จากการไปบรรยายที่ ม.อ. (จบ)

จากการไปบรรยายที่ ม.อ. (จบ)

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมพูดถึงเนื้อหาของการบรรยายที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และผมดีใจที่มีคำถามและความเห็นจากผู้ฟัง

ซึ่งอาจแยกได้เป็น 4 ประเด็น

ประเด็นแรกเริ่มด้วยนักเรียนมัธยมซึ่งทำให้ผมดีใจเป็นพิเศษ นักเรียนมองว่าประเทศเราก้าวหน้าช้าเพราะผู้ใหญ่ต่อต้านหรือไม่พยายามตามเด็กให้ทัน ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและด้านความคิด นักเรียนที่เปิดประเด็นมั่นใจในจุดยืนของเขามากถึงกับรอพูดคุยต่อหลังจบการบรรยาย ผมให้ความเห็นว่า ประเด็นเช่นนี้มีมาทุกยุคทุกสมัยและทางออกที่ดีคือ การเปิดใจฟังกันและกัน และต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าความหมาย หรือกรอบของสิ่งที่พูดกันคืออะไร เช่น คำว่า “ก้าวหน้า” ที่ใช้กันลอยๆ อย่างกว้างขวาง เมื่อให้บอกความหมายและขยายไปถึงองค์ประกอบหลักๆ มักออกมาไม่ตรงกัน

มองโดยรวม สังคมจะอยู่ได้โดยไม่เสียความเป็นตัวตนขึ้นอยู่กับการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่โดยไม่ลืมรากเหง้าของตัวเอง เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผมแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่อง The Lexus and the Olive Tree (รถยนต์กับต้นมะกอก) ของ Thomas Friedman หากภาษาอังกฤษไม่แตกฉานพอ อาจอ่านบทคัดย่อภาษาไทยซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com

อีกหนึ่งประเด็นเป็นความเห็นเกี่ยวกับสภาวการณ์ของเมืองไทยในแนวที่ว่า สาเหตุที่มันเลวร้าย หรือไม่ค่อยก้าวหน้ามาเป็นเวลานานเพราะนักเศรษฐศาสตร์ไม่เสนอนโยบายที่จะทำให้การพัฒนาเดินไปในแนวที่ดีกว่า ผมรู้สึกแปลกใจในความเห็นนี้เพราะนักเศรษฐศาสตร์เสนอนโยบายที่น่าจะทำให้การพัฒนาเดินไปในแนวที่ดีกว่ามาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลเลือกใช้นโยบายที่ทำให้เกิดสภาวการณ์ปัจจุบัน ต่อไป แนวนโยบายที่เหมาะสมที่สุดควรยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่รัฐบาลไม่นำมาพิจารณาอย่างจริงทั้งที่อ้างถึงบ่อย เมืองไทยต้องการผู้นำจำพวกลี กวน ยู เพื่อนำเราออกจากวงจรอุบาทว์ แต่เราไม่เคยมีผู้นำจำพวกนี้ ตรงข้ามมักมีจำพวกฉ้อฉล

ตามคาด มีผู้ขอความเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ผมตอบว่าผมยังไม่มีเวลาอ่านเพราะมิได้ให้ความสำคัญแก่มันนัก ในอนาคตอันใกล้ผมจะใช้เวลาศึกษาและนำความคิดเห็นมาเสนอในหนังสือชื่อ “สู่จุดจบ 4.0 !”

ผมไม่ให้ความสำคัญแก่ยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลปัจจุบันเพราะมองว่ามันไม่เกิดขึ้นบนฐานที่ผมเสนอไว้ในหนังสือชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง ภูมิปัญญาชาติไทย” ซึ่งพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2543 ผมปรับปรุงหนังสือเล่มนี้หลายครั้ง ล่าสุดตั้งชื่อว่า “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” ซึ่งพิมพ์เมื่อเดือนกันยายน 2560 (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา) นอกจากนั้น ย้อนไปก่อนรัฐบาลจะผลิตเอกสารดังกล่าว ผมมีโอกาสเสนอว่าถ้าจะร่างยุทธศาสตร์ชาติ เรามิต้องเสียเวลาและงบประมาณเริ่มต้นกันใหม่ หากนำสิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุนและคณะได้ร่างไว้ในสมัยนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมาพิจารณาต่อยอดให้เสร็จสมบูรณ์ ข้อเสนอนี้ไม่มีใครฟัง

สุดท้าย คณบดีของคณะเศรษฐศาสตร์ ขอความเห็นของผมเรื่องความแตกต่างระหว่างเยาวชนไทยกับเยาวชนฝรั่ง ผมตอบว่าทั้ง 2 กลุ่มเกิดมาพร้อมกับฐานทางปัญญาที่ไม่ต่างกัน ปัจจัยที่ทำให้ต่างกันได้แก่ การเลี้ยงดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ด้าน นั่นคือ โดยทั่วไป ชาวไทยเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินและในบรรยากาศที่เด็กแทบไม่มีโอกาสคิดด้วยตัวเอง หรือโต้แย้ง ส่วนฝรั่งเลี้ยงลูกให้รู้จักทำงานตั้งแต่ยังเล็กในบรรยากาศที่ส่งเสริมการคิดเองและโต้แย้งได้โดยไม่ถูกลงโทษ

หลังการบรรยาย ผมได้พบปะกับคณาจารย์ เราคุยกันหลายเรื่อง ประเด็นที่ผมขอเน้นย้ำคือ เรื่องบัณฑิตมีประสบการณ์อันเกิดจากสภาพจริงติดตัวไป ผมยกตัวอย่างเรื่องการเชิญชวนให้คณาจารย์และนักศึกษาตั้ง“ห้องปฏิบัติการ” โดยเปิดกิจการร้านกาแฟและอาหารเบา ๆ ในมหาวิทยาลัยชื่อ Butterfly Café ชื่อนี้สื่อนัยด้านการเปลี่ยนสังคมจากทฤษฎีความอลวนซึ่ง “กลุ่มผีเสื้อกระพือปีก” พยายามทำอยู่ อีกเรื่องหนึ่งคือการส่งนักศึกษาไปช่วยสอนและนำนักเรียนทำกิจกรรมในโรงเรียนชุมชนขนาดเล็กที่ขาดแคลนแสนสาหัส การเข้าไปอยู่ในชุมชนของนักศึกษาในแนวนี้จะมีผลดีแก่ทั้ง 2 ฝ่าย และถ้ามหาวิทยาลัยทุกแห่งกับชุมชนร่วมมือกันอย่างกว้างขวางและอย่างต่อเนื่อง อนาคตของเมืองไทยจะสดใสกว่าภาพที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน