“ดุลพินิจ" นั้นสำคัญนัก

“ดุลพินิจ" นั้นสำคัญนัก

ในการปฎิรูปตำรวจ มีการปรึกษาประเด็นสำคัญว่า เหตุปัจจัยใดทำให้ตำรวจถูกร้องเรียนหรือมีการกล่าวหาเกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า “การใช้ดุลยพินิจ” เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ มากมาย เป็นเรื่องเฉพาะตัว ถึงจะมีกรอบขอบเขตกำหนดไว้ทั้งในกฎหมายระเบียบข้อบังคับต่างๆ แต่หน้างานบางทีมีเรื่องนอกเหนือกฎเกณฑ์ รวมทั้งเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยได้เองของแต่ละบุคคล แต่ด้วยมาตรฐานของคนแตกต่างไปตามภูมิหลังสิ่งแวดล้อม บางทีการตัดสินใจนเรื่องเล็กๆ สามารถบานปลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตขึ้นมาได้ 

กรณีพิพาทระหว่าง ผู้พักอาศัยบางคนในคอนโดมิเนียม ที่ตั้งอยู่ใกล้วัดซึ่งมีอายุ 200-300 ปี แต่มีคนไปร้องสำนักงานเขต ปรากฎเป็นเอกสารขอความร่วมมือทำนองให้ทางวัดแก้ปัญหาเสียงตีระฆังในบางช่วงเวลา เรื่องนี้เมื่ออ่านข่าว ประการแรกที่ผมคิดในทันที คือ ในสังคมไทย มีความไม่ได้ดุลกันในเชิงสถานภาพและอำนาจของคนในสังคมอยู่มาก แม้จะอ้างว่าเราเป็นสังคมเสรี มีอิสรภาพในขอบเขตของกฎหมาย แต่ก็ยังคิดไปต่อว่า คนที่มาร้องเรียนน่าจะเป็นคนที่มีอำนาจมีบารมี เป็นคนที่น่าจะเป็นบุคคลสำคัญ เป็น วีไอพี แต่ข้อเท็จจริงจะใช่หรือไม่ผมไม่อาจรู้ได้ เมื่อติดตามตั้งแต่ต้นกระทั่งเรื่องคลี่คลาย ก็พบว่า ทาง กทม เองมีคำสั่งให้ผู้ช่วยหัวหน้าเขตดังกล่าวชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการทำหนังสือไปทางวัดว่าเป็นไปด้วยเหตุใด ทำให้ผมนึกถึงปัญหาการใช้ “ดุลยพินิจ” ขึ้นมา เพราะเชื่อว่า ทั้งหน่วยงานในภาครัฐและเอกชน น่าจะมีปัญหาคล้ายๆ กัน

มหาวิทยาลัยที่ผมรับราชการอยู่ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และตั้งอยู่บนถนนที่การจราจรคับคั่งมาก นั่นคือทั้ง ถ.พระราม 4 และ สีลม สิ่งที่เห็นการใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย คือ การปล่อยให้รถที่วิ่งทางตรงไปคลองเตย แต่ยอมให้ไปกีดขวางรถที่ประสงค์จะเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด ทั้งที่ตรงจุดดังกล่าว คือ แยกถนนสีลมตัดกับพระราม 4 เป็นจุดรับส่งผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมคาดว่าการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่อาจมีเหตุผลในการไม่จับไม่ปรับเพราะคนทำผิดกฎจราจรน่าจะเยอะมาก กระทั่งเจ้าหน้าที่ไม่อยากปวดเศรียรเวียนเกล้ากับข้ออ้างสารพัด แต่ถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตทางจราจรในทุกวันนี้ เพราะหากรถที่ไปขวางทางวิ่งของรถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดได้ ก็เท่ากับกฎหมายไม่มีประโยชน์อะไร และหากผู้ใช้ถนนเรียนรู้ที่จะทำผิดกฎจราจรแล้วไม่ถูกลงโทษใดๆ เลย ก็จะยิ่งย่ามใจ ที่สำคัญเขตโรงพยาบาล ไม่ใช่ “เขตอภัยทาน” ยิ่งเป็นจุดน่าละอายใจ ที่หากมีรถรับส่งผู้ป่วยซึ่งเป็นญาติมิตรของคนทำผิดกฎหมายเหล่านั้น รอการส่งตัวเข้ารับบริการฉุกเฉิน ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นจะคิดเห็นอย่างไร และเจ้าหน้าที่ผู้บังคับกฎหมายจะเห็นเป็นประการใด

ดุลยพินิจทางการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญ และมีผลอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ เพราะการเมืองเป็นเรื่องมหภาค หรือ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เป็นเรื่องใหญ่เรื่องโต” มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น การตัดสินใจในทุกวันอังคารของคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีนโยบายอะไรออกมา หนังสือพิมพ์สำนักข่าวทุกสำนักต่างรอคอยเงี่ยหูฟังหรือใจจดใจจ่อกับมติ ครม. รอคอยการแถลงของทีมงานโฆษกด้วยความกระวนกระวายใจ ถือเป็นอีกตัวอย่างของการใช้ดุลยพินิจ ตัดสินใจ ที่อาจมีทั้งผิดหรือถูกได้ ถึงจะมีการกลั่นกรองมาเป็นขั้นเป็นตอนอย่างระมัดระวัง แต่บางเรื่องเป็นการใช้อำนาจที่อาจสุ่มเสี่ยงกับการที่ต้องอาศัยการตีความของกฎหมาย ดังเช่นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับบางรัฐบาลในอดีต เมื่อมีมติบางอย่างบางประการ กลายเป็นเรื่องถึงโรงศาล รัฐมนตรีจำนวนหนึ่งถูกพิพากษาจำคุกไปก็มี

