Brexit : Deal or No Deal ?

Brexit : Deal or No Deal ?

ขณะนี้ สหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปกำลังเจรจาเงื่อนไขในสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการถอนตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) อยู่ 2 ฉบับ คือ

 withdrawal agreement กับ general framework for future ties หรือ future free trade agreement ระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป แต่ว่าการลงมติในสภาทั้ง 2 ของสหราชอาณาจักรจะแบ่งออกเป็น 3 มติด้วยกัน คือ 1) exit deal หรือ เงื่อนไขการถอนตัว 2) new deal หรือ ความสัมพันธ์ในอนาคต และ 3) no deal vote หรือ การถอนตัวโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ผูกพัน 

สำหรับ withdrawal agreement นั้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีการคุยกันคร่าว ๆ ว่า สหราชอาณาจักร 1)จะชำระ £39 พันล้านให้แก่สหภาพยุโรป ตามข้อผูกพันที่มีอยู่ 2) จะรักษาสภาพถิ่นที่อยู่ของประชาชนจากสหภาพยุโรปในสหราชอาณาจักร และ ในทางกลับกันพลเมืองสหราชอาณาจักรจะได้รับสถานะเดียวกันในยุโรป นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบในเบื้องต้นกับ 3) ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านที่สหราชอาณาจักรจะยังคงอยู่ในสหภาพยุโรปจนถึงเดือนธันวาคม 2020 เพื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะได้ปรับตัวและทำการเจรจาในรายละเอียดของความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างทั้งสองฝ่ายหลังจากนั้น ทั้งด้านการค้าและการเมือง 

อย่างไรก็ตาม เฉพาะตัว withdrawal agreement เอง ก็ยังมีเรื่องที่ตกลงกันไม่ได้ และ ก็คงเป็นเรื่องที่ยากจะตกลงกันได้ เช่น ความร่วมมือระหว่างตำรวจและเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายทั้ง 2 ฝ่าย สถานะของศาลสหภาพยุโรปในสหราชอาณาจักร และ สถานะของเส้นเขตแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ 

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เอง ก็มีความเห็นแตกต่างกันออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ต้องการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรป และ ฝ่ายที่ต้องการให้ถอนตัวออกมาอย่างเด็ดขาดไปเลย โดยที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรครัฐบาลจำนวนไม่กี่คนที่พร้อมจะเป็นตัวแปรได้ทุกเมื่อไปได้ทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความไม่แน่นอนสูงในการเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับ Brexit ทุกฉบับ 

ความเห็นส่วนตัวของนางเทเรซา เมย์ เอง อยากจะเห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับยุโรป แต่ก็ไม่กล้าที่จะใส่เนื้อหาที่ค่อนไปทางยุโรปในร่างพระราชบัญญัติเหล่านั้น ด้วยเกรงว่าจะไม่ผ่าน ทั้งนี้เนื่องจากนักการเมืองสหราชอาณาจักรจำนวนไม่น้อยมีความไม่เห็นด้วยกับการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาแต่ต้น พวกเขาถือว่าการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเป็นการลิดรอนอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการลิดรอนอำนาจนิติบัญญัติที่จะต้องไปยอมรับกฎหมายของสหภาพยุโรป นี่คือประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่จะกำหนดทิศทางของ Brexit ในครั้งนี้ ในช่วงหลัง ๆ นี้ นางเมย์จึงพยายามเจรจาโดยรักษาสถานะความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปดังเดิม แต่ไม่ให้มีสิ่งใด ๆ เลยที่จะกระทบแม้แต่น้อยกับอำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ และ ความเป็นหนึ่งเดียวของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะกรณีไอร์แลนด์ 

ถ้าหากสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปไม่อาจบรรลุถึงเงื่อนไขของ Brexit อันเป็นที่ยอมรับได้ของสภาทั้ง 2 ฝ่าย ภายในเดือนมีนาคม 2019 สหราชอาณาจักรก็จะออกจากสหภาพยุโรปในตอนนั้นอย่างที่ไม่มีข้อตกลงใด ๆ หรือ no deal สหราชอาณาจักรก็จะตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีข้อตกลงทางการค้าใด ๆ กับคู่ค้าในโลกนี้ ซึ่งรวมทั้งสหภาพยุโรป และใช้แต่เพียงข้อตกลงทางการค้าขององค์การการค้าโลกหรือ WTO 

คำวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยกล่าวถึงโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรของสหภาพยุโรปว่า มีลักษณะต่ำโดยทั่วไป แต่สูงสำหรับรถยนต์และสินค้าการเกษตร แต่คำวิจารณ์เช่นนั้นดูเหมือนจะมองข้ามภาษีศุลกากรของอีกฝั่งหนึ่งโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญคือไม่ได้ดูเลยว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายที่ได้ดุลการค้า จริงอยู่ สหราชอาณาจักรอาจจะส่งออกบริการไปยังสหภาพยุโรปมากโดยเฉพาะสาธารณรัฐไอร์แลนด์ แต่ฝ่ายที่อยู่ในวงการธุรกิจไม่ได้คิดเช่นนั้น และ ยังมีทางที่จะหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ ที่สำคัญ ตั้งแต่ภายหลังการลงมติ Brexit ตัวแปรทางเศรษฐกิจเป็นไปในทางบวกเกือบทั้งหมด 

