เก็บตกจากประชุมไอเอ็มเอฟที่บาหลี

เก็บตกจากประชุมไอเอ็มเอฟที่บาหลี

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปร่วมงานประชุมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เป็นการประชุมประจำปี

ของประเทศสมาชิกของทั้ง 2 องค์กร มีระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารชาติของประเทศสมาชิกเข้าร่วมงาน โดยในการประชุมดังกล่าว จะมีองค์กรอื่นๆ จัดสัมมนาและจัดประชุมประจำปี พร้อมกันไปด้วย เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมงานสามารถเข้าร่วมงานประชุมอื่นๆ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะกับภาคเอกชน เช่น การประชุมประจำปีขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอไอเอฟ ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีที่ไอเอ็มเอฟ จะออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอย่างที่ได้มีข่าวไป ปรกติ งานจะจัดที่กรุงวอชิงตัน ดีซี และทุก 2 ปีจะจัดนอกสถานที่ โดยปีนี้จัดที่บาหลี ปีนี้ผมไปร่วมงานในฐานะกรรมการที่ปรึกษาของ เอเอ็มอาร์โอ หรือ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ซึ่งก็ได้จัดงานสัมมนาในโอกาสนี้ด้วย

ปีนี้ ความรู้สึกของผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่ต้องบอกว่า ค่อนข้างกังวลกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก เพราะมีความไม่แน่นอนในหลายเรื่อง พูดได้ว่า มีความกลัวหรือกังวลเพราะไม่แน่ใจว่า อนาคตจากนี้จะไปจะเป็นอย่างไร สะท้อนชัดเจนจากภาวะตลาดการเงินที่ทรุดตัวลงต่อเนื่อง ในช่วงระหว่างการประชุมอาทิตย์ที่แล้ว ความกลัวนี้มาจากท่าทีของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ได้เปลี่ยนไปมากในแง่นโยบายจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเทศของตนมากกว่าเศรษฐกิจโลก มีความกลัวเกี่ยบกับการกีดกันทางการค้า(Protectionism) ภูมิศาสตร์การเมือง(Geopoltic) และที่น่าห่วงที่สุด ก็คือความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ ที่กำลังสร้างความไม่แน่นอนเป็นอย่างมากให้กับเศรษฐกิจโลก

ภายใต้ความไม่แน่นอนเหล่านี้ มีคำถามว่า องค์กรระหว่างประเทศอย่างกองทุนระหว่างประเทศและธนาคารโลก จะทำหน้าที่ได้หรือไม่ ที่จะเป็นกลไกรักษา ความเป็นระเบียบและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ในประเด็นนี้ ทุกคนที่ไปร่วมงานมีความรู้สึกคล้ายกันว่า ยาก แต่ก็คงต้องพยายาม และเมื่อเบอร์หนึ่งของไอเอ็มเอฟ คือ นางคริสเตียน ลาการ์ด ถูกถามในการสัมภาษณ์ในช่วงการประชุมว่า มองสถานการณ์โลกขณะนี้อย่างไร โดยให้เลือกตอบจาก 3 คำตอบ คือ กังวล ห่วง หรือมองโลกในแง่ดี(Opitimistic) เธอ ตอบว่า optimistic คือ หวังว่าสถานการณ์และข้อจำกัดต่างๆ จะสามารถคลี่คลายลงได้

เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของวัฎจักรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 10 ปีก่อน นำโดยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีจนถึงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจสหรัฐ การฟื้นตัวของการค้าโลก ความมั่นใจในตลาดการเงิน และการขยายตัวต่อเนื่องในยุโรปและประเทศตลาดเกิดใหม่ ถ้าจะมองเฉพาะสหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะไปได้ดีด้วยตัวเอง อย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง เพราะขยายตัวได้ดีโดยไม่มีความไม่สมดุล หรือ ภาวะฟองสบู่ ที่สำคัญ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ทำได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อยอีก 1 ครั้งในปีนี้ และ 2 ครั้งในปีหน้า เพื่อให้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถขยายตัวได้ต่ออย่างมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอน ในเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจากนี้ไป เริ่มขยายตัวในอัตราที่ลดลง หมายถึงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และจะดึงให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงมากขึ้นตามไปด้วย ความไม่แน่นอนและข้อห่วงใยที่สำคัญ ขณะนี้มีอยู่ 3 เรื่อง

