‘ดีดอส’ เครื่องมือการประท้วง

‘ดีดอส’ เครื่องมือการประท้วง

หลายองค์กรมีโอกาสถูกโจมตีทั้งการเมืองหรือการแข่งขันทางธุรกิจ

ภัยร้ายอย่าง "ดีดอส (Distributed Denial of Service : DDoS)" ซึ่งเป็นรูปแบบการโจมตีเครือข่ายที่ทำให้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ไม่สามารถทำงานได้ปกติ โดยเป็นภัยร้ายที่น่าจับตามองด้วยอัตราการเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 50% ในไตรมาสแรกของปี 2561 เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว 

โดยการโจมตีแบบดีดอสสามารถสร้างความเสียหายได้อย่างน่ากลัว โดยในปีนี้มีเหตุการณ์โจมตีดีดอส ขนาดใหญ่ที่น่าสนใจคือ การโจมตี Github เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสร้างสถิติการโจมตีในการยิง ดีดอส ถึง 1.3 เทราไบต์ต่อวินาที และหลังจากนั้นเพียง 5 วัน บริษัทให้บริการเทเลคอมของอเมริกาทำลายสถิติด้วยสถิติใหม่ 1.7 เทราไบต์ต่อวินาที 

อย่างไรก็ตาม ด้วยจุดหมายหลักของการโจมตีแบบดีดอส คือทำให้เหยื่อไม่สามารถดำเนินงานหรือปฏิบัติงานได้ จึงถูกนิยมใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือการประท้วงต่างๆ

โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์โจมตีบริษัท RWE ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของเยอรมัน โดยแฮกเกอร์ใช้การโจมตีด้วยดีดอสเพื่อประท้วงการขุดเหมืองถ่านหิน การโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีเว็บไซต์ของ RWE ซึ่งทำให้เว็บไซต์ใช้การไม่ได้ โดยการโจมตีเกิดขึ้นระหว่างที่ทางตำรวจพยายามเคลียร์พื้นที่ของกลุ่มผู้ประท้วงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มาตั้งแคมป์ในป่าฮัมบาค (Hambach) ซึ่งเป็นพื้นที่ทาง RWE วางแผนจะทำเหมืองถ่านหิน 

อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์ประท้วงหรือทางการเมืองใหญ่ๆ หลายครั้งที่มีการนำดีดอสมาใช้เป็นเครื่องมือ ใกล้ตัวเราที่สุด คือ การประท้วง Single Gateway ที่เหล่าผู้ประท้วงปล่อยการโจมตี ซึ่งทำให้เว็บไซต์ราชการของไทยหลายหน่วยงานล่ม และกรณีการโจมตีเครือข่ายประเทศจอร์เจียในปี 2008 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลจอร์เจียย้ายเซิร์ฟเวอร์ไปไว้ในเครือข่ายประเทศสหรัฐอเมริกา และสื่ออย่าง CNN ที่หลังจากผู้สื่อข่าวได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องการจัดงานโอลิมปิกประเทศจีนในปี 2551 ทำให้ชาวจีนไม่พอใจและนำไปสู่การโจมตีเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น ด้วยดีดอสในที่สุด

หลายองค์กรอาจมีโอกาสถูกโจมตี ไม่ว่าจะในแง่ของการเมืองหรืออาจในแง่ของการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นการป้องกันการโจมตีดีดอส เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องคำนึง นอกเหนือจากการเตรียมแบนด์วิช(Bandwidth) สำรองไว้ ยิ่งองค์กรใหญ่จำเป็นที่ต้องพึ่งพาระบบป้องกันดีดอส (DDoS Protection) ที่พร้อมรับมือได้ ซึ่งควรมีระบบดูแลเน็ตเวิร์คแอพพลิเคชั่น หรือ เว็บแอพพลิเคชั่นที่มีความสามารถในเรื่องการป้องกันดีดอสและช่วยลดความรุนแรงของการโจมตีจากดีดอส(DDoS Mitigation) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความเสียหายจากการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้