เศรษฐกิจโลก: วิกฤตปี 2020?

เศรษฐกิจโลก: วิกฤตปี 2020?

หากติดตามบทความผู้เขียนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าผู้เขียนมีมุมมองที่ค่อนข้างระมัดระวังต่อเศรษฐกิจโลก

ตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นมา หลังจากที่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มแผ่วลงสวนทางกับในสหรัฐ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยที่ตลาดการเงินทั่วโลกตกต่ำรุนแรงในระดับ 3-5% ในสัปดาห์ก่อน เพียงเพราะตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐปรับตัวสูงเกินคาด ทำให้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐมีมากขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีขึ้นจาก 2.96% เป็น 3.23% ในสัปดาห์เดียว

นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงมากจนทำให้ทางการต้องปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) เป็นครั้งที่ 4 ในรอบปีนี้ก็ทำให้นักลงทุนกังวลมากขึ้น และเทขายหุ้นจีนจนตกต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี และฉุดให้ดัชนีทั่วโลกปรับลดลงตาม

ความผันผวนในสัปดาห์ก่อน มาพร้อมกับการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จาก 3.9% เป็น 3.7% โดยปรับลดในหลายประเทศยกเว้นสหรัฐ หลังจากตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ ภาคการผลิต และภาคการลงทุนทั่วโลกปรับลดลง โดย IMF ให้ปัจจัยด้านสงครามการค้าเป็นปัจจัยลบหลักของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

ภาพเหล่านี้ สอดคล้องกับมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกหลายแห่งโดยเฉพาะ Nouriel Roubini นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ที่มองว่าปี 2020 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับวิกฤติการเงินที่จะลุกลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง

Roubini ให้เหตุผลโดยสรุปรวมได้ 5 ประการ คือ (1) เศรษฐกิจสหรัฐจะอ่อนแรงหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์หมดลงในปีหน้า (2) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะยังขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงไปถึง 3.5% ทำให้ธนาคารกลางที่อื่นต้องขึ้นตาม ส่งผลให้สภาพคล่องทั่วโลกหดหาย และดึงดอกเบี้ยทั่วโลกขึ้น (3) สงครามการค้าจะรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ ข้าวของแพงและกระทบห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจอื่น ๆ ชะลอลง ขณะที่ความนิยมการเมืองของทรัมป์ยิ่งเสื่อมถอย ทำให้ทรัมป์ดำเนินนโยบายสุดโต่งมากขึ้น รวมถึงเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามกับอิหร่าน (4) สภาพคล่องทั่วโลกที่มีมากในปัจจุบันทำให้เกิดฟองสบู่สินทรัพย์ทั่วโลก โดยเฉพาะในตลาดการเงิน ทั้งในหุ้นสหรัฐ พันธบัตรและหุ้นกู้ทั่วโลก โดยจะเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่ และลุกลามไปทั่วโลก และ (5) เมื่อเกิดวิกฤติครั้งใหม่ ธนาคารกลางจะหมดกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

ในส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเห็นต่างกับ Roubini โดยเห็นว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในปีหน้า และน่าจะซึมยาวต่อเนื่อง (Secular Stagnation) แต่น่าจะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (Recession) รวมถึงวิกฤติ (Crisis) อีกครั้ง โดยมี 3 ปัจจัยหลัก

ปัจจัยแรก ได้แก่ การทำนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed น่าจะชะลอลงในครึ่งหลังของปีหน้า หลังจากที่เศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลงจะเริ่มส่งผลสะท้อนกลับมาสู่เศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง โดยในปัจจุบัน ภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวดี แต่เศรษฐกิจอื่นชะลอลงนี้ (US Divergence) ทำให้ Fed ยังขึ้นดอกเบี้ย และลดทอนขนาดงบดุลของตน (Quantitative Tightening) ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง (24% ตั้งแต่ปี 2014) ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ (โดยเฉพาะที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ เช่น ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ต่างประเทศสูง) เช่น อาเจนตินา ตุรกี แอฟริกาใต้ ปากีสถาน อ่อนค่าลงมาก