หนึ่ง ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่ดูจะยืดเยื้อและนับวันจะรุนแรง อย่างที่เคยได้วิเคราะห์ไว้ ตลาดการเงินขณะนี้ห่วงว่า ความตึงเครียดจะไม่อยู่แค่ข้อพิพาททางการค้า แต่กำลังกลายเป็นปัญหาภูมิศาสตร์การเมืองระหว่าง 2 ประเทศหลักของเศรษฐกิจโลก คือจีนกับสหรัฐ ทำให้การแก้ไขปัญหา จะไม่ใช่ประเด็นเศรษฐกิจ แต่จะเป็นประเด็นรัฐศาสตร์ ซึ่งจะแก้ยากกว่า และถ้าความตึงเครียดยืดเยื้อ ผลต่อเศรษฐกิจโลกก็จะมีสูง เพราะสินค้าจีนที่นำเข้าสหรัฐมีสัดส่วนองค์ประกอบที่ผลิตนอกประเทศจีน ประมาณร้อยละ 35 ซึ่งจะกระทบประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมถึงไทย ที่สำคัญ นอกจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเมินว่า อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมากกว่า 1% ต่อปี ในทางนโยบาย จีนคงไม่มีทางเลือกอื่น แต่คงต้องยอมให้ค่าเงินหยวนของตนอ่อนค่าลง เพื่อกระตุ้นการส่งออก ซึ่งอาจอยู่ในขนาดการอ่อนค่าประมาณ 8 – 10%ต่อปี ทำให้มีความเสี่ยงที่หลายประเทศอาจจะลดค่าเงินของตนตามเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงของการเกิดสงครามค่าเงินในระยะต่อไป

สอง ความอ่อนแอในประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศขณะนี้ ที่อาจจุดชนวนไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบได้ จากที่หลายประเทศมีหนี้สูงและเศรษฐกิจกำลังถูกกระทบมากจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับสูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่ามากขึ้น จากเงินทุนไหลออก ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ซึ่งจะกระทบการส่งออกและความสามารถในการชำระหนี้ จีนเองก็ได้รับแรงเสียดทานนี้ จากที่ปริมาณหนี้ของจีนเพิ่มจาก 175%ของรายได้ประชาชาติ ปี 2009 เป็นกว่า 300% ปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ภาคธุรกิจและรัฐบาลท้องถิ่น ที่สำคัญจากที่สัดส่วนของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ในเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มจากร้อยละ 36 ก่อนปี 2009 เป็นร้อยละ 59 ในปัจจุบัน ภาวะการชะลอตัว รวมถึงถ้ามีวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะมีมาก

สาม คือ ความห่วงใยเกี่ยวกับความสามารถของเศรษฐกิจโลกที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะถ้ามีวิกฤติเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง ความห่วงใยนี้มีใน 3 เรื่อง อันแรก ประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ขณะนี้ ไม่มีพื้นที่นโยบายมากพอที่จะใช้แก้ไขปัญหา เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในเกณฑ์ต่ำใกล้ศูนย์ ไม่สามารถจะลดได้อีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะก็ได้เพิ่มขึ้นมากจากวิกฤติครั้งก่อน ทำให้จะไม่สามารถใช้มาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่เคย นอกจากนี้ องค์กรอย่างไอเอ็มเอฟเอง ก็อาจจะมีทรัพยากรการเงินไม่เพียงพอที่จะให้กู้หรือช่วยเหลือประเทศต่างๆ ถ้าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นหลายประเทศพร้อมๆ กัน และท้ายสุด ความร่วมมือของประเทศต่างๆ ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาคงทำได้ยากเทียบกับอดีต เพราะการเมืองในหลายประเทศ ขณะนี้มีแนวโน้มในลักษณะประเทศนิยม มองประโยชน์ของตนเป็นใหญ่ มากกว่าที่จะมองความสำคัญของเศรษฐกิจโลกและร่วมมือกัน ทำให้ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาจะเกิดขึ้นยาก

เหล่านี้ คือความห่วยใยที่เก็บตกได้จากการประชุม อาทิตย์ที่แล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกขณะนี้มีความไม่แน่นอนมาก แต่ก็ไม่อยากให้พวกเราตกใจ หรือกังวลจนเกินเหตุ แต่ควรมีความหวังว่าอนาคตจะดีจากนี้ไป เพราะปัญหาขณะนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการตัดสินใจของคนที่เป็นผู้นำประเทศที่โหนกระแสหาคะแนนเสียง หาความนิยม(Popularism) ซึ่งไม่ใช่คำตอบของปัญหาเศรษฐกิจที่มีขณะนี้ และยิ่งจะสร้างปัญหาอื่นๆ ให้เกิดขึ้นตามมา ทำให้เราต้องตั้งรับ ความไม่แน่นอนเหล่านี้ด้วยสติ และด้วยการทำนโยบายที่ถูกต้อง