“Sharing City” ยุทธศาสตร์เมืองแห่งอนาคตของเกาหลีใต้

“Sharing City” ยุทธศาสตร์เมืองแห่งอนาคตของเกาหลีใต้

ที่จริงแล้ว เศรษฐกิจแบ่งปันไม่ใช่เรื่องใหม่ มนุษย์เรามีการแบ่งปันสิ่งของต่างๆ เพื่อแลกกันใช้งานหรือร่วมกันใช้งานมาตลอดห้วงเวลาอารยธรรมมนุษย์

โดยเฉพาะเมื่อเรายังอยู่ในสังคมขนาดเล็กแบบชุมชนที่คนส่วนใหญ่รู้จักและเชื่อถือกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมพัฒนาขยายตัวขึ้น จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบตลาด ต่างคนจึงต่างซื้อสิ่งของต่างๆ จากตลาดแทน ทำให้กระบวนการแบ่งปันสิ่งของลดน้อยลง

แต่แล้ว ในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและการเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และสตาร์ทอัพ ก็ได้ทำให้เศรษฐกิจแบ่งปันกลับมาเป็นไปได้จริงในโลกยุคใหม่อีกครั้ง และคนเราสามารถกลับมาแบ่งปันสิ่งของกันอย่างสะดวกและเชื่อถือได้อีกครั้ง

โดยปัจจุบันนี้ มีการแบ่งปันสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายจำนวนมาก ทั้งในด้านบริการเดินทางขนส่ง (เช่น Uber, Zipcar, boatsetter) สเปชและที่อยู่อาศัย (เช่น Airbnb, Pivotdesk, Spacer) ทักษะ (เช่น Fiverr, Upwork, Crowdspring) การเงิน (เช่น ZOPA, Kickstarter) สุขภาพ (เช่น Dr. On demand, Crowdmed) การศึกษา (Skillshare, Udemy) และสิ่งต่างๆ อีกมากมาย เศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy จึงมีขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างสูง โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

  แนวโน้มที่น่าสนใจและน่าจับตามองในปัจจุบัน คือ เมืองแบ่งปันหรือ “Sharing City” ซึ่งเป็นการนำเศรษฐกิจแบ่งปันมาใช้ในพื้นที่เมืองต่างๆ ก็กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเมืองต่างๆ ได้นำแนวคิดเรื่องเมืองแบ่งปันมาเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง โดยเมืองที่โดดเด่นที่สุดและเป็นผู้นำในด้านนี้คือ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

ทั้งนี้ รัฐบาลกรุงโซล (Seoul Metropolitan Government: SMG) เกาหลีใต้ ถือเป็นตัวอย่างที่สร้างสรรค์ในการบริหารจัดการเมือง โดยเฉพาะ โครงการเมืองแบ่งปันที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก รัฐบาลกรุงโซลได้เข้าไปจัดการกับปัญหาต่างๆ เช่น บริการขนส่ง ที่จอดรถ ที่พักอาศัย และสิ่งแวดล้อม โดยใช้ นโยบายเมืองแห่งการแบ่งปัน” (Sharing City) เพื่อช่วยแก้ปัญหาของประชาชน เช่น ลดค่าเลี้ยงดูแลเด็ก ลดค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารถยนต์ โรงเรียนแบ่งปัน พิพิธภัณฑ์แบ่งปัน ชุมชนแบ่งปัน ฯลฯ โดยล่าสุดในปีนี้มีวิธีการแบ่งปันสิ่งต่างๆ สูงมากถึงกว่า 300 วิธี

รัฐบาลกรุงโซลมีบทบาทในการขับเคลื่อน Sharing City อย่างมาก กล่าวคือ

-มีบทบาทสนับสนุนองค์กรและธุรกิจจำนวนมากที่ให้บริการแบ่งปัน นับตั้งแต่ที่มีการประกาศให้กรุงโซลเป็นเมืองแห่งการแบ่งปัน ทำให้ยอดขายของธุรกิจที่ให้บริการแบ่งปันได้เพิ่มขึ้น 9 เท่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

-วางรากฐานให้เกิดเมืองแบ่งปันโดยการออกกฎหมายเศรษฐกิจแบ่งปัน และประกาศใช้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการแบ่งปัน รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ

-เปิดตัว ‘Share Hub’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดเศรษฐกิจแบ่งปันในเมือง โดยเมืองแห่งการแบ่งปันของกรุงโซลโด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก จนมีเมืองกว่า 100 แห่งได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายการแบ่งปันของกรุงโซล

ที่น่าสนใจคือรัฐบาลกรุงโซลมีเครื่องมือในการสนับสนุนให้เกิดการแบ่งปันในทางปฏิบัติหลายอย่าง เช่น ให้คำปรึกษา ประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนด้านการเงินให้กับองค์กรและธุรกิจที่ให้บริการด้านการแบ่งปัน มูลค่าประมาณ 5 ล้านวอนต่อบริษัท (ประมาณ 150,000 บาท) รวมทั้งสนับสนุนธุรกิจแบ่งปันในเขตรอบๆ กรุงโซลด้วยจำนวนเงิน 3.6 ล้านวอน เช่น บริษัทแบ่งปันรถยนต์ Green Car และ So-car ที่มีจำนวนผู้ใช้รถร่วมกันทั้งหมดประมาณ 850,000 ครั้ง

ตัวอย่างการแบ่งปันที่น่าสนใจมีหลายโครงการ เช่น โครงการ Modu-Parking เป็นการจัดสรรที่จอดรถในที่พักอาศัยที่ว่างในช่วงเวลาทำงาน โดยมีกว่า 2,000 จุดใน 7 เขต บริษัท Kiple ได้แชร์เสื้อผ้าเด็กจำนวน 8 ล้านชิ้น โดยร่วมกับศูนย์รับเลี้ยงเด็ก 230 แห่งในกรุงโซล และบริษัท PJT OK ที่ต้องการเพิ่มจำนวนบ้านที่ใช้ร่วมกันเพื่อลดครัวเรือนคนเดียว

กรุงโซลได้ขยายการแบ่งปันสู่ชีวิตประจำวันของชาวเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โครงการ Resident Parking Only โครงการ One Roof Inter-Generational Sympathy ซึ่งนำแนวคิดเรื่องการแบ่งปันเสื้อผ้าเด็กไปยังย่านต่างๆ ทั่วกรุงโซลและทดลองการใช้รถร่วมกันในอพาร์ทเมนต์คอมเพล็กซ์แทนการทำเพียงแค่ที่จอดรถสาธารณะ หรือโครงการโรงเรียนที่แบ่งปันสำหรับนักเรียนเพื่อให้นักเรียนสามารถเข้าใจแนวคิดในการแชร์และใช้งานได้ตั้งแต่วัยเด็ก นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนสำหรับการแบ่งปันผู้เชี่ยวชาญ และการส่งเสริมการสร้างธุรกิจร่วมกันใหม่ มีการกำหนดชุมชนให้เป็นชุมชนแบ่งปัน โรงเรียนแบ่งปัน พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ก็ขยายเวลาการเปิดดำเนินการไปยังคืนวันหยุดสุดสัปดาห์ รัฐบาลกรุงโซลประเมินว่าการแบ่งปันกันมีประโยชน์อย่างมากและคิดเป็นตัวเงินสูงถึงหลายหมื่นล้านวอน

เศรษฐกิจแบ่งปันและเมืองแบ่งปันเป็นหนึ่งในโอกาสแห่งอนาคตในการพัฒนาเมืองที่สำคัญมาก ซึ่งเมืองแต่ละแห่งจะต้องมองอนาคตร่วมกัน สร้างแพลตฟอร์มในการทำงาน นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และสร้างระบบนิเวศเพื่อกระตุ้นและช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการสร้างโมเดลธุรกิจการแบ่งปันให้สอดคล้องกับบริบทของตน ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะเห็นการแบ่งปันเครื่องจักรทางการเกษตร เทคโนโลยีแปรรูปผลผลิต ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการทางการเงิน การศึกษาและสาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมายที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึง จ่ายเงินจำนวนน้อยและใช้เท่าที่จำเป็น ซึ่งทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่าและลดค่าครองชีพให้กับทุกคนได้อย่างยั่งยืน

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation