เมื่อไรที่ธุรกิจควรใช้ Blockchain

เมื่อไรที่ธุรกิจควรใช้ Blockchain

ตามที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวถึงบทบาทของ Blockchain ที่มีต่อวงการกฎหมาย ฉบับนี้จะขอเล่าการปรับใช้ Blockchain กับภาคธุรกิจ

 ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า แม้ Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพและมีบทบาทกับการดำเนินงานของหลายอุตสาหกรรม แต่ในบางกิจกรรมการปรับใช้ Blockchain อาจยังไม่เหมาะสมเท่าไรนัก

ลักษณะพิเศษของ Blockchain

คือ การจัดการข้อมูลและเชื่อมต่อบุคคล (ผ่าน device เช่น คอมพิวเตอร์) ในเครือข่ายโดยปราศจากตัวกลาง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ทุกคนในระบบสามารถบันทึกข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้อง (verify) ได้ โดยระบบจะบันทึกข้อมูลที่ใส่ไว้และกระจายข้อมูล (Distributed) ไปยังทุกคนในเครือข่าย ดังนั้น ทุกคนจึงถือชุดข้อมูลหรือบัญชีเล่มเดียวกันทั้งระบบ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวที่ได้บันทึกไว้แล้วจะไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ (Irreversible) เปรียบเสมือนการบันทึกข้อมูลแต่ละครั้งได้ถูกร้อยเรียงเป็นสาย (Chain) ต่อกันตามลำดับก่อนหลังอย่างเป็นระบบ หรืออีกนัย ธุรกรรมบน Blockchain เป็นกิจกรรมที่โปร่งใส ผู้ใช้ทุกคนในระบบสามารถเห็นและตรวจสอบได้

อย่างไรก็ดี หากต้องการนำ Blockchain ไปใช้งานในลักษณะที่ซับซ้อนขึ้น ผู้ใช้สามารถใส่ชุดคำสั่งที่เป็นเงื่อนไข (Programmable Logic) หรือตั้งค่า Algorithm เพื่อกำหนดรูปแบบของธุรกรรมระหว่างบุคคล (Node) ที่อยู่ใน Chain ได้ ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขในลักษณะดังกล่าว คือการสร้างสัญญาในรูปแบบดิจิทัล หรือ “Smart Contract” นั้นเอง เช่น ให้มีการโอนเงินไปยังบัญชีผู้รับหากเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดที่กำหนดไว้ผู้รับได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว

Blockchain เหมาะกับธุรกรรมอะไร?

หากภาคธุรกิจจะนำ Blockchain ไปใช้ สิ่งที่ต้องเข้าใจถึงเงื่อนไขการใช้ Blockchain มี 3 ประการ ดังนี้

1.) Blockchain เหมาะกับธุรกรรมที่มีผู้ใช้หลายรายและทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะที่ไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง โดย Blockchain จะทำหน้าที่เป็นระบบที่มีการจัดการข้อมูลในกลุ่มอย่างปลอดภัยระหว่างผู้ใช้ด้วยกัน เช่น ในวงการค้าที่กำหนดให้มีบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการค้าเข้า ร่วมเป็นผู้ใช้ เช่น ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก บริษัทขนส่ง บริษัทประกันภัย ซึ่งมีการใช้ Blockchain ในเครือข่ายผ่านการสร้างเงื่อนไขการทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าในรูปแบบต่าง ๆ แบบ Smart Contract เช่น ใบตราสาร Bill of lading, การชำระเงิน และเอกสารการขนส่ง

2.) Blockchain เหมาะกับ ธุรกรรมที่ผู้ใช้ประสงค์ให้มีการบันทึกข้อมูลในลักษณะที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่สามารถแชร์ให้ผู้ใช้ในวงสามารถเข้าถึงร่วมกันได้ ซึ่งลักษณะเด่นนี้ จะส่งผลดีกับธุรกิจที่คู่ค้ายังไม่รู้จักกันดีมากนั้น แต่ประสงค์จะทำธุรกรรมบางอย่างร่วมกัน Blockchain ในกรณีนี้ จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยสร้าง trust protocol ในการดำเนินธุรกิจ

