ความสำเร็จและความล้มเหลวของ ‘โมเดลจีน’

ความสำเร็จและความล้มเหลวของ ‘โมเดลจีน’

คำถามยอดฮิตคำถามหนึ่งในวงนโยบายของไทยก็คือ เราเรียนรู้อะไรจาก “โมเดลจีน” ได้บ้าง?

คำถามนี้ตอบอยาก เพราะแต่ละคนนิยามและมอง “โมเดลจีน” ไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งนักวิชาการในจีนเอง นักวิชาการอนุรักษ์นิยม และนักวิชาการหัวก้าวหน้า ต่างฝ่ายก็มองต่างมุม

นักวิชาการอนุรักษ์นิยมในจีนมักนิยาม “โมเดลจีน” ว่าเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการแทรกแซงเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งเดินหน้ากำหนดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม ขับเคลื่อนการยกระดับเทคโนโลยี ตลอดจนให้ภาครัฐวิสาหกิจมีบทบาทนำในระบบเศรษฐกิจ 

ตรงกันข้าม นักวิชาการหัวก้าวหน้า กลับมองว่า ความสำเร็จของจีนไม่ได้มาจากโมเดลจีน แต่มาจากส่วนที่จีนได้ปฏิรูปตามกลไกตลาดเสรีของตะวันตก ความสำเร็จของจีนนับแต่เปิดประเทศ 40 ปีที่ผ่านมา มาจากภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ และแบกรับการขาดทุนและหนี้มหาศาล

ความสำเร็จและความล้มเหลวของ ‘โมเดลจีน’

จาง เหวยหยิง นักเศรษฐศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัย ปักกิ่ง

ศ.จาง เหวยหยิง อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้าชื่อดัง เพิ่งเขียนบทความที่เป็นที่ฮือฮาในประเทศจีน โดยชี้ว่า “โมเดลจีน” เป็นคำที่อันตราย ท่านบอกว่า ปัญหาความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนจีนและคนตะวันตกตีความความสำเร็จของจีนผิด โดยคิดว่านี่เป็นความสำเร็จของระบบรวมศูนย์อำนาจและระบบรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จของจีนไม่ได้มีที่มาจาก “โมเดลจีน” แต่มาจาก “โมเดลสากล” ต่างหาก นั่นก็คือ มาจากกลไกตลาดเสรี พลังสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ และการรับและนำเข้าเทคโนโลยีตะวันตกมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ในมุมมองของนักวิชาการหัวก้าวหน้ากลุ่มนี้ หัวใจของการปฏิรูปในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมาของจีน คือการทำให้รัฐและภาครัฐวิสาหกิจเล็กลง ไม่ใช่ใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้น หากคนจีนไปหลงเข้าใจกันว่า “โมเดลจีน” ที่ประสบความสำเร็จ คือรัฐบาลรวมศูนย์ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนด้วยรัฐวิสาหกิจ ผลที่น่ากลัวก็คือ อาจนำไปสู่นโยบายที่ทวนกระแสการปฏิรูปในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมาของจีนเอง

แล้วตกลงใครพูดถูกระหว่างค่ายอนุรักษ์นิยมหรือค่ายหัวก้าวหน้า? ในมุมมองของผม ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีส่วนถูก ที่จีนสำเร็จได้ เพราะจีนใช้ศิลปะในการบริหารและเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจ จีนไม่ได้พยายามเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจระบบวางแผนเป็นระบบกลไกตลาดรวดเดียวเสร็จเหมือนในสหภาพโซเวียต

ในอดีต สหภาพโซเวียตพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยความใจร้อน รวมทั้งปล่อยรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนให้ล้มละลายในทันที สุดท้ายทำให้มีคนตกงานมหาศาล มีปัญหาทรัพย์สินของรัฐตกไปอยู่ในมือเอกชนในราคาถูก และรัฐวิสาหกิจในอุตสาหกรรมหนักและทุนเข้มข้นตายหมดไม่เหลือ

