สิ่งสำคัญที่เด็กไทยควรเรียนรู้ ควบคู่วิชาการในหลักสูตรปกติ

สิ่งสำคัญที่เด็กไทยควรเรียนรู้  ควบคู่วิชาการในหลักสูตรปกติ

หากเรานำเอาวงจรของการศึกษามาพิจารณาตั้งแต่ต้นจนจบ จะเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายสุดท้ายของการศึกษามีอยู่ 2 ประการหลัก คือ

(1) ได้งานทำในสายงานที่ตนชอบ และ / หรือ สำเร็จการศึกษามา (2) ประสบความเจริญก้าวหน้าในการประกอบอาชีพนั้นๆ ทั้งในแง่รายได้ ตำแหน่ง ความสุขทางใจจากการทำงาน และเป็นที่ยอมรับ / นับถือในวงการ เป้าหมายหลัก 2 ประการนี้ ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากวิชาการในหลักสูตรปกติของการศึกษาในระดับประถมและมัธยมแล้ว รัฐควรจัดแบ่งเวลามาเล็กน้อย (เช่น เพียงสัปดาห์ละ 2 – 3 ชั่วโมง) และเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์อย่างยาวนานในแต่ละสาขาวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ ข้าราชการพลเรือน ครู สถาปนิก วิศวกร เภสัชกร พ่อค้า แม่ครัว นักบิน ทหาร ตำรวจ คอมพิวเตอร์ นายช่างเครื่องยนต์ / อีเล็คโทรนิค มัคคุเทศก์ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ มาบรรยายให้นักเรียนระดับประถม / มัธยม ฟังว่าในแต่ละสาขาอาชีพ ผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถอย่างไร เหนื่อยมากน้อยเพียงไร หาลูกค้าได้ลำบากหรือไม่ ได้ค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยเท่าใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอันใดบ้าง การบรรยายเช่นนี้จะช่วยชี้แนะให้นักเรียนระดับประถม / มัธยม สามารถไตร่ตรองได้อย่างถูกต้องว่าสาขาวิชาชีพใดตรงกับความชอบที่แท้จริงของตน

ถึงแม้ว่านักเรียนจะสามารถเลือกเรียนต่อในสาขาวิชาชีพที่ตนชอบ สอบเข้าวิทยาลัย / มหาวิทยาลัยได้ตามที่ต้องการ และสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนั้นๆ ได้ครบถ้วน แต่นั่นก็ยังไม่ค้ำประกันว่านักศึกษาผู้นั้นจะได้งานทำในสาขาวิชาชีพที่เรียนมาหรือไม่ นอกจากนั้น แม้ว่าจะโชคดีหางานดังกล่าวทำได้บ้าง แต่ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จหรือสุขกาย สบายใจ ตามที่ต้องการก็ได้ เพราะประสบอุปสรรคในหลายรูปแบบ เช่น ไม่สามารถทำงานได้ตามที่นายจ้างต้องการ ไม่สามารถเข้ากับผู้ร่วมงานได้ สองช่องทางที่จะช่วยลดอุปสรรคหรือแรงกดดันเหล่านั้นได้อย่างแน่นอนคือ 

1.) เพิ่มบทบาทให้บริษัทนายจ้างแสดงออกแก่นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยว่า ต้องการคนแบบไหนและมีความสามารถเพียงไร 2.) ผู้เข้าเริ่มงานควรมี มนุษยสัมพันธ์ที่ดี กับทั้งเจ้านาย ลูกน้อง และผู้ร่วมงาน “มนุษยสัมพันธ์ที่ดี” 

ที่กล่าวถึงในที่นี้มีความหมายครอบคลุมไปทั้งในและนอกเวลาทำงาน ทั้งในเรื่องทางการและเรื่องส่วนตัว เพราะตามขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยแล้ว มนุษยสัมพันธ์เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่าปัจจัยอื่น ๆ ทั้งสิ้นรวมถึงผลการเรียนด้วย เราจะได้มาซึ่งมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้ไม่ยาก หากเราสามารถสร้างนิสัยของเราให้ ยิ้ม คุย ชม กับแขกทุกคนที่เราพบปะด้วย เพราะ ยิ้ม คุย ชม จะช่วยบุกเบิกไปสู่ความประทับใจและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งผู้ร่วมงานและแขกหรือลูกค้า

คำถามสุดท้ายแต่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรล่ะ เราถึงจะสามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมาได้อย่างถาวร คำตอบคือ หมั่นฝึกฝน วิปัสสนากรรมฐาน อย่างสม่ำเสมอ เพราะวิปัสสนากรรมฐานจะช่วยสร้างสติให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นสามารถรู้ตัว(aware) หรือ ทันปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา หากเราสามารถทันปัจจุบันได้ในทุกขณะแล้ว สัญชาติญาณของเราก็มักจะเตือนใจเราให้ประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้เชี่ยวชาญในพุทธศาสนามักกล่าวว่า โดยแท้ที่จริงแล้ว วิปัสสนากรรมฐาน ก็เป็นแกนหลักของแทบทุกศาสนา เพราะแม้ในทุกศาสนาจะมีศีลธรรมหรือคำสอนไว้มากมายหลายรูปแบบก็ตาม แต่ถ้าผู้ถือศาสนานั้นๆ ไม่มีความรู้ตัว หรือไม่ “ทันปัจจุบัน” ได้ในขณะนั้น ผู้นั้นก็อาจปฏิบัติตนผิดพลาดไม่สอดคล้องกับศีลธรรมคำสอนที่เรียนมาได้ง่าย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ กิเลส โลภ โกรธ หลง กิเลสเหล่านี้มีอิทธิพลเป็นอันมากจนสามารถดึงดูดใจให้ผู้ถือศาสนานั้นๆ ประพฤติผิดศีลได้ง่าย

การฝึกนั้น กระทำได้ไม่ยาก เพียงผ่านการนั่งสมาธิ และ เดินจงกรม โดยขณะที่นั่งสมาธิก็กำหนดยุบหนอ พองหนอ ตามลมหายใจ นอกจากนั้น ก็กำหนดตามสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ทันทีที่สิ่งนั้นเกิดขึ้น เช่น คิดหนอ เจ็บหนอ ง่วงหนอ ฯลฯ ส่วนในขณะที่เดินจงกรมก็กำหนด ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ยิ่งถ้าการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กมากเพียงไร (เช่น เมื่ออายุ 10 – 14 ปี) โอกาสที่ผู้ฝึกจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติยิ่งมีมากขึ้น เพราะในวัยเด็กเช่นนั้นมักมีสิ่งที่มารบกวนอารมณ์และสมาธิในการกำหนดจิตใจน้อยลงไปตามวัย 

ผลพลอยได้จากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่อายุยังน้อย คือ สติสัมปชัญญะที่มีมากขึ้นก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลให้แก่การเล่าเรียนในสถาบันการศึกษา และช่วยสร้างนิสัยให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของการศึกษาที่กล่าวข้างต้น (อันได้แก่ สามารถหางานทำได้ และประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน) กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ วิปัสสนากรรมฐาน จะช่วยสร้างนิสัย “คิดก่อนพูด คิดก่อนทำ” ได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถเลี่ยงปัญหาหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ใดที่สนใจที่จะฝึกปฏิบัติ วิปัสสนากรรมฐาน ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักปฏิบัติธรรมหลายแห่ง เช่น วัดปรินายก ถนนราชดำเนินนอก และ คณะ 5 วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ ในกรุงเทพมหานคร หรือสำนักสงฆ์ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย

โดย... ปกรณ์ วิชยานนท์