เจาะพื้นฐานหุ้น ผ่าน DuPont Analyst

เจาะพื้นฐานหุ้น ผ่าน DuPont Analyst

ส่วนประกอบที่ทำให้ ROE ดีขึ้นเกิดจากอะไร และมีแนวโน้มดีขึ้นไหมในอนาคต

เมื่อพูดถึงตัวเลขสัดส่วนทางการเงิน ที่กูรูนักลงทุนระดับโลก ใช้พิจารณาเลือกลงทุนไม่ว่าจะเป็น ต้นแบบนักลงทุนเน้นคุณค่าอย่าง Warren Buffett หรือเจ้าของการคัดเลือกหุ้นแบบ 'CANSLIM' อย่าง William O’Neil และอีกหลายสำนัก ล้วนแล้วแต่เลือกใช้ ROE เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์เลือกหุ้นนั้น อย่างนี้ต้องสำคัญ!!!

ทำไมต้อง ROE ? 'ROE คือ อัตรากำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งก็คือสัดส่วนที่เอา กำไรสุทธิ หารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น มันบอกเราว่า บริษัทเอาเงินผู้ถือหุ้นไปสามารถสร้างกำไรกลับคืนมาได้เท่าไรต่อปี ตัวเลขจะเป็นเปอร์เซนต์ เพราะงั้นยิ่งมากก็ควรจะยิ่งดีและถ้าสูงต่อเนื่องแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน และการทำกำไรได้ โดยที่คู่แข่งเอาชนะยาก' อย่างบริษัท ก. มีส่วนทุน (หรือส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งก็คือเงินลงทุนของผู้ถือหุ้น) 1 ล้านบาท บริษัทสร้างกำไรต่อปีได้ 2 แสนบาท อย่างนี้ ROE เท่ากับ 20% แต่ถ้า บริษัท ข. มีส่วนทุน 1 ล้านบาทเท่ากัน แต่สร้างกำไรต่อปี ได้ 5 หมื่นบาท อย่างงี้ ROE คือ 5% เราก็เห็นแล้วว่าบริษัท ก น่าลงทุนกว่าเยอะกำไรดีกว่า ROE ที่ 20% ก็เหมือนว่าบริษัทใช้เงินผู้ถือหุ้น 100 บาท สร้างกำไรได้ 20 บาทต่อปีนั้นเอง การวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาที่ไปของ ROE จะทำให้เราเข้าใจพื้นฐานบริษัทได้มากขึ้น ซึ่งก็คือการใช้ “DuPont analyst” (ใช่ คือ DuPont เดียวกันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์เคมี แต่คนละอันกับที่ทำไฟแช็คนะครับ) ที่จะวิเคราะห์ค่า ROE ว่า ROE ที่ได้มานั้นมันมาจากอะไรบ้าง

อัตราการทำไร ในที่นี้คือ EBIT marginคือเอา กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีตั้ง หารด้วย ยอดขาย (EBIT / SALE) แน่นอนยิ่งสูงหมายถึงขายของไป 100 บาทได้กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษีกี่บาท ยิ่งสูงยิ่งดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจด้วย ธุรกิจบริการ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำ เพราะงั้นอัตราการทำกำไรมักสูง ธุรกิจโรงงานผลิต รับจ้างผลิต EBIT margin ไม่ค่อยสูงมาก ธุรกิจซื้อมาขายไป ค้าปลีก กำไรต่อชิ้นจะต่ำ ทั้งนี้ EBIT margin มากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ แต่ถ้าธุรกิจคล้ายกัน ยิ่งสูงแสดงว่าเก่งกว่า มีความสามารถการทำกำไรที่สูงกว่า

อัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์ (Asset Turnover : ATO) ยอดขายตั้งหารด้วยสินทรัพย์รวม (Sale / Asset) ผลออกมาจะเป็นเท่า ตัวเลขที่ได้คือใช้สินทรัพย์ 1 บาทไปก่อให้เกิดยอดขายได้กี่บาท ยิ่งมากยิ่งดึบ่งบอก หมายถึงบริษัทใช้สินทรัพย์ได้มีประสิทธิภาพ ขายได้เร็ว ใช้สินทรัพย์น้อยแต่สร้างยอดขายได้มาก อย่างงี้ดีถูกไหมครับ บางธุรกิจอัตราการทำกำไรต่ำ แต่มีอัตราการหมุนเวียนของยอดขายที่สูงมาชดเชยก็จะทำให้ผลประกอบการออกมาดีได้ อย่างกลุ่มค้าปลีก แต่บางธุรกิจอัตราการทำกำไรดีมาก แต่อัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์ต่ำ อย่างกลุ่มอสังหาฯ EBIT margin อาจเห็น 30% แต่ Asset Turnover ได้แค่ 0.3 รอบต่อปีเท่านั้น เมื่อ 2 ประสาน อย่าง EBIT margin x Asset Turnover คูณกัน ค่าที่ได้จะเป็น ROA (Return On Asset) หรือกำไรต่อสินทรัพย์ ซึ่งยิ่งสูงยิ่งดี บอกว่าบริษัทลงทุนในสินทรัพย์แล้ว ก่อให้เกิดกำไรมากน้อยเท่าไหร่ ผลเป็น % ยิ่งสูงก็แสดงว่าเก่ง ROA จะสูงได้ ต้องขายของให้อัตรากำไรเยอะๆ (EBIT margin สูง) และหมุนรอบขายของให้ไว (ATO สูง)

ผลกระทบจากดอกเบี้ยและภาษี (NET Profit margin/ EBIT margin)ค่าเป็น % ถ้าบริษัทไม่มีดอกเบี้ยจ่าย และภาษีจ่ายเลยค่าตรงนี้จะเท่ากับ 100% แต่ถ้ามีดอกเบี้ย และภาษีจ่ายค่าจะต่ำลงมา เช่น 60-80% ยิ่งได้รับผลกระทบจากภาษีและดอกเบี้ยจ่ายมาก คือมีการ จ่ายภาษีมาก หรือจ่ายดอกเบี้ยมาก ค่าจะยิ่งต่ำลงอย่างไรค่าตรงนี้จะต่ำกว่า 1 บางบริษัทหนึ้มาก ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ย่จ่ายสูง ทำให้ค่าต่ำมากได้
สัดส่วนสินทรัพย์ต่อทุน (Asset / Equity)หรือเราเรียกว่า Gearing หรืออัตราทด คือ สินทรัพย์ที่เอามาลงทุนใช้ทุนเท่าไหร่ ถ้ายิ่งสูงคือมีทุนน้อยกู้มาก ค่าต่ำสุดที่เป็นได้คือ 1 คือไม่กู้เลย ส่วนที่เรียกว่าอัตราทด เพราะมันเปรียบเสมือนคานงัด ยิ่งใส่ทุนน้อย ใช้เงินกู้มากๆ สามารถสร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นหรือ ROE ได้สูงขึ้นมากแต่ถ้าโลกสวยอย่างงั้นก็กู้กันให้มากๆ เพื่อจะได้ ROE สูงๆสิ…ไม่ง่ายอย่างนั้นครับ การใช้ Gearing สูง ๆ สิ่งที่ตามมาคือดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นตาม และถ้ารายได้กำไรไม่แน่นอนจะเสียหายได้ หลายบริษัทไปไม่รอดเพราะช่วงดีก็กู้มากเพื่อต้องการสร้าง ROE ให้สูง แต่พอเศรษฐกิจซบเซา ก็เศร้ากันได้ อย่างหลายบริษัทที่กู้กันมากช่วงวิกฤตปี 40 ไม่รอดหลายหลาย ล้มหายไปก็มาก การกู้ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ต้องรู้จักใช้แต่พอดี ธุรกิจที่มีรายได้แน่นอนอย่างขายน้ำ ขายไฟ ก็อาจจะกู้มี Gearing ที่สูงหน่อยได้ แต่ถ้าธุรกิจไม่แน่นอนสูง Gearing ไม่ควรสูงมาก

บทสรุป การวิเคราะห์ ROE ผ่าน ratio จาก DuPont Analyst จะช่วยให้เราเห็นภาพที่มาที่ไปว่า ROE ที่สูงเป็นผลจากสาเหตุอะไร ? ROE ที่สูงอาจไม่ได้เกิดจาก Ratio ทุกตัวที่ดีหมด เนื่องจากธุรกิจแต่ละประเภทแตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรติดตามคือ ส่วนประกอบที่ทำให้ ROE ดีขึ้นเกิดจากอะไร และมีแนวโน้มดีขึ้นไหมในอนาคต บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน ค่า ROE เฉลี่ยประมาณ 12% ถ้าดูแล้วบริษัทไหนมี ROE สูงกว่าตลาดอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นเรื่องที่ควรค่ากับการเสียเวลาไปศึกษาข้อมูลบริษัทนั้นๆเพิ่มเติม อาจจะเจอบริษัทที่ดีน่าลงทุนครับ