ผู้นำกับความถ่อมตน

ผู้นำกับความถ่อมตน

ระหว่างผู้นำที่ชอบให้ตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจ มีลักษณะการบริหารแบบ top-down มักจะชอบที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง กับ ผู้นำที่ถ่อมตน

ยอมรับในจุดอ่อนของตนเอง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น - ท่านผู้คิดว่าผู้นำแบบไหนจะนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จได้มากกว่ากัน?

เมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา มีบทความหนึ่งเกี่ยวกับผู้นำที่น่าสนใจตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal และพาดหัวบทความไว้ว่า The Best Bosses are Humble Bosses หรือสรุปง่ายๆ ว่าผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้นำที่มีความถ่อมตน โดยอ้างอิงจากงานวิจัยต่างๆ ซึ่งพบว่าผู้นำที่ถ่อมตนจะนำไปสู่ทีมทำงานที่มีใกล้ชิด มีการเรียนรู้ และมีผลการดำเนินงานที่ดี ผู้นำที่ถ่อมตนนั้นจะรู้และตระหนักเสมอว่าอะไรคือจุดอ่อนของตนเอง ต้องการที่จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็ยอมรับในจุดแข็งของผู้อื่น และที่สำคัญสุดคือให้ความสำคัญและมุ่งเน้นต่อเป้าหมายที่มากกว่าเป้าหมายส่วนตัว

ในอดีตมักจะเป็นที่เข้าใจว่าผู้นำที่ดีจะต้องมีบุคลิกภาพที่มีความชัดเจน โดดเด่น และถึงขั้นมีเสน่ห์ ขณะเดียวกันต้องเป็นคนที่ต้องการอยู่ในจุดศูนย์กลางของความสนใจต่างๆ แต่พบว่าผู้นำประเภทนี้กลับจะเป็นผู้บ่อนทำลายองค์กรของตนเองเสียมากกว่า เนื่องจากผู้นำเหล่านี้จะมีความมั่นใจในตนเองที่สูงเกินไปและไม่รับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น ตรงกันข้าม ผู้นำที่ถ่อมตนจะเป็นผู้ที่พร้อมจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น และพร้อมจะรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้อื่น ซึ่งได้กลายเป็นตัวอย่างที่คนอื่นในองค์กรปฏิบัติตาม

ไม่ใช่ว่าผู้นำที่ถ่อมตนจะเป็นผู้นำที่เฉื่อยชาและอยู่นิ่งๆ ผู้นำที่ถ่อมตนก็ยังเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานรวมทั้งชอบการแข่งขัน เพียงแต่ผู้นำที่ถ่อมตนจะไม่ชอบให้ตนเองเป็นจุดศูนย์กลางความสนใจ และมักจะยกความดีความชอบให้กับเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาแทน

ถ้ามีใครซักคนบอกท่านผู้อ่านว่าเขาเป็นผู้นำที่ถ่อมตนนั้น ก็โปรดระวังว่าท่านอาจจะถูกหลอกก็ได้ เนื่องจากคนที่ถ่อมตนจริงๆ จะไม่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นคนถ่อมตน แต่ผู้นำที่หยิ่งและก้าวร้าวนั้นมักจะพยายามทำตนว่าตัวเองเป็นคนที่ถ่อมตนเพื่อให้ภาพลักษณ์ออกมาดี

ในมุมของพนักงานนั้น องค์กรที่มีผู้นำที่ถ่อมตน จะมีอัตราการลาออกและการขาดงานของพนักงานน้อยกว่าทั่วไป นอกจากนี้การมีผู้นำที่มีความถ่อมตนนั้น จะทำให้พนักงานทุกคนมีความกล้าที่จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ

ดังนั้น ไม่แปลกใจว่าปัจจุบันเริ่มมีแนวคิดในการนำเรื่องของความถ่อมตนมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกพนักงานใหม่ และเริ่มพบว่าบุคคลที่มีความถ่อมตนนั้น จะเป็นผู้ที่มีจริยธรรมและไม่ค่อยเปลี่ยนงานบ่อย ในต่างประเทศเริ่มมีการจัดทำแบบสำรวจเพื่อประเมินความถ่อมตนของบุคคลแล้ว อีกทั้งบางบริษัทที่รับสมัครพนักงานใหม่ก็เริ่มสังเกตต่อความถ่อมตนของผู้มาสมัครงาน โดยสอบถามถึงพฤติกรรมของผู้มาสมัครงานจากพนักงานต้อนรับ บางบริษัทในต่างประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญของผู้นำที่มีความถ่อมตน ถึงขั้นกับมีหลักสูตรในการพัฒนาผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้มีความถ่อมตน

มีนักวิจัยในแคนาดาได้พัฒนาแบบสอบถามเพื่อวัดบุคลิกภาพในด้านความถ่อมตนและความซื่อสัตย์ของคน (Humility and Honesty) และเรียกว่า H factor โดยพบว่าบุคลิกภาพในเรื่องของความถ่อมตนและความซื่อสัตย์นั้นเป็นสิ่งที่มักจะมาควบคู่กัน โดยผู้ที่มีคะแนน H factor สูงๆ นั้นจะเป็นผู้ที่มีความจริงใจ พอเพียง ยุติธรรม สุจริต ไม่เสแสร้ง ขณะเดียวกันคนเหล่านี้ยังไม่เป็นผู้ที่นิยมชักใย (Manipulating) ผู้อื่น รวมทั้งการบิดเบือนกฎและพฤติกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ขณะเดียวกันก็มีนักวิจัยอีกกลุ่มที่พัฒนาแบบสอบถามเพื่อวัดระดับความถ่อมตนของผู้นำ โดยคำถามหลัก คือ ระดับความพร้อมที่จะรับฟังและเรียนรู้จากผู้อื่น แสดงว่างานวิชาการได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความพร้อมที่จะรับฟังและเรียนรู้จากผู้อื่นนั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของความถ่อมตน โดยเจ้าความถ่อมตนนั้นก็ได้รับการยอมรับมากกว่าขึ้นว่าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำที่ดี