รู้จักมนุษย์เพื่อเข้าใจตนเอง

รู้จักมนุษย์เพื่อเข้าใจตนเอง

ชาวโลกเห็นใจและสงสาร “13หมู่ป่า” ของเรา ทั้งที่อยู่แสนไกลมากกว่าข่าวการสังหาร ชาวราวันดา 800,000 คน ตัวเราเองก็เถอะน้ำตาแทบไหล

เมื่อได้ทราบข่าวเด็กคนหนึ่งตกบ่อน้ำตาย ในขณะที่รู้สึกเฉยๆ กับเหยื่อน้ำท่วมนับพันคนในต่างจังหวัด ที่เป็นเช่นนี้ มิใช่เพราะเรามีใจโหดเหี้ยม แต่เป็นเพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความเอนเอียงอยู่ในหัวใจโดยธรรมชาติ และแถมไม่มีเหตุ ไม่มีผล ดังที่เรานึกว่าเป็นอีกด้วย ถ้าเราเข้าใจตัวเองดีขึ้นจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง

Josef Stalin จอมเผด็จการแห่งโซเวียต คู่กรรมของ Hitler เคยกล่าวไว้ว่า “One man’s death is a tragedy, but a million deaths is a statistics.” (การตายของคนหนึ่งคนคือโศรกนาฏกรรม แต่หากตายล้านคนมันคือสถิติ) มนุษย์มีปฏิกิริยาที่เรียกว่า identifiable victim effect ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราเห็นหน้าเขารู้จักชื่อเขามีข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขา เราจะเข้าใจและเข้าถึงสถานะที่เขาเป็นอยู่มากกว่าถ้าจะรู้ข้อมูลเพียงกว้างๆ

เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรา อยู่ใกล้เขาในความรู้สึก(ยิ่งเคยมีประสบการณ์เดียวกันมาหรืออยู่ในสังคมคล้ายคลึงกันมาก็จะยิ่ง“อยู่ใกล้”ยิ่งขึ้น) และมันเห็นชัดเจน(ถ้าใครบอกเราว่าเขาขาหัก เราก็จะไม่รู้สึกอะไรมากแต่ถ้าเขาเล่ารายละเอียดว่าเจ็บปวดอย่างไร ก็จะทำให้เรายิ่งรู้สึกกับเขามากขึ้น)

ความรู้สึกนี้แหละที่เราต้องระวังให้ดี เพราะจะทำให้เราถูกล้วงกระเป๋าได้ง่าย ไม่ว่าโดยการบริจาคหรือขอให้เห็นใจไม่ว่าลวงหรือจริงก็ตาม การระแวด ระวังความเอนเอียงจะทำให้เราเสียเงินได้ตรงกับวัตถุประสงค์ของเราจริงๆ และตระหนักว่า เราต้องฝืนความเอนเอียงของตัวเราโดยให้นึกถึงคนอื่นที่อยู่ห่างไกลที่ต้องการความช่วยเหลือ หากแต่เรามีข้อมูลจำกัดและไม่รู้สึกผูกพันใกล้ตัวเรา

เรื่องที่สองของความรู้สึกที่เราต้องเข้าใจก็คือ การปรับตัว(adaptability) ของตัวเราเอง มนุษย์นั้นมีความสามารถเป็นพิเศษในการปรับตัวเข้ากับเกือบทุกสิ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นความเศร้าอันเกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การสูญเสียทรัพย์ การตกงานการได้ทรัพย์สินหรือการได้สิ่งซึ่งมุ่งหวังมาตลอดชีวิต ฯลฯ

มีงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ถูกล๊อตเตอรี่มูลค่าสูงว่าในตอนแรกระดับความสุขจะพุ่งขึ้นสูงมาก แล้วก็จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนกลับมาสู่ระดับปกติเหมือนก่อนถูกรางวัล นี่คือกระบวนการปรับตัวของมนุษย์

