คุณธรรมเศรษฐี (Integrity) : กรณีศึกษา “สิทธาเศรษฐี” (2)

คุณธรรมเศรษฐี (Integrity) :  กรณีศึกษา “สิทธาเศรษฐี” (2)

ตอนที่แล้วกล่าวถึงความหมายของเศรษฐีตามรากศัพท์ดั้งเดิมสรุปความว่า เศรษฐีกับคนรวยนั้นแตกต่างกัน คนมีทรัพย์มากหรือไม่มีทรัพย์มาก

หากแต่มีคุณธรรมความดีก็เรียกเศรษฐีได้ ส่วนคนร่ำรวยด้วยทรัพย์สินนั้นไม่ได้เป็นเศรษฐีกันทุกคน เพราะนอกจากความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทองแล้วยังต้องเป็นคนดีด้วย เรียกได้ว่าต้องมี “คุณธรรมของเศรษฐี” ด้วยจึงจะเป็นเศรษฐีจริงๆ

ผู้เขียนเห็นว่า เศรษฐีที่มีคุณธรรมของเศรษฐีสอดคล้องกับความหมายดั้งเดิมของเศรษฐีที่ยกมาเมื่อตอนที่แล้ว ปรากฏในนวนิยายของ จำลอง ฝั่งชลจิตร เรื่อง สิทธาเศรษฐี และเรื่องสั้นของนักเขียนคนเดียวกันชื่อ สิทธา(integrity)” ในรวมเรื่องสั้น เมืองบ้านผม ซึ่งเขียนถึงเรื่องราวของเศรษฐีเชื้อสายอินเดียเจ้าของร้านขายผ้าในเมืองนครศรีธรรมราชชื่อ สิทธา ชวาลา หรือ จิมมี่ ชวาลา

คุณธรรมเศรษฐี (Integrity) :  กรณีศึกษา “สิทธาเศรษฐี” (2)

ก่อนจะรู้จักกับเจ้าของเรื่องคือ สิทธาเศรษฐี ก็ขอมาทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า integrity ซึ่งเป็นคำจำกัดความของ “คุณธรรมเศรษฐี” กันก่อน

คำนี้แปลได้อย่างน้อย 2 ความหมาย นั่นคือ 1. ความมีศีลธรรมจรรยา 2. ความสมบูรณ์พร้อม ความหมายแรก หากเปิดดูพจนานุกรมโดยทั่วไปมักแปลว่า ความซื่อสัตย์สุจริต หรือ ความซื่อตรง ตรงกับความหมายของคำว่า honesty ซึ่งพิจารณาดูแล้วก็เป็นความหมายที่ยังไม่ครอบคลุมถึงคำว่า “คุณธรรม” ได้ครบถ้วน แต่ใน Longdo Dictionary Online (dict.londo.com) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ความมีศีลธรรมจรรยา ความซื่อสัตย์” ผู้เขียนจึงเห็นว่า เป็นความหมายที่ครอบคลุมคำว่า “คุณธรรม” กินความหมายทั้งในระดับพื้นผิวและระดับลึกซึ้ง

ระดับพื้นผิวคือ  คนๆ มักจะได้ยินคนพูดถึงคนหนึ่งคนใดว่า เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตอยู่เสมอๆ แต่ระดับพื้นผิวนี้ยังไม่ความไม่แน่นอนอยู่ เพราะไม่แน่ว่าจะจริงเสมอไป อาจมีการ “สร้างภาพ” กันได้

