กฎการลงทุนข้อที่สี่ : ยึดปัจจัยพื้นฐาน

กฎการลงทุนข้อที่สี่ : ยึดปัจจัยพื้นฐาน

กฎการลงทุนข้อที่สี่ที่จะนำเสนอในวันนี้คือ ยึดปัจจัยพื้นฐานค่ะ

การยึดปัจจัยพื้นฐาน หมายถึงการประเมินมูลค่าของหลักทรัพย์หรือตราสารที่เราจะลงทุนอยู่เสมอ ซึ่งรวมไปถึงการลงทุนเน้นคุณค่าหรือ Value Investment ด้วย

ปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนได้ แต่โดยทั่วไปไม่ได้เปลี่ยนเร็วจนเราปรับพอร์ตไม่ทัน แต่หากเป็นปัจจัยอื่น เช่น อารมณ์หรือความรู้สึกของผู้ลงทุน (sentiment) อาจเปลี่ยนได้ภายในวันเดียว หรือในบางครั้งอาจจะเปลี่ยนวันละหลายครั้ง

ปัจจัยพื้นฐานจะเกี่ยวข้องกับ “มูลค่า” (Value) เสมอ ดังนั้น อะไรที่เป็นตัววัดมูลค่าก็จะถูกนำมาพิจารณา เช่น ค่าพีอี (P/E) หรือราคาหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้น ค่าพีบี (P/B) หรือราคาหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชี หรือค่าพีอีเทียบกับอัตราการเติบโต ที่เรียกว่า PEG (PE to Growth) เพื่อที่จะดูว่า แม้ค่าพีอีจะสูง แต่หากมีอัตราการเติบโตเร็ว เราก็ควรที่จะลงทุน เพราะอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า ค่าพีอีก็จะลดลงแล้ว

นอกจากนี้ยังอาจจะดูอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล(Dividend Yield) ซึ่งสำหรับดิฉันเอง จะดูเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร 5-10 ปี ในตลาดนั้นๆ เช่น หุ้นของบริษัทในญี่ปุ่นที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 2 หรือ 3% ย่อมน่าสนใจมากๆ เพราะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ถ้าหากผู้ลงทุนเน้นปัจจัยพื้นฐานมากๆ หันมาลงทุนหุ้นนั้นๆ ราคาย่อมจะเพิ่มขึ้น

สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย หรือคูปอง เช่นหุ้นกู้ หรือพันธบัตร ดิฉันจะเปรียบเทียบระหว่างหุ้นกู้ และพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ คือในกลุ่มตราสารหนี้ด้วยกันเอง และเทียบกับอัตราผลตอบแทนของการฝากประจำในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งโดยทั่วไปไม่ค่อยมีให้เปรียบเทียบ เพราะในเมืองไทยเราไม่ค่อยมีการรับฝากเงินประจำที่ระยะเวลายาวกว่า 3 ปี โดยทั่วไปยาวที่สุดก็ประมาณ 2 ปี สำหรับสามปีนั้น นานๆจะออกมาสักครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี สำหรับดิฉัน การลงทุนในตราสารหนี้ระยะปานกลางหรือระยะยาว อย่างน้อยผลตอบแทนต้องชนะอัตราเงินเฟ้อ

นอกจากนั้นดิฉันก็ดู ผลตอบแทนตามระยะเวลา หรือดู yield curve ของทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน และตัดสินใจเปรียบเทียบว่า ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (spread) คุ้มหรือไม่กับความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น คือหากผู้ออกเป็นอะไรไป ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ ซึ่งหลายครั้งก็บอกกับตัวองว่า “ไม่คุ้ม” ก็อาจจะตัดสินใจไม่ลงทุน เป็นต้น คือบริษัทผู้ออกอาจจะไม่เป็นอะไรในช่วงเวลาที่เราลงทุน แต่หากได้ส่วนเพิ่มน้อยนิด ดิฉันอาจตัดสินใจจัดพอร์ตที่มี การลงทุนช่วงสั้นในตลาดเงิน (Money Market) แล้วผสมกับการลงทุนในหุ้นทุน อาจจะได้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงคุ้มกว่า

การพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน เราจะพิจารณาจากความคุ้มค่าเป็นหลักค่ะ ถ้าไม่คุ้มความเสี่ยง ดิฉันก็ไม่ลงทุน แม้จะเห็นว่าเป็นโอกาสดีก็ตาม

นอกจากนั้น เวลาดิฉันลงทุน ยังมีแนวทางคร่าวๆ เช่น หากลงทุนในหุ้นทุน ดิฉันมักจะเข้าลงทุนเมื่อเห็นว่ามีโอกาสได้กำไรไม่น้อยกว่า 15% เช่นถ้าหุ้นของบริษัทหนึ่งมีมูลค่าตามพื้นฐานอยู่ที่ 115 บาท ดิฉันจะตัดสินใจเข้าไปลงทุนเมื่อราคาต่ำกว่า 100 บาท เป็นต้น คือเผื่อว่าไปไม่ถึงราคาพื้นฐาน อย่างน้อยก็ได้กำไรสัก 8-10% ก็ยังดี ถือเป็นการเผื่อขาดอย่างหนึ่ง

นอกจากปัจจัยพื้นฐานเรื่อง “มูลค่า” แล้ว ยังมีปัจจัยพื้นฐานอื่นๆที่จะต้องพิจารณาด้วยสามสี่ปัจจัย ปัจจัยแรก คือ สภาพคล่องของหลักทรัพย์ การจัดพอร์ตโฟลิโอที่ดี ต้องจัดประเภทและสภาพคล่องของหลักทรัพย์ในพอร์ตให้เหมาะสมกับระยะเวลาลงทุนด้วย โดยเฉพาะพอร์ตลงทุนที่จัดไว้สำหรับการลงทุนระยะสั้น หากลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อย หากต้องการขาย อาจจะไม่สามารถขายได้ทัน หรืออาจจะต้องขายแบบเสียราคา

ข้อกำหนดด้านกฎหมายหรือภาษี และค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์นั้นๆ ก็เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อรับผลตอบแทนเป็นค่าเช่า ก็สามารถเลือกลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้โดยตรง หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ /กองรีท ซึ่งมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ผู้ลงทุนสนใจ และแทนที่จะรับผลตอบแทนเป็นค่าเช่าและนำไปคำนวณรวมเสียภาษีในอัตราภาษีของแต่ละท่าน ก็เปลี่ยนมาให้มีคนบริหารจัดการให้ เสียค่าธรรมเนียมการจัดการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ เมื่อมีกำไร เขาก็จะจ่ายให้ในรูปของเงินปันผล ซึ่งหากผู้ลงทุนเป็นบุคคลธรรมดา เมื่อยอมให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% แล้ว ก็ไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก เป็นต้น

ผู้ลงทุนต้องศึกษาด้วยว่า รูปแบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน และรูปแบบไหนเหมาะสมกับวัตถุประสงค์และระยะเวลาการลงทุนของตนเอง

ผู้ลงทุนควรต้องตระหนักด้วยว่า แม้เราจะลงทุนโดยยึดปัจจัยพื้นฐาน แต่ปัจจัยพื้นฐานไม่ได้คงอยู่แบบเดิมตลอดไป ตรงกันข้าม ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้พัฒนาไปมาก ปัจจัยพื้นฐานต่างๆของแต่ละธุรกิจแต่ละอุตสาหกรรม แต่ละประเทศและแต่ละภูมิภาค ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในทางบวกและในทางลบ เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน “มูลค่า”ก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย ดังนั้น หน้าตาของพอร์ตโฟลิโอของเราก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้รับกับโอกาสที่จะเกิดขึ้น

เวลาลงทุน เราพูดถึง “โอกาส” กันทั้งนั้น ไม่มีอะไรแน่นอนค่ะ การปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน จึงเป็นการปรับเปลี่ยน เพื่อมุ่งหวังเพิ่มโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีขึ้น หรือเพื่อปรับลดความเสี่ยงลง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายภาคหน้าที่เราคาดการณ์ไว้ด้วยค่ะ