มาวันนี้ใกล้กับการเลือกตั้งเข้ามา เราได้เห็นการใช้ดุลยพินิจของบุคคลหลายฝ่ายในคณะรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกัลยาณมิตรกัน เมื่อเป็นมิตรก็ต้องให้ความเห็นอย่างมิตรแท้เปี่ยมล้นไปด้วยความปรารถนาดีและห่วงใย ต่อการดำเนินการทางการเมืองที่กำลังเป็นข่าว เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบไปถึงความต่อเนื่องของรัฐบาลชุดนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นใครอยู่ที่ดุลยพินิจของการขับเคลื่อนกรรมวิธีทางการเมืองในวันนี้เป็น “ตัวชี้วัด” ต้องเข้าใจตรงกันว่าวันนี้ รัฐธรรมนูญเปลี่ยนแล้ว แต่ปฎิบัติการทางการเมืองของพรรคการเมืองเก่าใหม่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกียวเนื่องอย่างที่คาดหวังไว้

เห็นได้ชัดถึงการควานหาผู้สมัครด้วยการไปดึงอดีตผู้สมัคร ที่หลายคนยังไม่เคยเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. มาก่อน บางคนเพิ่งเคยได้ลิ้มชิมรสทางการเมือง 1 หรือ 2 สมัยแบบไม่ต่อเนื่อง ภาษาการเมืองเรียกว่า เป็นบุคลากรแถวสองบ้าง แถวสามบ้าง ทำให้เกิด “สภาวะความเสี่ยงอย่างยิ่ง” เพราะไม่มีหลักประกันอันใดจะเชื่อมั่นได้ว่า คนเหล่านี้จะได้รับเลือกมาเป็นตัวแทนปวงชน ดังนั้น กลไกที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีจะเป็นใครก็ตามที่แต่ละพรรคหมายมั่นไว้ จะต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา นั่นคือ 376 เสียงขึ้นไป 

สมมติว่า รัฐบาลนี้อยากจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อาจตีขลุมว่า ส.ว. จำนวน 250 ท่านที่มาทั้งการแต่งตั้งและเลือกตั้งโดยอ้อม น่าจะเป็นเสียงสนับสนุนที่วางใจได้พอประมาณ แต่หากเสียงสนับสนุนทางการเมืองของพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลได้น้อยกว่า 200 เสียง อาจตั้งรัฐบาลได้ แต่จะบริหารประเทศด้วยความน่าประหวั่นพรั่นพรึ่งยิ่งนัก เพราะในการทำงานด้านนิติบัญญัติ จะเป็นเรื่องของ ส.ส. เป็นหลัก ส.ว. เมื่อมาช่วยตั้งรัฐบาลแล้ว ก็ไปทำหน้าที่กำกับดูแลช่วยให้ข้อคิดเห็นทางกฎหมาย หาก ส.ส.ในสภา เกเรขึ้นมา ลาป่วย มาสาย ขาดประชุม สภาจะเกิดวิกฤติทันที จึงเกิดวลี “ห้ามลา ห้ามขาด ห้ามตาย” ขึ้นมา 

ที่สำคัญ 200 เสียงที่ว่า ควรจะเป็นเสียงที่อยู่ในพรรคหลักพรรคใดพรรคหนึ่ง เพียงพรรคเดียว เพราะยิ่งไปหวังการผสมผสานกับพรรคอื่นเพื่อให้ได้จำนวนที่ต้องการ จะเกิดการต่อรอง การซื้อขายคะแนนเสียงดังที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต สภาวะ “งูเห่า” จะเป็นอีกปัญหาหนึ่ง ที่หากเสียงปริ่มน้ำเท่าใด โอกาสการแปรพักตร์ของพรรคการเมืองที่เริ่มต้นตั้งรัฐบาลด้วยกัน แต่การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์จริงๆ เมื่อมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาแล้ว นักการเมืองที่ไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ และไมใช่ปัญหาของรัฐธรรมนูยแม้แต่น้อย เพราะที่ไปสรรหากันมา อาจไปได้พวกกล้าแลก กล้าได้กล้าเสีย คิดเล่นการเมืองสมัยเดียว เขาพร้อมเป็นหน่วยกล้าตาย แต่จะดึงเอารัฐบาลในอนาคตหัวคว่ำคะมำหงาย 

นี่คือ ปัญหาของการใช้ ดุลยพินิจ” ทางการเมือง ที่เชื่อว่า ยังมีเวลาในการปรับตัว และคิดใหม่ สร้างสรรค์การเมืองใหม่ได้ตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้