นวัตกรรม จากความคิด สู่ความจริง

นวัตกรรม จากความคิด สู่ความจริง

เป็นที่ทราบกันดีว่า “นวัตกรรม” ไม่ได้หมายถึงแค่คิดใหม่ แต่เป็นการสร้างหรือทำให้เกิดสิ่งใหม่

ที่สำคัญมากไปกว่านั้น สิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นจะต้องตอบโจทย์ตรงใจลูกค้า สอดรับกับแนวโน้มความต้องการของตลาด และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีด้วย

แต่กระนั้นบ่อยครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันก็เหมือนมีด ที่คนคิดคนออกแบบและคนที่สร้างสรรค์ย่อมต้องการให้เกิดผลประโยชน์ต่อผู้ใช้ แต่ก็อาจจะมีบางคนนำไปใช้ในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ผิดทิศ ผิดทาง และก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน ดังเช่นสื่อสังคมออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างมาก จนอาจจะกลายเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารของยุคนี้ไปแล้ว มีคนจำนวนมากมายใช้ช่องทางดังกล่าวสร้างสรรค์สังคม แต่ก็มีคนบางกลุ่มใช้มันเพื่อทำลายหรือก่อกวนสังคมเช่นกัน

สำหรับคนทำงาน และองค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือองค์กรสาธารณกุศล การส่งเสริมให้พนักงานได้คิดได้ทำอะไรใหม่ๆ เป็นความท้าทายที่ต้องทำในทุกวันนี้ เพราะการอยู่กับการทำงานที่เป็นลักษณะของการทำซ้ำ อาจไม่ยั่งยืนอีกต่อไป แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราจะส่งเสริมวัฒนธรรมการคิดใหม่ทำใหม่ควบคู่ไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น เมื่อนำบริบทและสภาพแวดล้อมดังกล่าว มาผสานกับแนวคิดใหม่ แล้วทำให้เกิดเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยีหรือวิทยาการความก้าวหน้าที่ส่งผลประโยชน์ที่ก้าวกระโดดจากเดิม ถ้าเปรียบการทำงานซ้ำเดิมไปเรื่อยๆทุกวัน เหมือนการเดินขึ้นบันได เมื่อเราเดินไปทุกวันอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้เราขยับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น เท่ากับผลงานหรือผลผลิตมากขึ้น แต่ประเด็นก็คือ การเดินขึ้นบันไดดังกล่าว เราไม่ได้ทำอยู่เพียงผู้เดียว คนอื่นก็ทำเช่นเดียวกับเรา เผลอๆเค้าอาจจะเดินได้ด้วยความเร็วที่มากกว่าเรา จึงขึ้นไปอยู่ในจุดที่เทียบเท่าเราในเวลาที่น้อยกว่า หรือขึ้นไปอยู่ในที่สูงกว่าด้วยเวลาที่เท่ากัน

แต่ประเด็นในการแข่งขันกันนั้น ไม่ได้ใช้แค่แรงกายของคนเท่านั้น แต่หลายองค์กรเริ่มขยับปรับตัวไปใช้เครื่องจักร ถ้าเปรียบไปแล้วก็เท่ากับว่าบริษัทนั้นกำลังเดินขึ้นบันได แต่ไม่ใช่บันไดธรรมดา หากแต่เป็นบันไดเลือน โดยที่บางคนในบางองค์กรอาจคิดว่าลงทุนในเครื่องจักรแล้วก็อยากจะสบาย โดยยืนนิ่งเฉยๆ ซึ่งแน่นอนเครื่องจักรก็พาคนผู้นั้นสูงขึ้น ได้ผลงานออกมาเช่นกัน แต่บางคนบางองค์กรเดินบนบันไดเลื่อน ด้วยสองแรงแข็งขัน ทำให้หนึ่งก้าวเดินของคน กลับได้ผลลัพธ์ที่มากกว่า ถ้าเปรียบเครื่องจักรเทียบเท่ากับการคิดปรับปรุงงาน (work improvement) แสดงว่าเราไม่ได้ทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการเดิมเท่านั้น หากแต่เราทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการใหม่ที่ดีกว่าเดิม ผลลัพธ์ที่ได้จึงสูงหรือมากกว่าคนอื่นโดยเปรียบเทียบ

