คุณธรรมเศรษฐี (Integrity) : กรณีศึกษา “สิทธาเศรษฐี” (3)

คุณธรรมเศรษฐี (Integrity) : กรณีศึกษา “สิทธาเศรษฐี” (3)

ตอนที่แล้วได้กล่าวถึง “คุณธรรมเศรษฐี” (Integrity) คือ ความมีศีลธรรมจรรยา ซึ่งประกอบไปด้วย ศีล (ตามศาสนาที่ตนนับถือ)

ธรรม (ตามศาสนาที่ตนนับถือ) และ จรรยา ตามอาชีพที่ตนประกอบสัมมาอาชีวะ รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่มีจุดมุ่งหมาย ทำให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ละเมิด ต่อกัน ซึ่ง สิทธาเศรษฐี ที่จำลอง ฝรั่งชลจิตร เขียนไว้ในเรื่องสั้นและนวนิยายของเขานั้น เป็นผู้ประกอบด้วยศีลธรรมจรรยาของเศรษฐีครบถ้วน

ทีนี้เราจะมาศึกษาถึงสิ่งที่สิทธาเศรษฐี หรือนายจิมมี่ ชวาลา ที่มีตัวตนอยู่จริงและเป็นต้นแบบที่จำลอง ฝั่งชลจิตร นำเรื่องราวชีวิตของเขามาเขียนว่า เขาทำสิ่งใดบ้างที่แสดงให้เห็นถึงความมีศีลธรรมจรรยาหรือ Integrity ดังกล่าว

ขอยกเหตุการณ์ในเรื่องสั้น “สิทธา (Integrity)” ซึ่งรวมอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้น เมือง บ้าน ผม โดยจำลอง ฝั่งชลจิตร เขียนถึงเหตุการณ์เสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 ซึ่งปวงชนชาวไทยมีความโศกาอาดูรเป็นที่ยิ่ง จำลอง ฝั่งชลจิตร เล่าถึงความรัก ความศรัทธา ความจงรักภักดีที่สิทธามีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า “...ข่าวสำคัญที่สุด ที่สิทธาเฝ้าติดตามตลอดเวลาคือ ข่าวอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ก่อนนอนทุกคืนเขาสวดโพชฌังคปริตรถวายพระองค์มานานกว่าหลายเดือน เขาอ่านแถลงการณ์สำนักพระราชวังด้วยความโศกเศร้า แม้เชื่อมั่นในกฎไตรลักษณ์ว่า ไม่มีใครหนีพ้นไปได้ เขาอยากให้ละเว้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ไว้สักพระองค์ แล้ววันที่เขาไม่ต้องการให้มาถึงก็มาจนได้ เมื่อเวลา 18.53 น. วันที่ 13 ต.ค.2559 สำนักพระราชวังมีประกาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สวรรคต เมื่อเวลา 15.52 น. ที่โรงพยาบาลศิริราชด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมายุ 89 พรรษา ทรงครองราชย์สมบัติได้ 70 ปี สิ้นคำประกาศ สิทธาน้ำตาไหลพราก เขาเลื่อนตัวเองจากโซฟาก้มกราบแทบพื้นหน้าจอโทรทัศน์อยู่เป็นเวลานาน แว่วยินเสียงร้องไห้ดังมาจากทั่วทุกสารทิศ...” (เมืองบ้านผม หน้า 156)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ สวรรคตก็มีการถวายความไว้อาลัยด้วยการจัดผ้าสีขาวกับสีดำประดับตามบ้านเรือนและสถานที่ต่างๆ ประชาชนต่างซื้อหาผ้าสีขาวกับสีดำ มาใช้ในการนี้เป็นจำนวนมาก จนผ้าที่มีอยู่ไม่พอเพียงแก่ความต้องการ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่ร้านขายผ้าของสิทธาในเมืองนครศรีธรรมราช โดยผู้หญิงคนหนึ่งมาหาซื้อผ้าขาวและผ้าดำแต่ปรากฏว่าไม่มีให้ซื้อจึงไม่พอใจ จึงต่อว่าเจ้าของคือสิทธาว่าไม่เตรียมการเผื่อไว้ทั้งๆ ที่รู้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องเกิดขึ้น “...คนอินเดียอย่างเขาจะรู้หรือเปล่าว่าในหลวงสวรรคตแล้ว เขาต้องเตรียมผ้าสีต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ให้พร้อม รู้ว่างานนี้บ้านช่องห้องหออาคารต่างๆ --- เราพสกนิกรจำเป็นต้องใช้ ต้องไว้ทุกข์ถวายพระองค์ หน่วยงานต่างๆ ต้องซื้อไปใช้ นับหลาไม่ถ้วน นี่ฉันจะหาซื้อผ้าดำผ้าขาวสักห้าเมตรสิบเมตรก็ไม่มี ทำไมละ ทำไมถึงไม่เตรียมของไว้ให้พร้อม... (เมืองบ้านผม หน้า 157-158)