ตรงกันข้ามกับสหภาพโซเวียต ตอนที่จีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ จีนเลือกทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วงแรกยังคงอุ้มรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็เน้นการทดลองทางนโยบาย หากวิธีที่ลองได้ผลก็ทำต่อ หากไม่ได้ผลก็ปรับตามสภาพความเป็นจริงของประเทศ ตัวอย่างเช่น จีนพยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยไม่แปรรูป เช่น แตกรัฐวิสาหกิจออกมาให้แข่งขันกันเอง ให้เอกชนเข้ามาร่วมถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจเพื่อช่วยกำกับดูแลกิจการ มีเกณฑ์วัดผลประกอบการและผลกำไรที่เข้มงวดเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพ ฯลฯ 

ผลคือ ปัจจุบัน จีนยังคงมีรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมหนักและภาคอุตสาหกรรมทุนเข้มข้น รัฐวิสาหกิจเหล่านี้มีการปรับปรุงจนผลประกอบการดีขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนก็ใช้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้เป็นเครื่องมือทางนโยบายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม เช่น ให้ธนาคารของรัฐปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยราคาถูกให้แก่รัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนส่งเสริม หรือให้รัฐวิสาหกิจจีนขายวัตถุดิบราคาถูกให้แก่โรงงานของรัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนในภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนส่งเสริม

แต่เราจำเป็นที่จะต้องย้ำเน้นว่า นี่เป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งของความสำเร็จของจีน แต่อีกส่วนหนึ่งและเป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง ก็คือ ภาคเอกชน และการปฏิรูปตามกลไกตลาดเสรี ดังที่ท่านรองนายกฯ หลิวเฮ่อ ขุนพลทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง บรรยายถึงภาคเอกชนจีนว่า เป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจ เพราะ 50-60-70-80-90

นั่นก็คือ 50% ของรายได้ภาษีของรัฐบาลจีนเก็บมาจากภาคเอกชน, ภาคเอกชนคิดเป็น 60% ของสัดส่วนจีดีพีของจีน, ในส่วนของการยกระดับเทคโนโลยีของจีนนั้น กว่า 70% มาจากภาคเอกชน, แรงงานของจีนถึง 80% อยู่ในภาคเอกชน และการสร้างงานและธุรกิจใหม่ในจีนถึง 90% มาจากภาคเอกชน

ดังนั้น เมื่อพูดถึง “โมเดลจีน” เราจึงต้องเข้าใจภาพความซับซ้อนของจีน ข้อคิดสำคัญที่ผมคิดว่าเราเรียนรู้จากจีนได้ก็คือ

หนึ่ง ไม่มีสูตรสำเร็จสูตรเดียวในการพัฒนาประเทศ ทุกประเทศต้องค้นหาจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง ค่อยๆ เสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนอย่างมีศิลปะ จีนนั้นทั้งเดินตามและเดินสวนทางตะวันตก เพราะจีนให้ความสำคัญกับโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองในประเทศ และปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สอง โมเดลที่ประสบความสำเร็จเมื่อวาน อาจใช้กับวันนี้ไม่ได้แล้ว เมื่อระดับการพัฒนาประเทศและความท้าทายเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้ในจีน ใครๆ ก็พูดเรื่องการปรับโมเดลเศรษฐกิจ ลดการพึ่งพิงการส่งออกและการลงทุน เปลี่ยนมาเน้นการกระตุ้นการบริโภค, ลดสัดส่วนภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนมาเน้นภาคบริการและภาคเศรษฐกิจใหม่, รวมทั้งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการและนวัตกรรม เพราะจีนวันนี้เมื่อเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีทัดเทียมตะวันตกในหลายภาคอุตสาหกรรมแล้ว จึงไม่สามารถอาศัยการนำเข้าหรือลอกเลียนแบบเทคโนโลยีจากตะวันตกได้อีกต่อไป แต่ต้องอาศัยพลังสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการและการลงทุน R&D ด้วยตัวเองมากขึ้น

โมเดลจีนสอนว่า ไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกสถานที่และทุกเวลา เพราะฉะนั้น อย่าเที่ยวหาสูตรสำเร็จง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐรวมศูนย์หรือตลาดเสรีสุดขั้ว โดยลืมมองพื้นฐานปัญหาและความท้าทายเฉพาะของสังคมเราเอง