เปิดใจขุนพลเศรษฐกิจจีน

เปิดใจขุนพลเศรษฐกิจจีน

ตอนนี้เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงขาลง และเผชิญความกดดันจากหลายด้าน เริ่มตั้งแต่สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังคงยืดเยื้อ

ตามด้วยตลาดหุ้นจีนที่ตกมาตลอด จนมาถึงตัวเลขการเติบโตของจีดีพี ในไตรมาสล่าสุดที่ 6.5% ซึ่งถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ต่ำสุด นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 เป็นต้นมา

หลิวเฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจีนที่คุมเศรษฐกิจ และเป็นมือขวาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและชี้ทิศทางนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากนานๆ ที ท่านจะออกมาให้สัมภาษณ์ (ผู้นำจีนพูดน้อย) ทำให้ได้รับความสนใจอย่างมาก

อ่านบทสัมภาษณ์ดูก็เป็นตามแบบแผนคำตอบของผู้นำจีน คือยอมรับความท้าทาย ความเสี่ยง และปัญหาที่กำลังรุมเร้า จากนั้นก็ย้ำเน้นว่ารัฐบาลกำลังเดินหน้ารับมือแก้ไขปัญหา แล้วชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความสดใสที่รออยู่ข้างหน้า สำหรับท่านที่สนใจทิศทางเศรษฐกิจจีน ก็มีสาระที่น่าใส่ใจไม่น้อย

หัวข้อใหญ่ที่ท่านให้สัมภาษณ์มี 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องตลาดหุ้น เรื่องการส่งเสริมภาคเอกชน และเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน

เปิดใจขุนพลเศรษฐกิจจีน

นายหลิวเฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในเรื่องตลาดหุ้น หลิวเฮ่อมองว่า ที่หุ้นตกมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้หุ้นตกทั่วโลก รวมทั้งสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ซึ่งกระทบบรรยากาศการลงทุน ส่วนปัจจัยภายในมาจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน ซึ่งในระยะสั้นอาจกระทบกับภาคการผลิตบางอย่าง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม หลิวเฮ่อเห็นว่า ขณะนี้นักลงทุนสถาบันในหลายประเทศต่างมองว่าตลาดจีนมีความน่าสนใจ และปรับฐานลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว ขณะที่ฟองสบู่มีไม่มาก บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็มีคุณภาพสูงขึ้น ทำให้มีความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุน จึงเชื่อว่าจะมีทุนระลอกใหม่ไหลเข้าตลาดจีน ในระยะยาวจะสร้างโอกาสใหม่ให้กับนักลงทุนในตลาด

ในเรื่องการส่งเสริมภาคเอกชน นักข่าวถามตรงๆ ว่า ท่านเห็นด้วยไหมกับคำพูดที่แพร่หลายในจีนว่า “รัฐ(วิสาหกิจ)ก้าวหน้า แต่เอกชนถดถอย” (คำภาษาจีนคือ “กั๋วจิ้นหมินทุ่ย”) หลิวเฮ่อตอบว่า ไม่เห็นด้วย และยืนยันว่า รัฐบาลจีนสนับสนุนทั้งภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เพราะทั้ง 2 ส่วน ต่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจจีน

สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ หลิวเฮ่อย้ำเน้นกับนักข่าวว่า ที่ผ่านมา มีกระแสความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับภาครัฐวิสาหกิจมากกว่าเอกชน จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ธนาคารบางแห่งยินดีปล่อยกู้ให้รัฐวิสากิจ แต่ไม่กล้าปล่อยกู้ให้เอกชน เพราะกลัวจะผิดจากนโยบายของรัฐบาล ตรงนี้หลิวเฮ่อย้ำว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างเด็ดขาด

หลิวเฮ่อ ย้ำว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับภาคเอกชน เพราะภาคเอกชนเป็นหัวใจของเศรษฐกิจจีน โดยท่านอ้างสถิติ 50-60-70-80-90 นั่นก็คือ

