ปฏิรูปประมงไทยต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย

ปฏิรูปประมงไทยต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย

ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู (IUU) เป็นความท้าทายของโลก ประเทศไทยมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกและสหภาพยุโรปในการร่วมแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ไม่นานมานี้ ได้เข้าพบและรับฟังวิสัยทัศน์ของพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับความคืบหน้าของประเทศไทยในการต่อสู้และแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย จึงมั่นใจว่า ในฐานะผู้ส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายหนึ่ง ประเทศไทยได้ทำงานคืบหน้าไปมากในการแก้ไขปัญหาและตอบรับกับความท้าทายดังกล่าว

วันนี้ ไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศแนวหน้าในภูมิภาคที่ได้เดินหน้าปฏิรูปการทำประมงทั้งระบบเพื่อต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี เริ่มตั้งแต่การแก้ไขกฎหมายประมงฉบับเก่าที่ล้าหลังให้กลายเป็นกรอบกฎหมายที่สอดคล้องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล การกำหนดกรอบนโยบายประมงที่รักษาสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมุ่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ไปจนถึงนำไปบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด

การประมงกับเศรษฐกิจไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลประมาณ 2600 กม. การทำประมงและการจับปลาเป็นอาชีพพื้นเมืองที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของชาวประมงไทยกว่า 8 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือประมงขนาดเล็ก แต่ในช่วงศตวรรตที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประมงไทยได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ประเทศไทยกลายเป็นประเทศผู้ผลิต แปรรูป เพื่อการส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเลอันดับต้นๆ ของโลก ส่งผลให้รูปแบบการทำประมงตามวิถีแบบเดิมๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปให้ก้าวทันกับอุปสงค์ของธุรกิจและอุตสาหกรรมประมงไทยที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

หากมองความสำคัญด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบัน Fishery GDP ของไทยมีมูลค่าประมาณ 3,285 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.14 แสนล้านบาท (11,4975 ล้านบาท) ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าอาหารทะเลและประมง (รวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำที่จับในทะเล และสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง) อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี การส่งออกสินค้าประมงและอาหารทะเล (รวมทั้งสินค้าสัตว์น้ำที่จับในทะเล และสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยง) เป็นสินค้าส่งออกหลัก มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 1.5 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย และช่วยสร้างงานในอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้คนไทยอีกหลายล้านคน

แน่นอน อุตสาหกรรมประมงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่อย่าลืมว่า ในขณะที่เรามุ่งผลักดันเป้าหมายด้านเศรษฐกิจและเป้าการส่งออก แต่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และผลกระทบด้านสังคมของนโยบายดังกล่าวต้องไม่ถูกละเลย และที่สำคัญ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมควรได้รับการพัฒนาให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการกำหนดนโยบายประมงของประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลของด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั่นเอง

ภารกิจของไทยเพื่อไปสู่ IUU Free Thailand และบทบาทใน ASEAN

รองนายกรัฐมนตรีฯ แสดงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหา IUU นำไปสู่การปฎิรูประบบการประมงของประเทศแบบทั้งระบบ แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น IUU Free Thailand นั่นหมายถึงประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ทำประมงแบบ IUU ต่อต้านการนำเข้าปลา IUU และไม่ทำการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงแบบ IUU

ไทยได้จัดตั้งศูนย์ Fisheries Monitoring Centre (FMC) ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการการติดตามและตรวจสอบการทำประมง เพื่อป้องกันการทำประมง IUU และจัดทำระบบ Monitoring, Control and Surveillance (MCS) ใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่มีทีมงานผู้ตรวจกว่า 4,000 ปฏิบัติงานทั้งที่ศูนย์บัญชาการและบริเวณชายฝั่ง รวมทั้งการตรวจและติดตามเรือในทะเล ผ่านการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ เรือไทยขนาด 30 ตันต้องติด Vessel Monitoring System (VMS) เพื่อให้สามารถติดตามดำแหน่งและพฤติกรรมของเรือในระหว่างการทำประมงได้ (ดูความคืบหน้าของไทยในภาพข้างล่าง)

  ปฏิรูปประมงไทยต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย

งได้ถามท่านว่า แล้วภารกิจข้างหน้าของประเทศไทยยังมีอะไรอีกบ้าง และไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียในการต่อสู้กับปัญหา IUU ได้หรือไม่

ท่านมองว่า เพื่อแก้ปัญหา IUU ให้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน ความร่วมมือในกรอบ ASEAN ด้านนี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ประเทศในภูมิภาคต้องทำงานร่วมกันถึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ท่านเองได้ผลักดันความร่วมมือกันของอาเซียนในด้านนี้มาตลอดตั้งแต่สมัยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีเกษตรฯ ท่านได้ผลักดันการตั้ง ASEAN IUU Task Force ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม

แน่นอน เรายังมีภาคกิจอีกมากมายที่ต้องเดินหน้าต่อไป และละทิ้งไม่ได้ การแก้ไขปัญหา IUU เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขและละเอียดอ่อน เพราะมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ในจนถึงชาวประมงพื้นบ้าน ความสำเร็จของไทยในการต่อสู้กับ IUU อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วย

ใบเหลืองจากอียูเมื่อหลายปีก่อน นับเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้ฝ่ายไทยเริ่มและเร่งเดินหน้าการปฏิรูปนโยบายประมงไทยเพื่อมุ่งเป้าหมายของการทำประมงอย่างยั่งยืน แต่ก่อนอื่นๆ เราต้องปรับมุมมองเสียใหม่ว่า การมุ่งปฏิรูปนโยบายประมงไทยครั้งนี้ ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อทำตามข้อเสนอแนะของอียูเท่านั้น (เพื่อให้ค้าขายและส่งออกไปอียูได้) แต่เราต้องมองเป้าหมายหลักเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลซึ่งเป็นของส่วนรวม และการมีนโยบายประมงที่มีความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อความยั่งยืนของไทยเป็นสำคัญ

[ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd]