ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวแล้วจริงหรือ

ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวแล้วจริงหรือ

นับจากช่วงต้นปี เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยจำนวนผู้มีงานทำขยายตัวเทียบกับปีก่อนหน้าเป็น ครั้งแรกในรอบ 6 ปี ส่งผลให้

อัตราการว่างงานปรับลงมาอยู่ที่ 1.1% ในเดือนมิถุนายน ขณะที่ค่าจ้างของลูกจ้างแรงงาน ก็เพิ่มขึ้น 2.4% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้หลังจากที่ทรงตัวในปีก่อนหน้า สะท้อนว่าเศรษฐกิจที่เร่งตัวขึ้นในปีนี้เริ่มส่งผลดี ต่อตลาดแรงงานอย่างชัดเจนขึ้น

แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นเทรนด์ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยค่าจ้างที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) ขยายตัวเฉลี่ยเพียง 1.1% ต่อปีในช่วง 2015-2018 เทียบกับ 5.9% ต่อปีในช่วง 5 ปีก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ รายได้แรงงานที่ซบเซาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางปรับสูงขึ้นและการใช้จ่ายของครัวเรือนในกลุ่มนี้ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดีและอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ ทำไมค่าจ้างแรงงานไทยกลับขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

ปรากฏการณ์ที่ค่าจ้างไม่เร่งตัวแม้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำไม่ได้เกิดเฉพาะในไทย แต่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษในช่วงหลังวิกฤติการเงินโลก การวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ว่าอัตราการว่างงานอาจไม่ใช่เครื่องชี้วัดความตึงตัวของตลาดแรงงานได้ดีเหมือนในอดีต เนื่องจากพบว่าตลาดแรงงานในประเทศเหล่านี้ยังมีระดับ slack หรืออุปทานส่วนเกินของแรงงานอยู่พอสมควรแม้อัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนได้จากอัตราการเข้าสู่กำลังแรงงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวแล้วจริงหรือ

สำหรับไทย ตัวเลขทั้งสองลดลงเช่นกัน โดยอัตราการเข้าสู่กำลังแรงงานลดจาก 72% ในปี 2012 มาอยู่ที่ 68% ในปี 2017 โดยส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น สัดส่วนของแรงงานผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น แต่อีกส่วนน่าจะเป็นผลจากแรงงานบางส่วนตัดสินใจออกจากตลาดแรงงานเพราะผลตอบแทนไม่ค่อยจูงใจนักในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนชั่วโมงทำงานเฉลี่ยลดจาก 46 ชั่วโมงในปี 2011 เป็น 43 ชั่วโมงในปัจจุบัน (จากรูป) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัดส่วนแรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ตั้งแต่ 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป) ลดลงจาก 34% ของผู้มีงานทำในปี 2011 มาเป็น 19% ในปัจจุบัน หรือลดลงกว่า 6 ล้านคนในช่วง 8 ปี ซึ่งช่วยอธิบายว่าทำไมค่าจ้างค่อนข้างซบเซาในช่วงที่ผ่านมา และชี้ว่าแนวโน้มค่าจ้างแรงงานไม่น่าเร่งตัวมากนักในระยะสั้น เพราะยังมีอุปทานแรงงานส่วนเกินเหลืออยู่ส่วนหนึ่งที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการแรงงานได้ก่อนที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องขึ้นค่าจ้างในอัตราสูง

อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อค่าตอบแทนของแรงงานไทย คือ ผลิตภาพแรงงานที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าในอดีต โดยอัตราการเพิ่มของผลิตภาพแรงงานไทย (วัดจาก GDP ต่อจำนวนผู้มีงานทำ) ลดลงจาก 3.8% ต่อปีในช่วง 1999-2007 มาอยู่ที่ 3.2% ในช่วงปี 2011-2017 สอดคล้องกับอัตราการลงทุนภาคเอกชนของไทยในช่วงหลังที่ต่ำกว่าในอดีต นอกจากนั้น สัดส่วนแรงงานที่มีอายุในช่วง 55-64 ปีที่มากขึ้นตามลำดับ (ปัจจุบันอยู่ที่ 14% ของผู้มีงานทำ) ก็มีส่วนทำให้ค่าจ้างในภาพรวมขึ้นช้ากว่าในอดีต เนื่องจากรายได้ของแรงงานในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเพียง 1.8 % ต่อปีในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเทียบกับ 5.2 % ต่อปีสำหรับแรงงานในช่วงอายุ 25-34 ปี

ปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ เช่น การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน (automation) หรือการแข่งขันกับแรงงานในต่างประเทศผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตและการค้าระหว่างประเทศต่างเป็นปัจจัยที่กดดันให้ค่าแรงโดยเฉพาะแรงงานทักษะต่ำเติบโตช้ากว่าในอดีต อีกสัญญาณที่ต้องจับตา คือ สัดส่วนของจำนวนผู้หางานที่ว่างงานนานกว่า 6 เดือนสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ 24% ของผู้ว่างงาน สะท้อนถึงปัญหาทักษะแรงงานที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด (skill mismatch) ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของผู้ว่างงานระยะยาวและแรงงานที่ตัดสินใจออกจากตลาดแรงงานในระยะข้างหน้า

ข้อมูลข้างต้นชี้ว่า แม้อัตราการว่างงานจะต่ำ แต่ยังมี slack ในตลาดแรงงานไทยอยู่พอสมควร เป็นผลจากทั้งปัจจัยเชิง วัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้างทำให้แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าแรงจะเป็นไปอย่างช้าๆ อย่างน้อยจนกว่าจะเห็นสัญญาณการลดลงของ slack ในตลาดแรงงานที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนั้น นโยบายเศรษฐกิจมหภาคในระดับผ่อนคลายหรืออย่างน้อยการลดระดับความผ่อนคลายในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน อยู่ แต่นโยบายการเงินหรือการคลังจะไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ สิ่งสำคัญ คือ การปฏิรูปเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆควบคู่กับการยกระดับทักษะแรงงานทั้งการศึกษาภาคปกติและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้แรงงานไทยสามารถปรับตัวภายใต้เศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