ชวนคนไทยบริโภคอาหารปลอดภัยและเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ

ชวนคนไทยบริโภคอาหารปลอดภัยและเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนคนไทยใส่ใจกับการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ และตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ

สำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ โดยอาหารต้องมีความปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัย เพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุนรักษาสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติต่างๆที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกและแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการ (ทั้งภาวะโภชนาการขาดและภาวะโภชนาการเกิน)

ดังนั้น การช่วยสนับสนุนสร้างและเพิ่มจำนวนเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพดีและเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น การ เร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางอาหารในการช่วยปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ เพื่อเพิ่มผลผลิต การต้านทานต่อโรคแมลงศัตรูพืช หรือการใช้นวัตกรรมทางอาหารในการช่วยปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ให้สามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นต้น

เรื่องนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันในการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนงานวิจัย เพื่อให้สามารถทำงานวิจัยได้อย่างเป็นระบบ ตอบโจทย์และสามารถสร้างผลผลิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพ มีคุณค่าโภชนาการที่ดี เพื่อความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศและประชาชนชาวโลก เนื่องจากแนวคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารถูกพัฒนามาจากความแตกต่างด้านแนวทางการมองปัญหา ทั้งทางกายภาพ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยทุกฝ่ายต้องการแก้ไขปัญหาในทุกระดับทั้งในเชิงโครงสร้างและความต้องการระบุเป้าหมายของแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องกระบวนการผลิต การเข้าถึงอาหาร และความปลอดภัยทางอาหาร

ปัจจุบันทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร หรือการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย เพียงพอ มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสุขภาวะที่ดี ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง เป็นวาระที่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2560-2579) วิสัยทัศน์ของแผนยุทธ์ศาสตร์คือประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยและมีคุณค่าโภชนาการเพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน ในเรื่องการพัฒนาความมั่นคงด้านการเกษตรและอาหารของประเทศและชุมชน ในมิติปริมาณ คุณภาพ ราคาและการเข้าถึงอาหาร โดยบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรและเพิ่มผลิตภาพการเกษตรแบบบูรณาการ โดยเน้นให้เกิดความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศและเกษตรกรรมอาหาร และสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตพืชอาหารและพืชน้ำมัน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถผลิตอาหารเพื่อบริโภคในประเทศและเพื่อส่งออกไปประเทศต่างๆทั่วโลกก็ตาม แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการบริหารจัดการด้านอาหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการผลิตอาหารให้เพียงพอบริโภคในประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนในทุกระดับสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยและมีคุณค่าโภชนาการ แต่ แนวโน้มของปัญหาด้านทุพโภชนาการในประเทศไทยยังคงมีอยู่ แม้ว่าสถิติของการเกิดภาวะทุพโภชนาการจะลดลง เช่น รายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในปี 2560 พบว่าเด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ยังมีปัญหาเตี้ยแคระแกน กล่าวคือ โตไม่สมวัยลดลดเหลือประมาณร้อยละ11 และน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ลดลงมาเหลือร้อยละ 5-7 สาเหตุปัญหาทุพโภชนาการเหล่านี้ที่ยังหลงเหลืออยู่มาจากการเข้าถึงอาหารเพื่อบริโภคยังไม่ครอบคลุม อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ

การสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการดำเนินโครงการฝึกทักษะการผลิตอาหารให้แก่เด็กและเยาวชน การถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร แต่การดำเนินโครงการเหล่านี้ ต้องสร้างให้เกิดความยั่งยืนและวัดผลได้ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของสถานศึกษาหรือโรงเรียนเพียงภาคส่วนเดียว แต่ต้องเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียน รวมไปถึงชุมชนใกล้ๆโรงเรียนด้วย

ดังนั้น การเตรียมพร้อมในทุกด้านๆ และการร่วมมือการทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนน่าจะเป็นหนทางที่ดีในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศได้ ทั้งนี้ทางสถาบันโภชนาการเองมีภาระหน้าที่หลักขององค์กรคือผลิตบุคคลกรที่มีความชำนาญด้านอาหารและโภชนาการเพื่อเข้ารับใช้สังคมในการวางร่างฐานด้านวิชาการให้กับสังคม พร้อมกันนี้ทางสภาบันโภชนาการเองยังมีส่วนร่วมในการเข้าไปผลักดัน กฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆร่วมกับ ภาครัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเอกชน เพื่อให้การผลิตอาหารเหล่านั้นให้มีคุณภาพดี มีคุณค่าโภชนาการและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค สถาบันโภชนาการจึงเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองเล็กๆ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศโดยอาศัยความรู้ บนพื้นฐานของงานวิจัยเพื่อให้งานวิจัยเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีของชาวไทยและชาวโลก

การสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ดี จึงต้องอาศัยความร่วมมือด้วยกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประชาชน ชุมชน ครอบครัว ซึ่งทุกคนต้องเข้ามามีบทบาทร่วมมือและร่วมแรงในการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง เราจึงจะบรรลุเป้าหมายได้

ทั้งนี้ เนื่องใน วันที่ 16 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับวันอาหารโลกซึ่งกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) เพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาของประชากรโลกมากกว่า 800 ล้านคนที่ยังเผชิญกับความอดอยาก ทุพโภชนาการ และความยากจน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนรวมทั้งประเทศไทยและ ประเทศต่างๆในโลกนี้ต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน เพื่อป้องกันวิกฤติขาดแคลนอาหารในอนาคต 

โดย... 

รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย 

ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล