花押 ดวงตราแห่งอำนาจ

花押 ดวงตราแห่งอำนาจ

นางาตะโจ (ย่านที่ทำการรัฐบาลญี่ปุ่น) เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ข้อผูกพันและพิธีการต่างๆ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความตื้นลึก หนาบางแห่งอำนาจ “คาโอ”

หรือ 花押 อันเป็นเครื่องหมายที่เขียนขึ้นโดยภู่กันก็คือ สิ่งนั้น เมื่อมีฐานะเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีแล้วทำไมจึงต้องเขียนเครื่องหมายแสดงแทนที่ชื่อของตัวเอง? “คาโอ” ที่เริ่มต้นกันมาตั้งแต่สมัยยุคกลางและยุคสมัยใหม่ของประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก็ยังปรากฏในเอกสารการประชุมคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นจนกระทั่งทุกวันนี้ 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จัดขึ้นในทำเนียบรัฐบาลนั้น คณะรัฐมนตรีจะนั่งล้อมโต๊ะกลมและจะต้องมีสิ่งที่ขาดไม่ได้ วางอยู่ใกล้รัฐมนตรีแต่ละคน นั่นก็คือพู่กันกับที่ฝนหมึก คณะรัฐมนตรีแต่ละคนมักจะหยิบพู่กันขึ้นมาทำเครื่องหมาย คาโอไว้เป็นหลักฐานของการลงมติในเอกสารร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอ ส่วนข้าราชการที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายหรือเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น แม้ว่าจะร่วมประชุมด้วย จะใช้เพียงตราประจำตัวประทับโดยไม่ใช้ “คาโอ” อันนี้เป็นหลักปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ดังแสดงในรูปที่ 1 

花押 ดวงตราแห่งอำนาจ

รูปที่่ 1 “ คาโอ ” ของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เข้าประชุม พิจารณาร่างกฎหมาย

เสะงาวา คาสึคานะ ผู้จัดการสมาคมคาโอแห่งญี่ปุ่น ได้วิเคราะห์ “คาโอ” บนสำเนาเอกสาร การประชุมคณะรัฐมนตรีให้ฟังว่า คณะรัฐมนตรีสมัยนี้ล้วนแต่ต้องคำสาปของโทกุงาวา อิเอยาสุ นายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซะ และเลขานุการคณะรัฐมนตรีสุกะ โยชิฮิเดะ ต่างก็ใช้รูปแบบเดียวกับที่โทกุงาวา อิเอยาสุได้ทำขึ้นมา 

“คาโอ” ของ อิเอยาสุ เป็นรูปแบบที่มีเส้นข้างบนสั้นและเส้นข้างล่างยาว มีลักษณะคล้ายกับลายพระนามของจูเหวียนจาง(หงอู่ตี้) จักรพรรดิผู้สร้างราชวงศ์หมิง รูปแบบนี้จึงเรียกว่า รูปแบบราชวงศ์หมิง โชกุนในสมัยต่อๆ มา ก็ดำเนินรอยตาม รวมทั้งซามูไรและบุคคลทั่วไปก็เลียนแบบกันไปหมด ดังแสดงในรูปที่ 2 

花押 ดวงตราแห่งอำนาจ

รูปที่่ 2 คาโอ ของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ผู้ร่วมอุดมการณ์ชาวสัทสึมะ กับโจชู ที่ล้มโทกุงาวา พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ “คาโอ” รูปแบบราชวงศ์หมิงที่โชกุนเคยใช้มา เป็นที่แน่ชัดว่า “คาโอ” ของอิโต ฮิโรบุมิ และ คุโรคะ คิโยทากะ ไม่ใช่รูปแบบราชวงศ์หมิง การใช้รูปแบบ คาโอจึงมีอิสระมากขึ้นตั้งแต่การปฏิรูป (ปฏิวัติ?) เมจิ เป็นต้นมา 

