยสอนวิชาตามความถนัดของตน วิชาที่เราได้รับการขอร้องให้ช่วยสอนมากที่สุด ได้แก่ ภาษาอังกฤษ เพราะครูที่โรงเรียนมีอยู่แทบจะทั้งหมดอ้างว่า ตนไม่รู้ภาษาอังกฤษมากพอถึงกับจะสามารถสอนเด็กตามหลักสูตรได้

ความเป็นไม้เบื่อไม้เมากับภาษาอังกฤษนี้ ดูจะไม่มีอยู่เฉพาะกับกลุ่มครูในชนบทเท่านั้น หากมีอยู่ทั่วไปรวมทั้งในมหาวิทยาลัยที่สอนระดับปริญญาเอกด้วย มีผู้เล่าว่า ในไม่ช้ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่คงยกเลิกข้อกำหนดที่ว่านักศึกษาจะต้องสอบผ่านข้อสอบมาตรฐานสากลสำหรับวิชาภาษาอังกฤษจึงจะเข้าเรียน หรือเรียนจบปริญญาเอกได้ ทั้งนี้ เพราะหากไม่ยกเลิกข้อกำหนดนี้ ก็จะไม่มีนักศึกษาสมัครเข้าเรียน เมื่อไม่มีนักศึกษา มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยกเลิกโครงการปริญญาเอกโดยปริยยาย ส่งผลให้ตนขาดรายได้และอาจารย์ไม่มีงานทำ ฉะนั้น หากจะอยู่ต่อไป มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องลดมาตรฐานของตน นั่นหมายความว่าเมืองไทยจะยิ่งมีดุษฎีบัณฑิตจำพวกผลิตที่ละ 2 - 3 โหลเดินเกลื่อนถนนและบางส่วนต้องไปลงทะเบียนคนจนดังที่ปรากฏให้เห็น

ปรากฏการณ์เรื่องความไม่แตกฉานในภาษาอังกฤษ อย่างน้อยในระดับเบื้องต้นของคนไทยนี้ เป็นที่น่าประหลาดใจ ทั้งนี้เพราะยุคนี้มีเครื่องมือที่จะใช้ในการเรียนสารพัด รวมทั้งโทรศัทพ์มือถือชั้นดีที่มีใช้กันแทบทุกคน ต่างกับเมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเราหาเครื่องมือแทบไม่ได้โดยเฉพาะในชนบท ปรากฏการณ์นี้จึงสะท้อนสิ่งที่ฝรั่งบางคนพูดเชิงขบขันว่า สังคมไทยพัฒนาได้ยากเนื่องจากคนไทยยอมขี้อยู่ถึง 4 ชนิดคือ ขี้โกง ขี้เกียจ ขี้โอ่และขี้อิจฉา ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเรียนภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้มิใช่เพราะความยาก หากเป็นเพราะความขี้เกียจ?