ออกพรรษา จิตไม่ออกห่าง สะท้อนการอยู่ร่วมกัน

ออกพรรษา จิตไม่ออกห่าง สะท้อนการอยู่ร่วมกัน

วันสุดท้ายของเทศกาลเข้าพรรษานี้ ตามที่คนทั่วไปเรียกว่า “วันออกพรรษา หรือวันมหาปวารณา” เมื่อถึงวันสำคัญเช่นนี้ในแต่ละปี

 สังคมไทยเรามักยึดโยงกับงานบุญต่าง ๆ เช่น แข่งเรือ ตักบาตรเทโว ประกอบเข้าไปด้วย จนกลายเป็นวิถีชีวิต ทั้งหมดล้วนสืบสานประสานความเชื่อทางศาสนาอย่างลงตัว ที่สะท้อนการอยู่ร่วมกันจากกิจกรรมงานบุญ จนไม่อาจแยกห่างระหว่าง วัด - ชุมชน ปรากฎการณ์แห่งวิถีชีวิตสังคมนี้ เป็นวัฒนธรรมที่สามารถสัมผัสได้ในความเป็นไทย 

ในแง่สาระ “ออกพรรษา หรือ “วันมหาปวารณา” แม้เป็นเป็นพิธีสงฆ์ด้านหลัก สืบเนื่องจากสงฆ์อยู่ร่วมกันตลอดไตร มาสมานั้น เมื่อบรรจบครบวันจากกัน ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ปวารณา หมายถึง ยอมให้ขอ พร้อมให้ (วัตถุ) หรือยินดีจัดหาปัจจัย สิ่งจำเป็นให้ ท่านขอเราให้ เป็นพื้นฐานการอยู่ร่วมกัน ปวารณาในที่นี้ผู้เขียนเห็นว่า ใกล้เคียงกับคำว่า ยินดีต้อนรับ หรือพร้อมที่จะให้ ส่วนอีกนัยหนึ่งของปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน 

พิธีปวารณานี้ มีวัตุประสงค์เพื่อ ว่ากล่าวตักเตือน หรือเปิดใจให้ตักเตือน เนื่องจากการอยู่ร่วมกัน เป็นเวลานาน ๆ อาจมีข้อบกพร่องบางอย่างที่ตนได้ไปละเมิดกินพื้นที่ของคนอื่นอันจะบันทอนซึ่งสานสัมพัน์ระหว่างกัน เมื่อกาลผ่านมาออกพรรษาจะจากกัน ต่างหันหน้ามาพูดคุยกัน หรือเป็นการประเมินตนต่อองค์กร เป็นการร่วมสร้างความเข้าใจระหว่างกันก่อนจาก ด้วยการสำรวจ ตลอดจนสารภาพตน เพื่อนำความข้าใจที่ดีประสานกัน และเป็นการเปิดโอกาสให้ ว่ากล่าวกันได้ เพื่อเปิดพื้นที่รองรับหากมาพบกันใหม่ในวันข้างหน้า ในระหว่างอยู่มีพฤติกรรมน่าไว้วางใจ เวลาจะจากไปมีความไว้ใจให้ถวิลหา 

อนึ่ง การตักเตือน นั้นเป็นสิ่งสำคัญ สนับสนุนช่วยให้บุคคลมีความเจริญมั่นคงในทางธรรมได้ หากโยงกับระบบการศึกษา การกล่าวตักเตือนกันในวันปวารณา ก็คือการวัดและประเมินผล หากแต่ว่า การประเมินที่ดีนั้นต้องประเมินจากตน “ตนมีความดีเพียงใด มีข้อบกพร่องในเรื่องใดที่ควรพัฒนาเพิ่มหรือไม่” มีลักษณะสารภาพตนต่อเพื่อน องค์กร อันเป็นการเตือนตนด้วยจิตสำนึกจากตนก่อน การตักเตือนในแนวคิดแบบพุทธนั้น ถือว่า เป็นดังขุมทรัพย์เลยทีเดียว โดยธรรมชาติมนุษย์มักเข้าข้างตัวเอง การประเมินตนจึงทำได้โดยการถอดการยึดติดในอัตตา แล้วเปิดโอกาสต่อกันและกันให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ 

ด้วยเห็นก็ตาม ได้ยินก็ตาม ด้วยความระแวงสงสัยก็ตาม ขอท่านผู้มีอายุทั้งหลายจงว่ากล่าวกะข้าพเจ้า ด้วยอาศัยความหวังดีเอ็นดู เมื่อข้าพเจ้ามองเห็น จักแก้ไข หลักการปวารณานี้ คือ หากได้ยิน ได้เห็น หรือสงสัยว่า เพื่อนท่านใดปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ตามหลักพระธรรมวินัย (กฎหมาย กฎจารีต) ซึ่งจะเป็นเหตุให้ห่างไกลจากความดีงาม ก็ให้อาศัยจิตที่ประกอบด้วยความเมตตาปรารถนาดี เป็นกัลยาณมิตรแนะนำตักเตือนให้กันและกัน ผู้รับฟังพึงน้อมรับคำแนะนำด้วยจิตใจชื่นบานปลื้มปีติยินดี ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเองด้วยความเต็มใจ ผู้กล่าวตักเตือนเสมือนชี้ขุมทรัพย์ ผู้รับการตักเตือน ต่างเล็งในอัตถประโยชน์จึงได้เปิดใจรับ การตักเตือนด้วยความยินดี

ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เป็นประเพณีที่สูงส่งดีงาม การเปิดใจ ตักเตือนนี้ เป็นวิธีปรับมุมมองความคิดเพื่อไม่ให้เกิดความขุ่นมัว ให้อภัยไม่ถือสา เกื้อกูลประโยชน์ต่อต่อกัน สาระของการปวารณา ต่างฝ่ายปรับปรุงตนเองให้สมบูรณ์ หากส่วนหนึ่งของสังคม (สงฆ์) ยังมีข้อบกพร่อง ก็พร้อมเปิดใจกล่าวเตื่อนกัน เพื่อจุดหมายแห่งการอยู่ร่วมกัน ย่อมเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติถูกต้องเป็นหมู่คณะ ก็จะเป็นหมู่คณะที่งดงาม เป็นต้นทุนทางสังคม หรือเป็นบุญทางสังคมที่สัมผัสได้แก่มหาชนสืบไป

เมื่อถึงวันออกพรรษา การตักเตือนด้วยความยินดี ได้กลายเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่งในวันสุดท้ายของการจำพรรษา เป็นพิธีของสงฆ์ และวิธีการอยู่ร่วมกันด้วย การตักเตือนคำวิพากษ์วิจารณ์ นอกจากช่วยลดอัตตาแล้ว ยังเปิดเผยให้เราเห็นความจริงเกี่ยวกับตัวผู้พูดเอง ผู้ที่หวังดีต่อเราย่อมว่ากล่าวด้วยความปรารถนาดี ระมัดระวังถ้อยคำ ต่างจากผู้ที่มุ่งร้ายย่อมต่อว่าอย่างสาดเสียเทเสีย การแยกรู้จักฟังและแยกแยะ ก็จะเห็นความเป็นมิตรและไม่ใช่มิตรได้ ท้ายนี้การอยู่ด้วยกันในองค์กร สังคม ผู้มีปัญญาจึงไม่หวั่นกลัวคำว่ากล่าวตักเตือน แต่กลับกลับเชิญชวนด้วยซ้ำเปิดโอกาส เปิดใจให้ได้ชี้ข้อบกพร่องระหว่างกัน เพื่อลดอัตตาหรือป่มเคื่องที่มีต่อกัน พิธีปวารณาในวันสุดท้ายของการจำพรรษา รูปแบบเป็นงานประเพณีสะท้อนอัตลักษณ์แห่งสังคมที่มีการผลิตซ้ำ เมื่อว่าโดยสาระแล้ว ไม่ควรเป็นเรื่องของสงฆ์ หากแต่เป็นเรื่องของสังคม องค์กร ที่ควรกระทำต่อกันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่ชีวิตดีงามจึงจะเป็นอันหวังได้ ออกพรรษา จิตไม่ออกห่าง จากกัน

 โดย... 

ผศ.ดร.ชมพู โกติรัมย์

วิทยาลัยดุสิตธานี