สิทธาต้อนรับขับสู้ ปลอบอกปลอบใจหญิงผู้เป็นลูกค้าให้เย็นลง เขาพูดถึงความรัก ความเคารพ ความศรัทธาของตนที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ เช่นเดียวกับประชาชนไทยทุกหมู่เหล่า จากนั้นจึงอธิบายถึงเหตุผลที่ตนไม่ได้เตรียมผ้าไว้เพื่อขายล่วงหน้า ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับ integrity

คุณพี่รู้ไหม ก่อนนอนผมสวดโพชฌังคปริตรถวายพระองค์มากี่สิบกี่ร้อยคืน คุณพี่รู้นะครับว่า โพชฌังคปริตรสำคัญอย่างไร ตอนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประชวร พระภิกษุรูปหนึ่งสวดโพชฌังคปริตรถวาย พระองค์หายประชวร ผมตั้งสมาธิแน่วแน่สวดถวายให้พระองค์หายจากพระประชวร แล้วผมจะโทรศัพท์สั่งซื้อผ้าไว้ทุกข์ได้อย่างไร คุณพี่รู้ไหมผมต้องต่อสู้กับนิสัยพ่อค้าอย่างคุณพี่ว่ามากเพียงไร ถ้าผมสั่งผ้าผมจะซื้อรถเบนซ์ใหม่เอี่ยมได้ 3 คัน แต่เพราะผมโง่ผมจึงทิ้งรถเบนซ์ไป...ผมต้องกราบขอโทษคุณพี่ คุณพี่ – integrity น่ะ ผมไม่รู้ว่าภาษาไทยหมายถึงอะไร --- integrity—ผมจะนอนหลับสนิทได้อย่างไรครับ บนหัวของผมๆ แขวนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ไว้ตั้งแต่คืนแรก ผมนอนตรงนั้นมาเกือบ 20 ปี ผมกราบพระองค์ทุกคืน” (เมืองบ้านผม หน้า 160-161)

นี่คือการแสดงออกถึงคุณสมบัติของเศรษฐีที่เปี่ยมด้วย “คุณธรรมเศรษฐี” หรือ integrity คือความมีศีลธรรมจรรยา ของสิทธาในเรื่องสั้น “สิทธา(integrity) หรือนายจิมมี่ ชวาลา เห็นได้ชัดเจนว่า ความมีศีลธรรมจรรยานั้นย่อมไม่ฉกฉวยประโยชน์ใส่ตน โดยไม่สนใจความถูกต้องเหมาะสมและอะไรควรไม่ควร หากสิทธาไม่มีคุณธรรมเศรษฐีเขาย่อมเตรียมการล่วงหน้าโดยสั่งผ้ามาไว้เป็นจำนวนมากซึ่งหมายถึงกำไรมหาศาลจนสามารถซื้อรถเบนซ์ใหม่เอี่ยมได้สามคันดังที่เขาบอกไว้

ในตอนที่แล้วได้กล่าวไว้ว่า ความมีศีลธรรมจรรยานั้นเป็นเรื่องเกิดจากภายใน คือเกิดจากความเชื่อ ความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อความดีงามซึ่งการที่จะมีได้ต้องผ่านการหล่อหลอมมาอย่างยาวนาน แน่นอนว่า สิทธาเป็นผู้ผ่านการหล่อหลอมมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่วัยเยาว์ จึงทำให้เขาเข้าใจลึกซึ้งต่อความมีศีลธรรมจรรยาแล้วยึดมั่นเป็นสรณะของชีวิต

กระบวรการหล่อหลอมนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนยิ่ง ตอนต่อๆ ไปเราจะได้ศึกษาเรื่องนี้ไปพร้อมกัน