แต่สำหรับนวัตกรรมเป็นแนวคิดใหม่ที่ก้าวกระโดดกว่านั้น ถ้าองค์กรต่างๆล้วนแล้วแต่ใช้บันไดเลื่อนผนวกกับความพยายามของคนในองค์กรแล้ว สมรรถนะอาจจะไม่แตกต่างอย่างชัดเจน จะดีกว่าไหมถ้าเราจะใช้วิทยาการใหม่และความคิดที่นอกกรอบแบบที่คนทั่วไปก็ยังคิดไม่ถึง เหมือนการเดินขึ้นลิฟท์ เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็สามารถนำพาคนคนนั้นไปอยู่ในจุดที่สูงมากได้ในทันที

เรามาดูตัวอย่างของการคิดใหม่แบบก้าวกระโดด และนำพาตัวเองไปสู่ตลาดใหม่ ตลาดสีครามที่สดใส เมื่อบริษัทผลิตผ้าอ้อมเด็กกำลังห่ำหั่นกันคิดปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อเด็กแรกเกิดจนถึงก่อนวัยอนุบาล ตลาดที่เคยเติบโตได้ดี ไม่นานก็เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น ส่วนแบ่งการตลาดที่เคยได้มาก ก็เริ่มแบ่งปันกันไปในแต่ละแบรนด์ เมื่อประสบกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป โครงสร้างของประชากรไม่ได้เป็นปิรมิตฐานกว้างยอดแหลมแบบสามเหลี่ยมที่เคยเป็น หากแต่เริ่มฐานเล็กจากเด็กเกิดน้อย ค่านิยมและความคิดของคนยุคใหม่เปลี่ยนไป แต่งงานช้าลง หลายคนอยู่เป็นโสด คนที่แต่งงานแล้วจำนวนไม่น้อย ไม่ต้องการมีลูก ส่วนที่ต้องการมีลูกก็ขอมีเพียงแค่ 1 คน เพราะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ประกอบกับไม่มีเวลาที่จะดูแลได้อย่างเต็มที่ นั่นแสดงว่าตลาดสินค้าเด็กแรกเกิดจนถึงก่อนวัยเรียนหดตัวอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจนแล้วในปัจจุบัน

บริษัทผลิตผ้าอ้อมเด็กบางรายก็เริ่มหันไปเน้นผลิตสินค้าตัวอื่น และลดกำลังการผลิตผ้าอ้อมเด็กลง ในขณะที่บางธุรกิจคิดว่าเทคโนโลยีการผลิตเดิมที่สะสมมายังมีคุณค่า เพียงแต่ต้องปรับใหม่ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดใหม่ นั่นคือตลาดผู้สูงวัยที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การปรับขนาดผ้าอ้อมตัวเล็กไปสู่การผลิตตัวใหญ่จึงเกิดขึ้น

ตลาดการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันเริ่มเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้ว เมื่อจำนวนนักเรียนและนักศึกษาน้อยลง มหาวิทยาลัยหลายแห่งต้องเผชิญกับสภาวะที่ผู้เรียนน้อยลง ในขณะเดียวกันความต้องการความรู้ที่ทันสมัยและใช้ได้จริง สอดรับความต้องการของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สาขาวิชาและความรู้ที่เคยสอนซ้ำกันเป็นประจำเริ่มไม่ตอบสนอง หลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรที่เน้นทักษะ หลักสูตรที่เข้าไปเสริมเติมให้กับคนทำงาน หลักสูตรที่เน้นการเป็นผู้ประกอบเริ่มเป็นที่ต้องการ อยู่ที่ว่าสถาบันการศึกษาใดจะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า คณะทางด้านแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุขบางแห่งเริ่มจับมือกับธุรกิจดูแลผู้สูงวัยที่เติบโตขึ้นมาก การฝึกอบรมและพัฒนาคนที่เคยดูแลเด็กเล็กให้สามารถมาดูแลผู้สูงวัยจึงเป็นอีกตัวอย่างของการปรับตัวสู่ระบบนิเวศใหม่ในยุคปัจจุบัน

อย่ามัวแต่คิด หรือเอาแต่รำ ลงมือทำทันทีครับ