ถอดบทเรียน “จีน” แก้ปัญหาอหิวาต์หมู

ถอดบทเรียน “จีน” แก้ปัญหาอหิวาต์หมู

พูดถึงสถานการณ์ของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever -ASF ที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศจีน นับว่ารุนแรง และน่ากังวล

 เพราะโอกาสที่จะลุกลามข้ามประเทศ ข้ามทวีปนั้นมีสูง …. การติดตามวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลจีน และถอดบทเรียนไว้ล่วงหน้า ย่อมเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยพึงกระทำ ไม่ว่าโรคนี้จะระบาดเข้ามาถึงหมูไทยหรือไม่ก็ตาม 

จากหมูป่าสู่หมูเมือง...จากแอฟริกาลามเอเชีย 

อหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดจากเชื้อไวรัส พบครั้งแรกในทวีปแอฟริกา สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานในสภาพแวดล้อมปกติ เช่น ในโรงเรือน สิ่งปูรอง และมูลสัตว์ เชื้อนี้เกิดได้กับสุกรทุกอายุ รุนแรงขนาดที่ทำให้สุกรที่ติดเชื้อต้องตายลงทั้ง 100% ในเวลาอันรวดเร็ว โดยที่ปัจจุบันยังไม่มียารักษา หรือวัคซีนป้องกัน ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมาสู่เกษตรกรเป็นอย่างมาก 

มีข้อมูลบางส่วนที่เชื่อได้ว่าเชื้อไวรัสนี้เกิดจากหมูป่า ซึ่งขณะนั้นไม่มีการกระจายตัวมากนัก โดยในช่วงปี 2007-2014 ก็พบโรคนี้ในสุกรตามฟาร์มเลี้ยงขนาดเล็กแถบชนบทที่ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องระบบ Biosecurity แต่ก็พบเพียง 60 เคส และจัดเป็นโรคประจำถิ่นในกลุ่มประเทศตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา

แต่ในช่วง 4 ปีนี้ (2015-2018) กลับพบการระบาดของอหิวาต์สุกรในวงกว้าง และรุนแรงถึง 700 กว่าเคส ทั้งในยุโรป รัสเซีย และเอเชีย ไล่มาตั้งแต่ประเทศโรมาเนียที่ฆ่าสุกรไปแล้วกว่า 110,000 ตัวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ต่อมาก็ได้ข่าวว่าพบที่รัสเซีย และเมื่อต้นเดิอนสิงหาคมปีนี้ ก็พบการติดเชื้อนี้ครั้งแรกในเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ตามมาด้วยการพบที่ เมืองเหลียนหยุนกัง ซึ่งเป็นเมืองท่าห่างจากนครเซี่ยงไฮ้ไปทางเหนือราว 500 กม. และภายในเดือนเดียวโรค ASF นี้ ก็ระบาดในประเทศจีนถึง 4 มณฑล โดยฟาร์มแต่ละแห่งมีระยะทางห่างกันมากกว่า 1,000 กิโลเมตร และขณะนี้ก็ลุกลามไปแล้วถึง 8 มณฑล

ส่งผลให้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกมาเตือนว่าโรค ASF ในจีนอาจแพร่ไปยังประเทศอื่นในเอเชียได้ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาบสมุทรเกาหลีที่มีการค้าและบริโภคเนื้อหมูกันมาก เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อนี้จะเกิดจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือซากของสัตว์ที่ป่วยหรือตายด้วยโรคนี้ไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการที่เชื้อติดเสื้อผ้าของผู้คน หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก ทั้งทางรถ เรือและเครื่องบิน 

ฆ่าหมูทิ้งไม่พอ ต้องเข้าใจเกษตรกรด้วย

มาตรการที่รัฐบาลจีนใช้ทันที คือการทำลายหมูฟาร์มที่เป็นโรคและฟาร์มโดยรอบในรัศมี 3 กิโลเมตร รวมถึงเฝ้าติดตามฟาร์มอื่นๆในรัศมี 10 กม. อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังมองเห็นว่าการตามไล่ฆ่าหมูที่ติดเชื้อ จะไม่สามารถหยุดการระบาดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากนี่คือปัญหาปากท้องและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของฟาร์มหมูแต่ละแห่ง หากทางการไล่ล่าฆ่าหมูเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีค่าชดเชยช่วยเหลือเกษตรกร ใครจะร่วมมือกับรัฐ มันย่อมต้องเกิดการปกปิดข้อมูล และแอบนำซากหมูออกมาจำหน่ายปะปนในท้องตลาด เพื่อลดการขาดทุน เพราะอย่างไรเชื้อนี้ก็ไม่อันตรายต่อมนุษย์

วิธีการปิดรอยรั่วตรงนี้ คือการออกมาตรการชดเชยให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในอัตรา 1,200 หยวนต่อตัว แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก แต่ก็สามารถอุดรอยรั่วนี้ได้พอสมควร

ขณะที่ฟาร์มของผู้ประกอบการรายใหญ่หลายแห่งในจีนที่ต้องการป้องกันโรคดังกล่าว มิให้เกิดขึ้นในรัศมีใกล้ๆฟาร์มของตน ยังดำเนินการเพิ่มระบบ Biosecurity ขั้นสูงสุด และบางฟาร์มใหญ่ยังทำถึงขนาดกว้านซื้อหมูในฟาร์มขนาดเล็กรอบๆรัศมีฟาร์มของตน ที่มีระบบป้องกันโรคไม่ดีพอ เพื่อทำลายหมูทั้งหมดก่อนที่จะพบว่าติดเชื้อเสียอีก

บทเรียนการบริหารจัดการของรัฐบาลจีนในประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยไม่ควรมองข้าม แม้จีนจะยังไม่สามารถถควบคุมสถานการณ์การระบาดของอหิวาต์สุกรให้นิ่งได้ แต่วิธีการจ่ายค่าชดเชยนี้ ต้องถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่เกิดจาก “ความเข้าใจ” ในความรู้สึกของเกษตรกร เมื่อหวังผลที่ยิ่งใหญ่ในการป้องกันอุตสาหกรรมหมู ปกป้องเศรษฐกิจชาติ จะละเลยเศรษฐกิจในครอบครัวคนเลี้ยงหมูไม่ได้

แม้วันนี้ผมจะเชื่อว่าระบบป้องกันโรคของฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ในบ้านเราจัดอยู่ในมาตรฐานระดับโลก แต่ “เชื้อโรค” คือ “ความเสี่ยง” ที่ไม่เข้าใครออกใคร ประเทศไทยจึงประมาทไม่ได้ .... นอกเหนือไปจากมาตรการงดนำเข้าเนื้อสุกรและซาก รวมถึงมาตรการอื่นๆที่ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการอยู่แล้วนั้น ผมจึงอยากขอให้ท่านตระเตรียม “งบประมาณ” เพื่อการณ์นี้เพิ่มขึ้นอีก อีกส่วนหนึ่ง

ตั้งงบไว้แล้วไม่ได้ใช้เพราะป้องกันโรคได้สำเร็จ ยังดีกว่าเกิดเหตุแล้ว ไม่มีงบใช้จนทำให้เหตุการณ์บานปลายนะครับ

โดย... สมคิด เรืองณรงค์