เช่น กลุ่มธุรกิจ Alibaba, PwC, Auspost และ Blackmores ได้ร่วมกันสร้าง Blockchain-Based food security system หรือ โครงการตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหาร (Food Trust Framework) เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตและลดปัญหาสินค้าปลอมในหมวดสินค้าบริโภคที่อนุญาตให้ขายบน Platform ของ Alibaba

และ 3.) Blcokchain สามารถประยุกต์ใช้ในการจดบันทึกข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) หรือทรัพย์สินที่จับต้องได้อื่นๆ (Physical assets) ที่ผู้บันทึกต้องการให้มีหลักฐานในการบันทึกที่ชัดเจน (tamper-proof) และลดการปลอมแปลงหรือผิดพลาดในรูปแบบ human errors เช่น การทำงานของ Everledger ของอังกฤษที่ใช้ Blockchain ในการบันทึกข้อมูลทรัพย์สินที่มีมูลค่าต่างๆ เช่น เพชร นาฬิกา และงานศิลปะ เพื่อเป็นการประกันความแท้ของทรัพย์สินที่บันทึกไว้ (ปัจจุบันมีเพชรราว 300,000 เม็ดที่บันทึกไว้ในระบบดังกล่าว)

นอกจากนี้ การบันทึกข้อมูลที่ใช้พิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC/AML) ยังได้เริ่มใช้ Blockchain ในการจดบันทึกเช่นกัน ในปัจจุบันมีผู้คิดค้นแอพพลิเคชั่น “Instagram KYC” ที่ให้ลูกค้าสามารถถ่ายภาพเอกสารสำคัญของตัวเอง เช่น บัตรประจำตัว พาสปอร์ต หรือเอกสารสำคัญต่าง ๆ และเมื่อส่งให้ธนาคารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ระบบจะทำการการบันทึกข้อมูลนั้น (Cryptography) และเก็บไว้บน blockchain เพื่อให้ผู้บริการสามารถใช้ได้ในการรับบริการครั้งต่อไป

ข้อจำกัดของ Blockchain คือ อะไร?

ข้อจำกัดที่สำคัญของ Blockchain คือ เรื่องของต้นทุนที่สูง และการประมวลผลของ Blockchain ที่ยังไม่เร็วพอ โดยในส่วนของต้นทุน เนื่องจากลักษณะการทำงานของ Blockchain คือ การกระจายข้อมูลไปยังผู้ใช้ทุกคนในเครือข่ายเพื่อจดบันทึกให้ทุกคนในแบบเดียวกัน (บัญชีเล่มเดียว) การกระจายข้อมูลในลักษณะนี้ ต้องดำเนินการผ่านการทำงานของเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ผู้ใช้มากกว่าการเก็บรวมศูยน์ไว้ที่ server ในรูปแบบเดิม

ในเรื่องของความเร็ว เนื่องจากไม่มีตัวกลาง การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลบน Blockchain จึงเป็นเรื่องของผู้ใช้ทุกคน ซึ่งต้องอาศัยการ Verify ผ่านการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ดังนั้น เมื่อมีการป้อนข้อมูลเข้ามาในระบบแต่ละครั้งขั้นตอนในการดำเนินการจึงใช้เวลา เช่น ธุรกรรมของ Bitcoin และ Crytocurrency สกุลอื่น ๆ อาจใช้เวลาตั้งแต่ 10 นาทีจนถึงหลักชั่วโมง ดังนั้น ธุรกรรมประเภทที่ต้องการความเร็วแบบ real-time จึงอาจไม่เหมาะกับการใช้ Blockchain เท่าไรนัก

ดังนั้น Blockchain จึงอาจไม่ใช่ทุกคำตอบของภาคธุรกิจ สำคัญที่ธุรกิจของท่านจะสามารถประยุกต์ใช้ Blockchain ได้เหมาะสมและคุ้มค่าได้อย่างไร

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]