ทุกครั้งที่เราได้รับสิ่งที่ปรารถนามายาวนานเช่นได้คนรักสมใจ ตำแหน่ง บ้าน รถยนต์ พระเครื่อง เครื่องประดับ ฯลฯ ในตอนแรกก็จะตื่นเต้น ดีใจ มีความสุข แต่ต่อมาก็จะรู้สึก งั้นๆ แหละ เพราะเราปรับตัวกับการได้สมหวัง นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเช่น Dan Ariely เรียกปรากฎการณ์นี้ว่า hedonic adaptation การปรับตัวลักษณะนี้ทำให้เราเห็นการบ้าคลั่งซื้อของใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สมใจอยาก เพราะทุกครั้งที่ได้ของใหม่ มิได้ทำให้มีระดับความสุขคงที่อยู่ตลอดไป การตระหนักถึงความรู้สึกเช่นนี้ทำให้เราไม่บ้าคลั่งกับการช้อบปิ้งเพราะรู้ดีว่ามันมิได้ทำให้เรามีความสุขอย่างคงทน

มนุษย์มีแนวโน้มที่จะปรับตัวอยู่เสมอทั้งด้านบวกและด้านลบ หากต้องการให้การปรับตัวนี้เป็นประโยชน์ เราจำต้องยอมให้กระบวนการปรับตัวด้านบวกดำเนินต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ไปตัดตอนมัน ส่วนหากเป็นด้านลบ เราต้องพยายามสร้าง hedonic disruptions (การตัดตอนการปรับตัว)

ตัวอย่างเช่นเมื่อเราสูญเสียและมีความเศร้าโศก เราก็ต้องปล่อยให้กระบวนการปรับตัวด้านบวกคือ ลดความเสียใจลงดำเนินต่อไปโดยไม่ไปตัดตอนมัน ในทางตรงข้ามหากชายหญิงเป็นคู่ชีวิตหรือแฟนกันนานเข้า (สำหรับบางคู่โดยเฉพาะเพศชายที่มีธรรมชาติของการชอบความตื่นเต้นโลดโผน)กระบวนการปรับตัวด้านลบก็จะเกิดขึ้นกล่าวคือรู้สึกจำเจ เบื่อหน่าย ดังนั้นก็จำต้องพยายามตัดตอนกระบวนการด้านลบนี้ ด้วยการมีกิจกรรมร่วมกันที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น ท่องเที่ยว งานอดิเรก กีฬางานทำประโยชน์แก่สังคม การพบปะเพื่อนกลุ่มใหม่ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฯลฯ

เรื่องที่สาม  มนุษย์มักให้คุณค่าแก่สิ่งที่ตัวเองทำเกินความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนอื่นทำเราภูมิใจกับชั้นหนังสือที่เราประกอบชิ้นส่วนเอง ภูมิใจกับชิ้นส่วน จิ๊กซอว์ที่ต่อจนสำเร็จ บางคนเชื่อว่าสามารถเลี้ยงลูกได้น่ารักกว่าครอบครัวใดๆ ในโลกทำกับข้าวได้อร่อยจนสามีกินข้าวที่อื่นไม่ลง ฯลฯ

ในทศวรรษ1940 ในสหรัฐ มีการวางขายชุดทำขนมเค็กสำเร็จรูป ซึ่งประกอบด้วย ผงแป้ง ไข่ผง และน้ำตาล เพียงแต่เติมน้ำลงไปตามสัดส่วนแล้วคน ก่อนใส่เตาอบ ก็จะได้ขนมเค็กอร่อย แต่ยอดขายไม่ดีแม่บ้านส่วนใหญ่ไม่กล้าบอกใครว่าขนมเค็กที่รับประทานกันนั้นทำมาจากชุดสำเร็จรูป บริษัทใหญ่แห่งหนึ่งเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์จึงเว้นไม่มีไข่ผงให้และระบุให้แม่บ้านใส่ไข่สดลง ไปเอง ผลปรากฏว่ายอดขายพุ่งทันที เพราะแม่บ้านรู้สึกว่าเป็นการใช้ฝีมือและตนเองมีส่วนร่วมและภูมิใจในผลงานนั้น

การทำให้ทุกคนในหน่วยงานรู้สึกว่า งานที่ตนเองทำนั้นมีความหมาย และตนเองมีส่วนร่วมในความสำเร็จขององค์กรจะเป็นแรงจูงใจให้รู้สึกอยากทำงานและความรู้สึกที่ว่าตนเองทำได้ดีกว่าผู้อื่นนั้นก็จะเป็นแรงฉุดให้งานก้าวไปข้างหน้า