ว่าด้วยปัญหาข้าวโพดไทย?

ว่าด้วยปัญหาข้าวโพดไทย?

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ป้อนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ แต่ก็เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีปัญหามาโดยตลอด

ตั้งแต่ความไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ได้เลยสักปี ตามมาด้วยปัญหาการลักลอบนำเข้า หรือบางปีก็เลยเถิดถึงขั้นลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศที่ 3 (ประเทศที่ไม่ติดกับชายแดนไทย) แต่ที่แก้กันไม่ตกคือ ปัญหาข้าวโพดเป็นพืชรุกป่าทำลายสิ่งแวดล้อมบนภูเขา เกิดเป็นแรงกดดันไปยังผู้ใช้ข้าวโพดซึ่งก็คือผู้ผลิตอาหารสัตว์ให้เลือกซื้อเฉพาะข้าวโพดที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ไล่ไปจนถึงคู่ค้าในต่างประเทศที่ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของข้าวโพด และอาจแบนอาหารไทยหากพบว่าใช้ข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ป่า นี่เป็นเพียงบางส่วนของปัญหางูกินหางที่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการรับผิดชอบดูแลเรื่องข้าวโพดทั้งระบบ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงพาณิชย์ 

ขอตีแผ่ปัญหาข้าวโพดออกเป็นหมวดๆ เพื่อหาทางออกให้ทั้งระบบ เผื่อจะมีแนวทางแก้จนมองเห็นอนาคตที่ดีของข้าวโพดไทยได้บ้าง

ด้านปริมาณ เราต้อง “ยอมรับความจริง” ว่าประเทศไทยไม่สามารถผลิตข้าวโพดได้พอกับความต้องการ  แม้ปัจจุบันแม้จะมีหลายมาตรการเข้ามาแก้ปัญหานี้ เช่น การส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังทำนา แต่การปลูกก็มีประสิทธิภาพเพียง 5 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการมีสูงถึง 8 ล้านตัน นี่จึงเป็นข้อแรกที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับ ขณะเดียวกันรัฐต้องบริหารจัดการส่วนต่างที่ขาดแคลนเพื่อให้มีปริมาณรองรับความต้องการ

บางคนเสนอให้ใช้ มันสำปะหลังหรือรำข้าว ซึ่งถ้ามันใช้แทนกันได้จริงก็คงไม่ต้องเรียกร้องให้แก้ปัญหาข้าวโพด แต่เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีปริมาณสารอาหารที่เหมาะกับการนำมาผลิตอาหารสัตว์ไม่เท่ากัน ปริมาณและประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือโปรตีนแตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร จึงไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้

คำถามที่ตามมา คือ รัฐมีแนวทางจัดการเพื่อแก้ปัญหานี้แล้วหรือยัง และจะจัดการอย่างไร? โดยไม่ให้ไปเกิดเป็นปมปัญหาอีกจุดหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่

ด้านสิ่งแวดล้อมในจำนวน 5 ล้านตัน ข้าวโพดที่ไทยผลิตได้ เป็นข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่รุกป่าหรือไม่มีเอกสารสิทธิ์ถึง 40% (ราว 2 ล้านตัน) หมายความว่า แนวทางที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม(NGO) ตลอดจนประเทศคู่ค้าของไทย เรียกร้องให้บ้านเราใช้ข้าวโพดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นแทบไม่ได้ผล เพราะ 1.)ปริมาณข้าวโพดไม่เพียงพอ 2.)มีการนำเอกสารสิทธิ์ที่ใช้แล้วไปใช้ซ้ำ เพื่อหลอกขายโรงงานอาหารสัตว์ 3.)โรงงานอาหารสัตว์จำเป็นต้องรับซื้อเพราะโดนหลอก ด้วยไม่มีข้าวโพดใช้ในการผลิต 4.)ยังคงเกิดผลกระทบด้านหมอกควันในช่วงเผาเพื่อจัดเตรียมพื้นที่ปลูก

แม้จะพยายามตั้งมาตรฐาน GAP ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ มีการรณรงค์ปลูกข้าวโพดหลังทำนา (ส่วนใหญ่เป็นผืนนาที่มีโฉนดถูกต้อง) มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวโพด แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เห็นความก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงการที่รัฐยังไม่สามารถหาเทคโนโลยีในการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์เพื่อป้องกันการหลอกใช้เอกสารสิทธิ์ซ้ำของพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ยังเกิดการส่งเสริมของนายทุนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการตรวจสอบพื้นที่ปลูกของชาวบ้าน นำไปสู่การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่สังคมโลกให้ความสำคัญ ทุกวันนี้ประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งนำเข้าอาหารจากประเทศไทย อาทิ เนื้อไก่ อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ เริ่มตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหาร รวมถึงต้นทางของข้าวโพด หากพบว่าเป็นข้าวโพดรุกป่าอาจนำไปสู่การแบนสินค้า เกิดการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมอาหาร เป็นช่องว่างให้ประเทศคู่แข่งนำสินค้าเข้าไปขายแทนได้ทันที เมื่อนั้นหายนะจะเกิดกับเศรษฐกิจประเทศ และส่งผลเป็นลูกโซ่ย้อนหลังไปถึงเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์ พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดแน่นอน สุดท้ายจึงขอถามว่า บนความเสี่ยงนี้ รัฐเตรียมการบริหารจัดการความเสี่ยงไว้แล้วหรือยัง? 

ด้านราคาที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ปัญหาข้าวโพดโดยไม่คำนึงถึงห่วงโซ่การผลิต มีเพียงต้องการยกระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงเข้าไว้ก่อน จึงเป็นที่มาของการขอความร่วมมือจากโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อข้าวโพดจาก “พ่อค้าคนกลาง” ในราคากิโลกรัมละ 8 บาทที่ความชื้น 14.5% ณ พื้นที่กรุงเทพ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาที่ตามมามากมายเนื่องจากไม่มีการกำหนดราคาขั้นสูง เพื่อปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เป็นเหตุให้ราคาข้าวโพดไทยสูงกว่าตลาดโลกเสมอ ก่ออุปสรรคต่อการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก

ปัญหาของการมีราคาขั้นต่ำแต่ไม่มีเพดานราคานี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ แต่กลับกลายเป็นต้นทุนมหาศาลของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์หลายรายต้องขาดทุน จำต้องยกเลิกการเลี้ยงสัตว์บางช่วงหรือเลิกกิจการเลี้ยงสัตว์ไปเลย ดังนั้น เป้าหมายที่รัฐต้องการยกระดับรายได้เกษตรกรจึงไม่มีทางบรรลุผล

ที่สำคัญ การปล่อยราคาลอยสูงขึ้นไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำกัดนั้น จูงใจอย่างมากให้ “พ่อค้าคนกลาง” ทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีข้าวโพดมาขาย เช่น 1.)ผลักดันให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดให้มากที่สุดในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะมีเอกสารสิทธิ์หรือไม่ เท่ากับส่งเสริมให้รุกป่า 2.)ลักลอบนำเข้า 3.)การลักลอบนำเข้าย่อมไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแสดง เป็นข้าวโพดที่กระทบสิ่งแวดล้อมและเสี่ยงต่อการแบน 4.)นำไปสู่การหลอกลวงผู้ซื้อโดยใช้เอกสารสิทธิ์ซ้ำ 5.)เมื่อราคาข้าวโพดไทยสูงกว่าราคาในตลาดโลกมากก็เอื้อให้เกิดทุจริตในระดับภูมิภาค โดยมีการลักลอบนำเข้าจากประเทศที่ห่างไกล เช่น อาร์เจนตินา... กลายเป็นวังวนที่ทำให้ข้าวโพดยังคงเป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมต่อไป

คำถามที่กระทรวงพาณิชย์ต้องตอบ!!

ปัญหาเรื่องข้าวโพดก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นปัญหาใหญ่สุดที่ต้องเร่งแก้ หากมัวแต่เน้นดันราคาให้สูงเกินจริง พ่อค้าคนกลางจะไม่สนใจเรื่อง GAP ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จะผลักดันให้เกิดการรุกป่าไม่สิ้นสุด ยังดีที่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ให้คำมั่นว่าจะจัดตั้ง "คณะกรรมการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม" เพื่อช่วยตรวจสอบไม่ให้มีการนำข้าวโพดรุกป่ามาปะปนขายในประเทศนั้น ซึ่งนับเป็นแนวคิดที่ดีมาก...และควรเปิดเผยแผนปฏิบัติ(Action Plan)ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับรู้และร่วมมือเดินหน้าไปด้วยกันให้เร็วที่สุด

ว่าแต่ว่า ท่านตั้งคณะกรรมการดังกล่าว แล้วหรือยัง?

โดย... ปรัชญา ปราดเปรื่อง