ทำไมตลาดหุ้นสหรัฐฯยังอยู่ในภาวะกระทิงต่อเนื่อง

ทำไมตลาดหุ้นสหรัฐฯยังอยู่ในภาวะกระทิงต่อเนื่อง

นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 หรือเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง

โดยไม่มีการปรับฐานครั้งใหญ่แม้แต่ครั้งเดียว (ปรับตัวลงตั้งแต่ 20% ขึ้นไป) ซึ่งถือเป็นภาวะตลาดกระทิงที่ยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยการปรับขึ้นในช่วงแรกเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆฟื้นตัว ในขณะที่ในช่วงต้นปีนี้มีการปรับลงราว 10% แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วจากแรงหนุนของมาตรการลดภาษีนิติบุคคลและการปรับขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

หากมองในแง่ของพื้นฐาน เศรษฐกิจสหรัฐฯมีการขยายตัวอย่างชัดเจน โดยได้แรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดแรงงานของสหรัฐฯมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับยอดค้าปลีก และตัวเลขของภาคการผลิตและภาคบริการที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง  นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคต่อไป

นอกจากพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีความแข็งแกร่งในเกือบทุกด้านแล้ว บทความจากสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2561 เรื่อง “Death of equity keeps stock market bull alive” ที่รวบรวมโดย Sujata Rao, Helen Reid และ Chuck Mikolajczak ยังให้อีกมุมมองหนึ่งที่หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังคงปรับตัวขึ้นได้ ถึงแม้ในปีนี้เฟดขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง และสหรัฐฯมีความขัดแย้งทางการค้ากับหลายๆประเทศก็ตาม 

โดยบทความระบุว่าสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังไปได้ต่อก็คือ ปริมาณหุ้นในตลาดมีน้อยลง โดยจำนวนหุ้นที่เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯมีปริมาณน้อยกว่าจำนวนหุ้นที่ถูกถอนออกจากตลาด ในขณะที่จำนวนเงินลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้ลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในอุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือ นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องซื้อหุ้นในราคาที่แพงขึ้น เนื่องจากปริมาณหุ้นในตลาดมีน้อยลง

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Thomson Reuter Datastream และ World Bank ระบุว่า จำนวนบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯลดลงจากกว่า 8,000 บริษัทในปี 2539 เหลือ 4,336 บริษัท ณ สิ้นปี 2560  การที่หลายบริษัทออกจากตลาดหุ้นหรือซื้อคืนหุ้นบางส่วน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลดภาษีนิติบุคคล  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับต่ำ

ส่งผลให้การระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้มีต้นทุนที่ถูกกว่าการระดมทุนผ่านตลาดตราสารทุน  นอกจากนี้ การลงทุนในรูปแบบ Private Equity ซึ่งหมายถึงการลงทุนในหุ้นนอกตลาด ซึ่งรวมทั้งบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการเงินลงทุน หรือการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในตลาด แต่ต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อควบรวมหรือขยายกิจการ หรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ก็มีส่วนทำให้ปริมาณหุ้นในตลาดมีน้อยลงเช่นกัน 

การที่ปริมาณหุ้นในตลาดมีน้อยลงไม่ได้เกิดแค่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯเท่านั้น โดยข้อมูลจากอินโดสุเอซระบุว่า ตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปีนี้ ปริมาณหุ้นในตลาดแฟรงก์เฟิร์ตของเยอรมนีลดลง 45% และปริมาณหุ้นในตลาดลอนดอนลดลง 20%

อย่างไรก็ดี การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี อยู่สูงกว่า 3.20% ส่งผลให้มีแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากความน่าสนใจลงทุนในพันธบัตรมีมากขึ้น เงินทุนจึงไหลออกจากตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ซึ่งได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากแนวโน้มการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ  แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นักวิเคราะห์มีความกังวลว่าจะเกิด inverted yield curve (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น) ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เมื่อเกิด inverted yield curve ก็มักจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา  ดังนั้น การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีขึ้นไปปรับขึ้น จึงส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหมดไป

สำหรับตลาดหุ้นไทย ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561 เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก กล่าวคือ ได้รับแรงกดดันจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ดี ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไทย กอปรกับมีหลายปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น หากการส่งออกชะลอตัวลงจากปัญหาสงครามการค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ก็ยังคงมีปัจจัยอื่น เช่น การลงทุนภาครัฐ การบริโภคภายในประเทศ มาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยที่เป็นผลมาจากความกังวลจากปัจจัยต่างประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย จึงเป็นโอกาสดีของนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสว่าตลาดมีส่วนลด (discount) มากขึ้น และสามารถลงทุนในระยะยาวได้ ที่จะกลับเข้ามาลงทุนเพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต  ทั้งนี้นักลงทุนต้องไม่ลืมศึกษาข้อมูลการลงทุนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