แต่ว่ารูปแบบราชวงศ์หมิงเริ่มกลับมานิยมใหม่พร้อมๆ กับการเกิดของนักการเมืองที่ไม่ใช่สัทสึมะกับโจชู หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีที่เริ่มใช้รูปแบบราชวงศ์หมิงได้แก่ คาโต ทากาอากิ ในปลายสมัยไทโช คาโตเกิดในตระกูลโอวาริ (บริเวณตะวันตกของจังหวัดไอจิ) ปลายแถว แต่ตระกูลโอวาริเป็น 1 ใน 3 ตระกูลสายหลักของโทกุงาวา ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คาโตจากตระกูลโอวาริจะมีความผูกพันกับรูปแบบราชวงศ์หมิง 

หลังจากที่คาโต ทากาอากิ ใช้รูปแบบราชวงศ์หมิง ทานากะงิอิจิ และ โยไนมิทสึมาสะ ก็ใช้ตามๆ มา หลังสงคราม “คาโอ” ของนายกรัฐมนตรีมีรูปแบบราชวงศ์หมิงเป็นหลัก “คาโอ” ของนายกรัฐมนตรีกิชิโนบุสุเกะ ชาโตเออิซากุ และ อาเบะชินโซ ที่มีพื้นฐานจากจังหวัดยามางูจิอันเป็นพวกโจชู ต่างก็จัดได้ว่าเป็นรูปแบบราชวงศ์หมิง ดังแสดงในรูปที่ 3 ความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างโทกุงาวากับสัทสึมะโจชู กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว 

ส่วน “คาโอ” ของนายกรัฐมนตรีอื่นๆ เช่น มูรายามาโทมิอิจิ จากพรรคสังคมนิยม คันนาโอโตะ และ โนดะโยชิฮิโกะ จากพรรคประชาธิปไตย ไม่ใช่รูปแบบราชวงศ์หมิง อาจกล่าวได้ว่า รูปแบบราชวงศ์หมิงเป็นพวกโทกุงาวากับพรรคเสรีประชาธิปไตย และรูปแบบไม่ใช่ราชวงศ์หมิง เป็นพวกสัทสึมะ-โจชู และไม่ใช่พรรคเสรีประชาธิปไตย 

ในปัจจุบัน รัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของอาเบะ ที่ไม่ใช้ “คาโอ” รูปแบบราชวงศ์หมิงก็มีเหมือนกัน เช่น โยชิโนะ มาซาโยชิ ใช้รูปแบบที่แตกต่างออกไปเป็นอักษรแรกของชื่อคือ 吉 โดยมีรูปภูเขา 2 ลูกอยู่ข้างบน เนื่องจากโยชิโนะ เคยทำธุรกิจป่าไม้มาก่อนและเขาเชื่อว่านักการเมือง ทำให้ภูเขาและป่าไม้มีโอกาสเป็นไปได้ 

“คาโอ” เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่ยุคโทกุงาวาที่มีการเลือกรูปแบบเฉพาะ แต่ก่อนหน้านั้นจนถึงสมัยของโอดะ-โตโยโตมิ เจ้าเมืองต่างๆ ก็เลือกใช้รูปแบบตามทัศนคติของแต่ละคน และส่วนใหญ่มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์และอิสระของตนเอง ดังแสดงในรูปที่ 2 

ในปีนี้ อันเป็นวาระ 150 ปีนับจากการปฏิรูปเมจิ “คาโอ” ของนักการเมืองก็ควรจะคำนึงถึงการปฏิรูปและแข่งขันกันให้มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรมลายมือพู่กันของญี่ปุ่นก็จะได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี นี่คือความเห็นของเสะงาวา ทั้งนี้เพราะว่า ในปัจจุบันที่ทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรที่มีเกณฑ์เป็นรัฐมนตรีได้ จะมีใบปลิวโฆษณาชี้ชวนให้ใช้บริการการออกแบบ คาโอจนกลายเป็นธุรกิจไปแล้ว จนหาเอกลักษณ์ของนักการเมืองไม่ได้ เหลือเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น