ท่าทีของสหภาพยุโรปในการเจรจานั้นออกมาในลักษณะที่ต้องการเห็น soft brexit กล่าวคือ 1) อยากจะเห็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเห็นได้จากการยืดเวลาออกไปถึงเดือนธันวาคม 2020 2) อยากจะเห็นสิทธิของประชาชนสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรในเรื่องถิ่นที่อยู่ในบริเวณของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งก่อนและหลัง และ 3) อยากจะเห็น soft border ระหว่าง Ireland กับ Northern Ireland จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้คือประเด็นสำคัญที่กำลังเจรจาอยู่ในขณะนี้ และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรสหราชอาณาจักรก็กำลังโจมตีซึ่งกันและกันในเรื่องนี้อย่างหนัก 

แม้ว่าสหภาพยุโรปได้แสดงเจตนาที่ดีในการเจรจาโดยยืนยันหลักการที่ชัดเจน 4 ประการคือ ความคงอยู่ของบูรณภาพของตลาดเดียว เอกภาพทางนิติบัญญัติของสหราชอาณาจักร เสถียรภาพทางการเงิน และ การเคารพรักษาความสมดุลของสิทธิและข้อผูกพัน ซึ่งอาจมองได้ว่าสหภาพยุโรปเข้าข้างตัวเองมากไป แต่ประเด็นสำคัญของเจรจาที่สรุปออกมากลับเป็นสิ่งที่นักการเมืองสหราชอาณาจักรไม่อยากเห็น เนื่องจากจุดยืนแต่ละฝั่งมองกันคนละอย่างนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม แม้แต่เรื่องถิ่นที่อยู่ของประชาชนอีกฝ่ายหนึ่ง จะยังมีความขัดแย้งกันอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของสหราชอาณาจักรหรือสหภาพยุโรป ประชาชนของอีกฝ่ายหนึ่งที่มาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สหราชอาณาจักรยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปจะยังคงมีสิทธิในถิ่นที่อยู่ได้ต่อไป เพียงแต่ว่าสิทธิต่าง ๆ คงจะไม่เท่ากับผู้ที่เป็นพลเมืองโดยตรง และ หลักการนี้ก็ควรจะเป็นที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ถกเถียงกันเป็นเรื่องภายหลัง Brexit มากกว่าว่ายังจะเหมือนเดิมหรือไม่ 

ปัญหาหลักอีกประการหนึ่งคือ เขตแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ สนธิสัญญาปี 1997 ระหว่างฝ่าย unionist หรือฝ่ายที่ต้องการรวมกับสหราชอาณาจักร กับ ฝ่าย republican หรือพวกที่ต้องการอยู่กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ บอกว่า เขตแดนที่แบ่งระหว่าง 2 ฝั่งจะไม่มีการตรวจสอบใด ๆ และ ประชาชนในไอร์แลนด์เหนือมีสิทธิที่จะเลือกสัญชาติได้ทั้งสหราชอาณาจักร และ/หรือ สาธารณรัฐไอร์แลนด์ สภาพนี้น่าจะยังคงอยู่ต่อไปได้เนื่องจากความเคลื่อนไหวของประชาชนระหว่างเขตแดนเป็นสิ่งที่มีกฎหมายอื่นดูแลตั้งแต่ก่อนหน้าสหภาพยุโรปแล้ว ส่วนความเคลื่อนไหวของสินค้าก็ไม่ได้มีการตรวจสอบที่ซับซ้อนอย่างที่วิตกกัน ตัวอย่างที่ดีได้แก่ การตรวจสอบสินค้าระหว่างสวีเดน ซึ่งเป็นสมาชิกกับนอร์เวย์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป 

ส่วนความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ทั้ง 2 ฝั่ง อยากจะบรรลุข้อตกลงอยู่แล้ว และ สาระสำคัญเป็นการรักษาสถานะเดิม แต่สิ่งที่ถกเถียงกันเป็นเรื่องของรายละเอียดภายหลังจากการออกจากสมาชิกมากกว่า อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรสหราชอาณาจักรไม่อยากให้มีความสัมพันธ์เช่นเดิมมากกว่า 

แม้ว่าท่าทีของทั้ง 2 ฝ่ายจะแข็งกร้าวและยืนยันในหลักการของตนเองจนดูเหมือนว่าการออกจากสมาชิกภาพในเดือนมีนาคม 2019 จะเป็นไปโดยไม่มีข้อตกลงหรือ no deal แต่เมื่อกำหนดเส้นตายที่จะต้องตกลงมาถึง ประเด็นหลัก ๆ ของสถานะทั้ง 2 ฝ่ายน่าจะเป็นระดับต่ำสุดที่ยอมรับได้ เพื่อให้ Brexit เป็นไปโดยมีข้อตกลงหรือ Brexit deal มากกว่าไม่มีข้อตกลง หรือ no deal การมีข้อตกลงย่อมจะดีกว่าไม่มีข้อตกลง แม้ว่าจะไม่พอใจนัก เพราะว่าการเจรจาหลังจากนั้นยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้