- 50% ของรายได้ภาษีของรัฐบาลจีนเก็บมาจากภาคเอกชน

- ภาคเอกชนคิดเป็น 60% ของสัดส่วนจีดีพีของจีน

- ในส่วนของการยกระดับเทคโนโลยีของจีนนั้น กว่า 70% มาจากภาคเอกชน

- แรงงานของจีนถึง 80% อยู่ในภาคเอกชน

- การสร้างงานและธุรกิจใหม่ในจีนถึง 90% มาจากภาคเอกชน

นโยบายสนับสนุนภาคเอกชนของรัฐบาลจีน เน้นสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเน้นการลดภาษี ลดค่าธรรมเนียม ลดภาระและอุปสรรคทางธุรกิจ แก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และความยากในเรื่องการระดมทุน รวมทั้งส่งเสริมเรื่องการยกระดับเทคโนโลยีและการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

ส่วนในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ หลิวเฮ่อบอกว่าถ้ามองจากมุมดีมานด์ จีนกำลังจะเปลี่ยนผ่านใน 4 เรื่องด้วยกัน

1. จีนกำลังจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เกิดเป็นพลังการบริโภคระลอกใหม่ ทั้งนี้มาจากการพัฒนาชนบทและการยกระดับรายได้คนในชนบท ซึ่งทำให้เกิดดีมานด์การบริโภคที่หลากหลายและรอบด้านกว่าเดิมมาก

2. จีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ซึ่งจะนำไปสู่ดีมานด์ระลอกใหม่ในเรื่องผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ

3. จีนเข้าสู่การยกระดับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมรอบใหม่ที่เน้นไปที่ภาคเศรษฐกิจใหม่ อันได้แก่เทคโนโลยีไบโอเทคและเทคโนโลยีไอที ซึ่งจะทำให้เกิดดีมานด์ใหม่เพิ่มอีกมหาศาล

4. จีนกำลังเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งในด้านพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งเมืองใหม่ ซึ่งก็จะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล

หลิวเฮ่อบอกว่ากระแสประวัติศาสตร์นั้นชัดเจน ใครก็ทวนกระแสไม่ได้ นั่นคือ จีนกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรม ยุคข้อมูลและไอที ยุคเศรษฐกิจเมือง ยุคกลไกตลาด และยุคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จีนจำเป็นจะต้องคว้าโอกาสใหม่ ปรับปรุงภาคเศรษฐกิจเก่า สร้างสรรค์ภาคเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่อย่างสมบูรณ์

นโยบายสำคัญที่รัฐบาลจีนยังทำอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ก็คือ การป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงของระบบการเงิน ขณะเดียวกัน ก็ยังคงมุ่งมั่นแก้ปัญหาการผลิตเกินตัวในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาจากยุคก่อนๆ หลิวเฮ่อบอกว่า ถ้ามองในระยะสั้น อาจเห็นปัญหา ความผันผวน และความน่าหนักใจของเศรษฐกิจจีน แต่ทุกฝ่ายควรต้องมองตัวเลขและภาพใหญ่ตามความเป็นจริง ตัวเลขต่างๆ ทางเศรษฐกิจของจีนยังดีกว่าประเทศอื่นๆ และความท้าทายส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอกเรื่องสงครามการค้า และปัจจัยภายในคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในส่วนสงครามการค้า ขณะนี้กำลังมีการเจรจา ส่วนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจนั้น ในระยะยาวจะนำไปสู่โอกาสใหม่อีกมหาศาล อนาคตเศรษฐกิจจีนจึงสดใส

ท่านขุนพลออกมาเรียกความเชื่อมั่น แต่สุดท้ายเศรษฐกิจจีนจะรุ่งโรจน์ต่อไปตามที่ท่านวาดฝันหรือไม่ ก็คงต้องใช้คำที่ท่านให้สัมภาษณ์เองว่า “เวลานี้เป็นเวลาชี้เป็นชี้ตายที่การเอานโยบายไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง สำคัญกว่าการออกมาวาดยุทธศาสตร์ใดๆ”