อาการไหว้เจ้า ไม่ได้ถามเจ้าทางการศึกษา

อาการไหว้เจ้า ไม่ได้ถามเจ้าทางการศึกษา

ชะตากรรม กรรมร่วม หรือแม้แต่ผู้ร่วมชะตากรรมทางการศึกษา คำนี้ผู้เขียนนำมาสะท้อนถึงการศึกษาของไทย ซึ่งกำลังอยู่ในบรรยากาศปฎิรูปที่กำลังเป็นอยู

และประเมินรอบ 4  ในฐานะการศึกษาเป็นคลังปัญญาของชาติ การศึกษาจึงต้องมีบทบาทชี้นำสังคม ยิ่งในปัจจุบันสังคมได้เปิดกว้าง ไทย (สมอง) ของคนในชาติ มิอาจปฏิเสธการรุกรานจากต่างชาติจากกรอบอาเซียน และนานาชาติในนามเสรีไร้พรมแดนทางการค้า ไม่เว้นแม้แต่การศึกษา ที่รุกคืบในลักษณะซึมซับสู่สังคมไทย นับวันมีแนวโน้มหักโหม วาทกรรมความเป็นนานาชาติ ความทันสมัย ได้เป็นคำที่มีพลังที่ยากจะปฏิเสธเมื่อถูกยึดโยงเข้ากับการศึกษาได้มีพลังหักโหมสังคมไทยยิ่งนัก

หากเหลียวหลังแลหน้าอย่างถี่ถ้วนแล้ว เกิดคำถามว่า การศึกษาไทยได้ลงทุน หรือใช้ทุนเพื่อการศึกษา สมเหตุสมผลหรือไม่ เราหันเป้าสู่ความเป็นนานาชาติทางการศึกษา ได้ทิ้งประชากรส่วนมากจากกรอบการศึกษาอย่างนั้นหรือ แม้มาตรา 3 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษา ความเสมอภาคทางการศึกษา ... ลดความเหลื่อมล้ำทางการการศึกษา รวมทั้งเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู” ได้ระบุไว้ก็ตาม และจากข้อมูลการประเมินการลงทุนเพื่อการศึกษาจากต่างชาติในอาเซียน พบว่าไทยมีจุดคุ้มทุนมากทีสุด 

จากประเด็นนี้ สามารถวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ได้หลายประการ กล่าวคือ ด้านการลงทุน ไทยมีศักยภาพเป็นแหล่งลงทุน สืบเนื่องจากมีวัฒนธรรมนิยมความทันสมัย เป็นสังคมรับไม่นิยมสร้าง หากรับฟังอย่างไตร่ตรองมีความเป็นจริงมากน้อยประการใด 

ในแง่การศึกษาผู้เขียนเห็นว่า มีความเป็นจริงค่อนข้างมาก บางครั้งขาดสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ขาดการวิจัยค้นหาองค์ความรู้เพื่อพัฒนา เพราะไปหลงในวิชาจากแดนไกล ระบบจับวาง (copy and past) ทางการศึกษา ได้เป็นสูตรสำเร็จดังอาหารจานด่วน “ มีมูลเหตุอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร สัมพันธ์กับอะไร จะเป็นอย่างไร หรือแม้แต่จะสังเคราะห์อย่างไร” ไม่ได้เข้าไปกระตุ้นการคิด การคิดไม่ได้พัฒนาเพราะการจับวางเป็นสูตรสำเร็จ หรือมักคว้า แต่ไม่ชอบค้นหาพัฒนา (วิจัย) 

ด้านการจัดการศึกษา ที่เน้นคุณภาพ ได้ประสบปัญหาในแง่การจัดการ การประเมินที่มีลักษณะจัดเตรียมเอกสารจัดหาหลักฐานมารองรับ เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานตัวชี้วัด บรรยากาศจึงเกิดความโกลาหลเพื่อการประเมิน บางครั้งเลิกหรือลดเวลาสอนเพื่อการประเมิน ยิ่งนานวันกำลังเป็นวัฒนธรรมเอกสาร 

