นโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเมืองท่องเที่ยว (ตอนที่ 1)

นโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเมืองท่องเที่ยว (ตอนที่ 1)

ปัจจุบันนี้รัฐบาลกำลังเน้นนโยบายการกระจายรายได้ท่องเที่ยวไปสู่เมืองรองโดยใช้มาตรการกระตุ้นให้มีการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้เดินทางสู่เมืองรอง

ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายที่ดี

วิธีการแบ่งเมืองหลักเมืองรองของรัฐบาลนั้นมิได้มีการประกาศมาให้ทราบชัดเจนแต่จากการดูข้อมูลพบว่า น่าจะเกิดจากการเรียงลำดับจังหวัดต่างๆ ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนจังหวัดต่างๆ เสร็จแล้วก็เลือก 15 จังหวัดแรกบวกด้วยจังหวัดปริมณฑลที่รายล้อมรอบกรุงเทพไปอีก 6 จังหวัด เข้าใจว่าเป็นเพราะจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพมหานครมีความเจริญมากอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้การท่องเที่ยวเป็นวิธีการกระจายรายได้ ด้วยวิธีนี้รัฐบาลก็ได้จังหวัดเมืองหลัก 21 จังหวัด ที่เหลืออีก 55 จังหวัดก็กลายเป็นเมืองรอง

อย่างไรก็ดี หากอยากจะกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองให้เฟื่องฟูขึ้นมากๆ นโยบายอาจจะยังกว้างเกินไป เพราะเมืองรองส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดที่พัก โรงแรมที่ได้มาตรฐาน บริษัททัวร์ในเมืองรองมักเป็นบริษัทที่เน้นนำคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ ไม่เน้นทัวร์ในประเทศด้วยซ้ำ

มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้พยายามแสวงหานโยบายในการกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองที่เหมาะสมกับศักยภาพ ซึ่งใช้วิธีการนำเอาศักยภาพทั้งดีมานด์และซัพพลาย โดยใช้ดัชนีผู้มาเยือนและดัชนีเจ้าบ้าน และได้ใช้วิธีวิเคราะห์จัดกลุ่ม (Cluster analysis) พบว่ามี 15 จังหวัดแรกซึ่งการจัดลำดับของวิธีการนี้กับรัฐบาลตรงกัน แต่จังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพ ที่รัฐบาลได้จัดให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสระบุรี มิได้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก ด้วยวิธีการจัดกลุ่มตามศักยภาพ หากจัดกลุ่มตามศักยภาพยังต้องเพิ่มจังหวัดท่องเที่ยวหลักอีก 3 จังหวัด คือ ตราด นครศรีธรรมราช และอุดรธานี แต่หากต้องการการจัดกลุ่มเพื่อกระจายรายได้วิธีการที่รัฐใช้ก็ดีอยู่แล้ว

หากจะถามว่ากลุ่มจังหวัดท่องเที่ยว ได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และโครงสร้างพื้นฐานเต็มศักยภาพเพื่อเพิ่มรายได้หรือยัง และยังจะสามารถใช้กลยุทธ์ใดมาเพิ่มรายได้และนักท่องเที่ยว คำตอบจากการวิเคราะห์ประสิทธิภาพด้านการจัดการการท่องเที่ยวด้วยวิธีการ Data Envelopment Analysis (DEA) โดยนักวิจัย 3 ท่าน คือ ดร.อัครพงศ์ อั้นทอง นายณัฐพล อนันต์ธนสาร และนางสาววรัญญา บุตรบุรี แบ่งจังหวัดตามศักยภาพเป็น 7 กลุ่ม ดังตารางที่ 1

  1. กลุ่มศักยภาพสูงเป็นกลุ่มที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสัดส่วนสูง จากการศึกษาพบว่าเป็นกลุ่มจังหวัดที่ใช้ทรัพยากรท่องเที่ยวเต็มประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว มีทั้งหมด 10 จังหวัด (ดูตารางที่ 1) ที่โหมโฆษณาอย่างต่อเนื่องมานานแล้ว การผลักดันเพิ่มเติมให้ใช้ทรัพยากรเพื่อเพิ่มรายได้แต่อาจมีต้นทุนแฝงด้านสิ่งแวดล้อม และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรอื่นๆ อีกมาก นโยบายระยะสั้นจึงควรเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย และทะนุบำรุงด้านสิ่งแวดล้อม ความสะดวก ความปลอดภัยมากกว่าความพยายามที่จะ promote การท่องเที่ยวให้มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น และในระยะยาวก็ขยายขีดความสามารถในการรองรับให้ทันกับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวด้วย เพิ่มการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ขยายคอคอดในห่วงโซ่อุปทาน
  2. กลุ่มศักยภาพสูงซึ่งยังจะสามารถที่จะเพิ่มรายได้ได้อีก แต่ต้องเป็นการเพิ่มรายได้โดยการปรับตลาดนักท่องเที่ยวเพื่อก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวมากนัก อาทิ เชียงใหม่จะเพิ่มรายได้อีกกว่า 680 ล้านบาทต่อปี และนครราชสีมาเพิ่มได้อีกกว่า 500 ล้านบาทต่อปี

คราวหน้าจะมาพูดกันถึงกลุ่มจังหวัดที่เหลือ

ผลการศึกษาในรายละเอียดสามารถดาวน์โหลดรายงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจาก www.ppsi.or.th

นโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเมืองท่องเที่ยว (ตอนที่ 1)