สัมปทานดิวตี้ฟรีกับเงินแสนล้าน (จบ)

สัมปทานดิวตี้ฟรีกับเงินแสนล้าน (จบ)

ในบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้หยิบยกการแบ่งสัมปทาน ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีของเกาหลีใต้ เปรียบเทียบกับไทยซึ่งทำให้เห็นผลลัพธ์ความต่างมหาศาล

ในด้านรายได้ที่เกาหลีใต้สามารถทำได้สูงกว่าไทยอย่างมาก

เพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาสอย่างที่แล้วมา สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาคอีก 3 แห่งจะหมดอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้า ในบทความที่ผ่านมาผู้เขียนได้เสนอแนะนโยบายสำคัญประการแรกคือ รัฐบาลต้องเปิดให้มีการประมูลสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในพื้นที่สนามบินแต่ละแห่งโดยการแบ่งสัมปทานตามประเภทของสินค้า (category concession) เพื่อที่จะได้สินค้าที่หลากหลายและมีคุณภาพและเพื่อที่จะเพิ่มรายได้จากสัมปทาน

ส่วนนโยบายสำคัญประการที่สองที่จะลงลึกรายละเอียดคือ การเปิดให้มีการแข่งขันในการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีในเมืองโดยมีการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการหลายรายในหลายพื้นที่ แต่ทั้งนี้จะต้องมีจุดมอบสินค้ากลาง (หมายถึงจุดมอบสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในเมือง หรือที่เรียกว่า pick up counter) ที่สนามบินนานาชาติเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับสินค้าที่ซื้อมาก่อนเดินทางกลับได้ 

ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็น เพราะที่ผ่านมา บมจ. ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีการกำหนดให้มีจุดมอบสินค้ากลางที่ร้านดิวตี้ฟรีทุกรายสามารถใช้ร่วมกันได้ ทำให้แม้จะมีการเปิดให้มีร้านค้าปลอดภาษีในตัวเมืองหลายราย แต่ก็ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวได้เพราะไม่มีจุดที่จะให้ลูกค้าไปรับสินค้าที่สนามบิน ยกเว้นจะใช้ระบบ sealed bag ที่จะต้องแสดงสินค้าที่บรรจุในถุงพิเศษที่ยังไม่เปิดต่อศุลกากรก่อนที่จะออกเดินทางออกจากประเทศ

อนึ่ง ที่ผ่านมาได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวโดยในกรณีของสนามบินภูเก็ตกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานดิวตี้ฟรีที่สนามบินต้องจัดจุดมอบสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองทุกราย (ในอนาคต) แต่ผู้เขียนเห็นว่าวิธีการดังกล่าวไม่น่าจะเหมาะสม เพราะจะมีคู่แข่งรายไหนที่อยากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทและราคาของสินค้าที่ตนจำหน่ายให้แก่คู่แข่ง อันที่จริงแล้ว จุดส่งมอบสินค้าควรดำเนินการโดยผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับร้านค้าปลอดภาษีรายใดรายหนึ่ง ในบางประเทศ กฎหมายกำหนดให้ท่าอากาศยานต้องเป็นผู้ให้บริการจุดรับมอบสินค้าหรือ pick up counter เอง หากท่านผู้อ่านลองไปเปิดดูเว็บกี่ยวกับ pick up counter ของสนามบิน Haneda หรือ Narita จะพบว่าเป็นเว็บของสนามบิน ไม่ใช่ของร้านค้าดิวตี้ฟรีเอกชนรายใดรายหนึ่ง

ที่ผ่านมามีข่าวออกมาเป็นระยะว่า บมจ. ท่าอากาศยานไทยมีแนวโน้มว่าจะเลือกระบบสัมปทานแบบเดิม คือ Master concession เพราะ “บริหารง่าย” แต่ถ้าความง่ายในการบริหารนั้นมีต้นทุนต่อประเทศอย่างมหาศาลทั้งในรูปแบบของรายได้ของประเทศและรายได้ของ ทอท. หากคิดง่ายๆ ว่าหากเราสามารถเพิ่มรายได้จากการซื้อสินค้าปลอดภาษี 5 เท่า จากประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็น 3.3 แสนล้านบาทเท่ากับเกาหลีใต้ ประเทศจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 2.6 แสนล้านบาท และค่าธรรมเนียมสัมปทานเพิ่มจากร้อยละ 17 เป็น ร้อยละ 40 รายได้ของ ทอท. ก็จะเพิ่มขึ้นอีกถึงแสนกว่าล้านบาทต่อปี ซึ่งหมายถึงเงินนำส่งรัฐที่สามารถใช้ในการพัฒนาประเทศที่มากขึ้น ในปีงบประมาณ 2561 ทอท. นำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นวงเงิน 8,600 ล้านบาท

ทอท. แจ้งว่ากำลังให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษารูปแบบสัมปทานที่เหมาะสม ผู้เขียนเห็นว่า การตัดสินใจเลือกรูปแบบสัมปทานไม่ว่าจะรูปแบบเดิมหรือแบบใหม่ควรอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและการวิเคราะห์ที่รอบคอบและรอบด้าน ซึ่งหมายความว่า ทอท. ควรเปิดเผยชื่อของบริษัทที่ปรึกษาและรายงานผลการศึกษาของที่ปรึกษาทั้งฉบับให้สาธารณชนได้รับทราบเนื่องจาก ทอท. เป็น “หน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการ 

ผู้เขียนเห็นว่า ถ้ารายงานของที่ปรึกษามีข้อมูลและเหตุผลที่สามารถแสดงให้เห็นว่าการมีสัมปทานเดียวที่เรียกว่า master concession จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศและแก่ ทอท. ได้ทัดเทียมกับการมีสัมปทานหลายสัญญาแบบในเกาหลีใต้ได้ก็คงเป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับได้ และหากมีการยึดโยงผลการประเมิน ทอท. และโบนัสของผู้บริหารองค์กรเข้ากับผลการดำเนินงานในส่วนนี้ก็ยิ่งจะทำให้ประชาชนอุ่นใจมากขึ้นว่าการตัดสินใจดังกล่าวได้มีการประเมินอย่างรอบคอบแล้ว แต่การตัดสินใจที่ขัดกับแนวปฏิบัติที่เป็นสากลโดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและเหตุผลประกอบการตัดสินใจในรายละเอียดไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับได้

 โดย... เดื่อนเด่น นิคมบริรักษ์