เส้นทางสู่การเลือกตั้ง พ.ศ.2562 (ตอนที่ 2)

เส้นทางสู่การเลือกตั้ง พ.ศ.2562 (ตอนที่ 2)

มาบัดนี้ เราคงจะได้เห็นกันแล้วว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยตามกำหนดการนี้ จะมีการทูลเกล้ารายชื่อ

ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ส.ว. ในช่วงปลายเดือนเม.ย. 2562 ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไป ส.ส. ที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือน ก.พ. จึงจำต้องเลื่อนไป เพราะเป้าหมายของการเลือกตั้ง ส.ส. นอกจากจะต้องการให้มีสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติแล้ว เป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การลงคะแนนเลือกผู้ที่จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหาร แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้จากคำถามพ่วงที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์ทางการเมืองได้ลงประชามติรับรองไปให้อำนาจวุฒิสภาในการลงคะแนนเลือกผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังนั้น หากมีการเลือกตั้ง ส.ส. ปลายเดือน ก.พ.2562 แต่ยังไม่ได้ ส.ว. เพราะจะได้ ส.ว. ที่เป็นทางการก็ต้องปลายเดือนเมษายน ทำให้การลงคะแนนเสียงสองสภาเลือกนายกรัฐมนตรี จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 

 อย่างไรก็ตาม ยังจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่กำหนดไว้ปลายเดือน ก.พ. 2562 แต่จะยังไม่มี ส.ว. จนกว่าปลายเดือน เม.ย. ? เราคงต้องมาดูที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ? 

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรามาตรา 121 กำหนดไว้ว่า ภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก คำถามต่อมาคือ รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนเวลาที่จะต้องมีการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ไว้อย่างไร ? 

ในมาตรา 65 กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ การประกาศผลดังกล่าวไม่เป็นการตัดหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะดําเนินการสืบสวน ไต่สวน หรือวินิจฉัยกรณมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทําการทุจริตในการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมไม่ว่าจะได้ประกาศผลการเลือกตั้งแล้วหรือไม่ก็ตาม 

หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 60 วัน หลังวันเลือกตั้ง (สมมุติว่าเป็น 24 ก.พ. ตามที่เข้าใจกัน) หาก “ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด” สมมุติว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้เวลาเต็มที่คือ 60 วันหลังวันเลือกตั้ง นั่นก็จะตกในราววันที่ 24 เม.ย. ซึ่งก็อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่จะได้ ส.ว. เป็นทางการ 

 และเมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งทั่วไปแล้วในวันที่ 24 เม.ย. (สมมติ) รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 121 ได้กำหนดไว้ว่า ภายใน 15 วัน นับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก นั่นคือ จะต้องมีการประชุมรัฐสภา ( 2 สภา) ในราววันที่ 8 พ.ค. 

 ที่กล่าวไปนี้ คือการสมมติว่า ไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ในปลายเดือนก.พ. แต่ยังไม่มี ส.ว. ในช่วงนั้น ซึ่งก็เป็นไปได้ หากคณะกรรมการการเลือกตั้งใช้เวลาในการตรวจสอบผลการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ นั่นคือ 60 วัน ตามสูตรนี้ การเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะยังสามารถเกิดขึ้นในปลายเดือน ก.พ. 

และหากเป็นตามสูตรที่ว่านี้ ในช่วงปลายเดือน พ.ย. 2561 เราก็จะได้เห็นบทสรุปของนักการเมืองที่จะลงตัวเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งอย่างชัดเจนแน่นอน เพราะ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 41 ได้กำหนดไว้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้อง “เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง” นั่นคือ ปลายเดือนพ.ย. 2561 จะเห็นหน้าค่าตาว่า ใครจะอยู่พรรคไหนกัน และก็จะสามารถพอจะเริ่มวิเคราะห์คำนวณอย่างคร่าวๆได้ว่า พรรคใดจะได้ ส.ส. เขตเท่าไร และบัญชีรายชื่อเท่าไร ซึ่งจะให้แน่ชัดขึ้นไปอีกก็จะต้องรอดูวันสมัครรับเลือกตั้ง ที่จะเห็นว่า พรรคจะส่งใครลงเขตพื้นที่ไหนอีกทีหนึ่ง และถ้ายิ่งหลังเลือกตั้งแล้ว ก็จะยิ่งเห็นความชัดเจนของ ส.ส. เข้าไปอีก และถ้าการประกาศผลอย่างเป็นทางการอาจต้องใช้เวลา 60 วันดังกล่าวไปข้างต้น เราก็จะได้ ส.ส. พร้อมกับ ส.ว. อย่างเป็นทางการในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งหมายความว่า การปล่อยตัว ส.ว. ของ คสช. ก็จะขึ้นอยู่กับจำนวนและหน้าค่าตาของ ส.ส. ในสภาด้วย 

แต่ถ้าไม่ได้เป็นไปตามสูตรนี้ นั่นคือ มีการเลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปหลังการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งก็คือ เลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นต้นเดือนพ.ค. 2562 ซึ่งไม่สามารถเกินนั้นได้ เพราะกฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่าภายใน 150 วัน หลังประกาศใช้กฎหมายลูก (ส.ส.) จะต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็หมายความว่า นักการเมืองจะมีเวลาจนถึงต้นเดือน ก.พ.กว่าที่จะตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งตายตัวลงไป สูตรหลังนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับกระบวนการที่ยังไม่ลงตัวแน่นอนได้ต่อรองกันต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่สำหรับที่ลงตัวแล้ว ก็จะเสียประโยชน์ตรงที่เมื่อทอดเงื่อนไขเวลาออกไป อะไรๆก็อาจจะเกิดขึ้นได้