แม้ประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้มีขนาดใหญ่พอที่จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโลกโดยรวม (เศรษฐกิจของ อาเจนตินา ตุรกี และ แอฟริกาใต้ มีขนาดเพียง 2.3% ของ GDP โลก) แต่วิกฤติจะลามผ่านการผิดนัดชำระหนี้ (หลายประเทศมีขนาดหนี้ต่อ GDP มากกว่า 100%) ผ่านค่าเงินที่อ่อนค่า (ทำให้สินค้าส่งออกของประเทศอื่นแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ) และผ่านความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุน ผลเหล่านั้น เป็นไปได้ที่จะย้อนกลับมาทำให้เศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวร้อนแรงชะลอตัวลงอีกครั้ง โดยเฉพาะจากค่าเงินดอลลลาร์ที่แข็งค่า ทำให้ Fed น่าจะเริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 2019

ปัจจัยที่สอง ได้แก่ จีน ผู้เขียนเชื่อว่า แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะอ่อนแรงและชะลอตัวลงอีกจากปัจจุบัน แต่ทางการจะฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปได้โดยไม่เกิดวิกฤติ (Muddling through) โดยในปัจจุบันจีนมีจุดอ่อนสำคัญ 5 ประการคือ (1) เศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มชะลอ โดยเฉพาะวัดจากเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจรายเดือน เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ดัชนีค้าปลีก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (2) หนี้ที่สูง (ปัจจุบันประมาณ 300% GDP) (3) ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าต่อเนื่อง (10% ตั้งแต่เดือน ก.พ.) (4) ตลาดหุ้นที่ตกกว่า 30% ตั้งแต่เดือน ม.ค. และ (5) ความเสี่ยงสงครามการค้าที่จะกระทบต่อการส่งออกของจีนที่มีสัดส่วน 20% ของ GDP

ผู้เขียนเชื่อว่า หากทิศทางเศรษฐกิจจีนอ่อนกำลังลงอีก ทางการจะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งจะมีผล 2 ทาง คือ (1) ยังคงหล่อเลี้ยงสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ และ (2) ทำให้หยวนอ่อนค่า และช่วยให้รายได้การส่งออกรูปเงินหยวนให้ไม่ปรับลดลงมาก

ปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ สงครามการค้า ที่จะลากยาวยืดเยื้อเป็นสงครามเย็นทางการค้า (Cold Trade War) ซึ่งจะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกและทำให้เกิดการปรับฐานการผลิตทั่วโลกใหม่ (Relocation of production base) ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตและการลงทุนทั่วโลก

แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆ ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม ทำให้สหรัฐมี “กระสุน” ในการต่อรองกับนานาประเทศ จึงมีแนวโน้มว่าประเทศอื่นๆ อาจต้องยอมต่อความต้องการของสหรัฐ เห็นได้จากข้อตกลงเขตเสรีการค้าสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ที่สหรัฐสามารถทำให้ทั้ง 2 ประเทศ ยอมตามความต้องการของตนได้ เช่น การย้ายฐานการผลิตรถยนต์กลับไปสหรัฐ เป็นต้น

สงครามการค้าที่ยืดเยื้อแต่ได้ผลลัพท์ที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐนี้ จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอลง ซึมยาว ในขณะที่สหรัฐเองจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นบ้าง แต่เทคโนโลยีใหม่จะกดดันให้ต้นทุนไม่สูงขึ้นมากนัก แต่จะได้ผลบวกจากการลงทุนที่ย้ายฐานกลับมาบ้าง ซึ่งอาจเป็นผลบวกต่อบางอุตสาหกรรมแต่ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก

แม้ว่าโลกอาจไม่เผชิญกับวิกฤติในปี 2020 แต่ตั้งแต่ปี 2019 สิ่งที่นักลงทุนจะเผชิญคือ เศรษฐกิจโลกที่ อึมครึม กล่าวคือ นโยบายการเงินโลกจะตึงตัวขึ้น เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่จะเสี่ยงมากขึ้น เศรษฐกิจจีนจะอ่อนกำลังลงพร้อมๆ กับเงินหยวนที่อ่อนค่า และสงครามการค้าที่ลากยาวยืดเยื้อ

คำถามสำคัญคือ นักลงทุนพร้อมรับมือภาวะ อึมครึมนี้แล้วหรือยัง

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่]