ด้านหลักสูตร หลักสูตรในฐานะเครื่องปรุงสำคัญทางการศึกษา มีลักษณะไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและสถานการณ์โลกมากนัก บางครั้งขาดความเข้าใจความเป็นวิชาชีพ ความเป็นวิชาชีวิต (ศึกษาทั่วไป) ส่งผลให้เครื่องปรุงขาดองค์รวม (สังคม อารมณ์ สติ ปัญญา) ความเป็นมนุษย์ ความสำนึกต่อสังคมมันได้ถูกกัดเซาะที่ฐาน จากการศึกษาที่ขาดฐานคิดดังกล่าวนี้ได้เป็นอยู่และมีแนวโน้มหักโหมในสังคมไทยมิอาจปฏิเสธได้ การจัดการการศึกษาในด้านหลักสูตรมีลักษณะจัดให้ครบ หรือจัดให้มีเฉกเช่นไหว้เจ้าตามประเณี โดยไม่ถามหรือตระหนักว่าเจ้าต้องการอะไร ทั้งที่มีช่องทางของหลักสูตรสถานศึกษาเปิดให้สถานศึกษาสามารถปรับให้สอดคล้องตามภูมิท้องถิ่นนั้นๆ หรือรายวิชาเลือกเสรี แต่ไม่เสรีและมีความหลากหลายพอ 

เราต้องยอมรับว่า เราตกอยู่ภายใต้กรอบมิจฉาทิฏฐิของระบบสังคมที่ผูกโยงกับ วาทกรรม การศึกษาเพื่อปริญญา ขาดการเตรียมคนที่ไม่ได้มุ่งสู่ปริญญา ซึ่งเป็นคนส่วนมากของสังคม เขาได้เป็นส่วนเกินจากกรอบปริญญาเหล่านั้นจะดำรงอยู่อย่างไร เท่ากับสิ่งที่ไหว้เจ้าได้สูญเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาเป็นดังดึงคนจากป่าแต่ไม่ได้ศาสตราวุธใด ๆ ที่จะพึงมีพร้อมเผชิญสัตว์ร้ายกำลังคืบคลานรุกรานชุมชนเขา ค่าการศึกษาต้องขับเคลื่อนจากมุ่งสู่ปริญญาเป็นด้านหลัก แต่มุ่งเพื่อดำรงชีพได้ เยาวชนได้ใช้เวลานับสิบปีจนย่างสู่วัยทำงาน ยุทธศาตร์ต้องมีรองรับคนกลุ่มนี้ในกรณีไม่ได้ไปต่อบนเส้นทางปริญญา เขาจะอยู่และพัฒนาชุมชนอย่างไร 

มิฉะนั้นแล้วสังคมจะขาดความยั่งยืนในระยะยาว และด้านคุณภาพทางการศึกษา ประเด็นนี้เป็นหลักสำคัญ คุณภาพสัมพันธ์กับ คน ทุน วัตถุดิบ และวิธีการ ซึ่งรายละเอียดมีมาก (ขอไม่กล่าวในตรงนี้ด้วยพื้นที่กระดาษ) จากการจัดอันดับคะแนนด้านการศึกษาโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OEDC พบว่าความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ความสามารถทางการอ่าน และความสามารถทางคณิตศาสตร์ ครั้งล่าสุดนี้ประเทศไทยมีคะแนนทั้ง 3 ส่วนอยู่ในกลุ่มประเทศระดับความสามารถทางการศึกษาต่ำ หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น แนวโน้มคงที่แปลว่าถอยหลังเมื่อประเทศอื่นในอาเซียนได้ก้าวไปเรื่อยๆ ที่นำมาปรารถครั้งนี้ 

เพื่อเป็นโจทย์ การศึกษาเป็นปัญหาที่เราจะต้องแก้ไข แม้เรามีการปฏิรูปการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีท่าทีที่จะดีขึ้น เราต้องหันมาสำรวจตนอย่างตระหนัก ภายใต้ คน ทุน วัตถุดิบ และวิธีการ เพียงปฏิรูปคงไม่พอ จะต้องกล้าที่ตอบรับ ทบทวน (ปฏิวัติ) ทั้งระบบ อย่าลืมว่าการศึกษาคือปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ หากการศึกษาล้มเหลว การตั้งความหวังให้ประเทศพัฒนาเพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก แล้วจะวนอยู่ในชะตากรรมร่วม ต้องกล้าที่จะออกจากวังวนแบบเดิม

โดย... 

ผศ.ดร.ชมพู โกติรัมย์

วิทยาลัยดุสิตธานี