ระดับลึกคือ ความมีศีลธรรมจรรยา ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ 1.ศีล คือข้อห้ามซึ่งมีในทุกศาสนา อาจเรียกต่างกัน สำหรับศาสนาพุทธมี ศีลห้า สำหรับคนทั่วไป 2.ธรรม คือข้อปฏิบัติซึ่งมีในทุกศาสนาเช่นกัน สำหรับศาสนาพุทธมีมากมาย เช่น พรหมวิหารสี่, สังคหวัตถุสี่ สำหรับคนทั่วไปปฏิบัติต่อกัน 3.จรรยา คือกฎกติกา ข้อปฏิบัติ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมถึงระเบียบข้อบังคับ แนวทางในการทำงานในแต่ละอาชีพซึ่งมี “จรรยาบรรณ” ในอาชีพ ก็รวมไว้ในนี้ด้วย การที่ใครก็ตามเป็นผู้มี “ศีลธรรมจรรยา” (ใครนับถือศาสนาใดก็ปฏิบัติตามศีลธรรมจรรยาของศาสนาตน) ย่อมเกิดจากจิตสำนึกนึกที่ประกอบด้วยความเชื่อและความศรัทธา ไม่สามารถบังคับได้ ผู้ที่มีศีลธรรมจรรยาจึงเกิดจากความรู้และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความดีงามของการมีศีลธรรมจรรยาและความซื่อสัตย์ซึ่งต้องผ่านกระบวนการหล่อหลอมอย่างยาวนาน

อย่างที่กล่าวมาว่า ความซื่อสัตย์ ซึ่งเป็นระดับพื้นผิวบังคับได้ด้วยกฎระเบียบและการลงโทษ อาจเกิดขึ้นจากการสร้างภาพกันได้ ดังที่เห็นกันอยู่เสมอว่า ผู้ที่ได้รับการยอมรับและการยกย่องว่าเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต กลับกลายเป็นตรงกันข้ามเมื่อถูกจับได้ ถูกขุดคุ้ย เปิดโปง นั่นเพราะเขาไม่มีศีลธรรมจรรยานั่นเอง หากคนมีศีลธรรมจรรยาแล้ว ความซื่อสัตย์สุจริตที่แสดงออกมานั้นย่อมไม่ใช่เกิดจากการสร้างภาพแต่เกิดจากตัวตนที่แท้จริงของคนๆ นั้น เป็นความซื่อสัตย์สุจริตที่แท้จริง

เมื่อความหมายแรก คือ ความมีศีลธรรมจรรยา รวมกับความหมายที่สอง คือ ความสมบูรณ์พร้อม หรือบางท่านเรียกว่าบูรณภาพ จึงรวมความว่า ความมีหรือการมีศีลธรรมจรรยาที่สมบูรณ์พร้อม เป็นคุณธรรมของเศรษฐีที่แท้จริง

ความมีศีลธรรมจรรยาที่สมบูรณ์พร้อม ย่อมประกอบด้วย 1.ความมีศีลธรรมจรรยาในการประกอบอาชีพ ที่เป็นสัมมาชีพและดำเนินไปโดยสุจริต ไม่เบียดเบียน ไม่คดโกง ไม่ผิดกฎหมาย ไม่เอาเปรียบใคร 2.การดำเนินชีวิตไปตามทำนองคลองธรรม ที่เรียกว่า เป็นคนดี ไม่ทำผิดศีลธรรมศาสนาและกฎหมายบ้านเมือง 3.มีความปรารถนาดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละเพื่อผู้อื่น ซึ่งทั้ง 3 ประการนี้มีพร้อมใน เศรษฐีที่แท้ อย่างเช่น นางวิสาขามหาอุบาสิกาและอนาถบิณฑิกะเศรษฐีในสมัยพุทธกาลซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก ทั้งสองท่านนั้นเป็นเศรษฐีที่เรียกว่าอภิหาเศรษฐีเพราะมีทรัพย์มากมายจนนับมิถ้วน

สิทธา ชวาลา ก็ถือได้ว่าเป็นเศรษฐีแม้เขาอาจมีทรัพย์ไม่มากมายเท่านางวิสาขาหรืออนาถบิณฑิกะเศรษฐี แต่ดำเนินชีวิตของเขานั้นก็ไม่ต่างกัน นั่นคือ เขามีคุณธรรมของเศรษฐีครบถ้วนเช่นเดียวกับสองท่านในสมัยพุทธกาล

เราจะมาค่อยๆ ทำความรู้จักเขาและศึกษาคุณธรรมของเศรษฐีผ่านเรื่องสั้นและนวนิยายที่จำลอง ฝั่งชลจิตร เขียนไว้รวมถึงสิ่งที่สิทธา ชวาลา ได้กระทำไว้ซึ่งปรากฏตามสื่อต่างๆ ในตอนต่อๆ ไป