Digital Revolution กับหุ้นไทย

Digital Revolution กับหุ้นไทย

ช่วงเวลาน่าจะประมาณซัก 10 ปีนับจากนี้ผมคิดว่าเราคงได้เห็น “การปฏิวัติของเทคโนโลยีดิจิตอล” ในประเทศไทยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ที่จริงในประเทศอย่างอเมริกาหรือจีนนั้น  การปฏิวัติในหลาย ๆ  ด้านเริ่มขึ้นแล้วและกำลังส่งผลต่อเทคโนโลยียุคเก่าและแนวทางการดำเนินธุรกิจในยุคเก่าอย่างรุนแรง  ราคาหุ้นของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ชนะเติบโตขึ้นมหาศาลในขณะที่หุ้นในโลกยุคเก่าตกต่ำลงอย่างรุนแรงเป็นเครื่องสะท้อนภาวะของการต่อสู้นี้ 

ร้านค้าปลีกยุคเก่าที่อาศัยสถานที่และร้านค้าดึงดูดลูกค้ามาซื้อของในอเมริกาเกือบทั้งหมด กำลังตกที่นั่งลำบากเพราะอะมาซอนขายสินค้าแบบ “อีคอมเมิร์ซ” ที่มีต้นทุนต่ำกว่า  ขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่า แต่เสนอคุณภาพและความสะดวกสบายไม่แพ้หรือดีกว่าร้านค้าที่ลูกค้าต้องเดินทางไปซื้อที่ร้าน  ผลก็คือ  ร้านค้าจำนวนมากขายสินค้าได้น้อยลงมาก  หลาย ๆ กิจการรวมถึงกิจการที่เคยยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในอดีตต้องปิดตัวลง แม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่ไม่คุ้มกับการขายผ่าน e-commerce เองนั้น 

ล่าสุดก็ต้องตกใจว่าวันหนึ่งก็อาจจะถูก Disrupt หรือทำลายล้างโดยร้านสะดวกซื้อรูปแบบใหม่ของอะมาซอนที่ขายของโดยไม่ต้องใช้คนคิดเงินแต่ใช้เทคโนโลยีผ่านระบบโทรศัพท์มือถือของลูกค้าที่เข้ามาซื้อของในร้านแทน  เพราะร้านค้าทดลองดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ  และมันกำลังจะถูกขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นพัน ๆ  สาขาในเวลาอันสั้น

ธุรกิจรถยนต์และสินค้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึงการขุดเจาะน้ำมัน  โรงกลั่น  ปั๊มน้ำมันและบริษัทประกันภัย  กำลังถูกรถไฟฟ้าที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองปฏิวัติ   ถ้าเข้าใจไม่ผิด  เวลานี้รถไฟฟ้ารวมถึงระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเองในประเทศอย่างอเมริกาก็ออกมาอยู่ในท้องถนนจริง ๆ  แล้ว  แม้ว่าในทางปฏิบัติคนก็คงยังต้องนั่งหน้าพวงมาลัยและ “รับผิดชอบ” หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น  ในไม่ช้ารถไฟฟ้าก็จะกระจายไปเป็นวงกว้างโดยเฉพาะในประเทศที่ร่ำรวยกว่า   สุดท้ายเมื่อราคารถถูกลงประเทศที่รวยน้อยกว่าก็จะเริ่มใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

ในประเด็นนี้ผมยังจำได้ว่าสมัยก่อนบ้านเราใช้รถแมนนวลเป็นหลัก  คือคนขับต้องควบคุมครัชเวลาเปลี่ยนเกียร์  ต่อมาเราก็เริ่มใช้รถเกียร์ออโตเมติกมากขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงปัจจุบันที่รถเกียร์ออโตเมติกกลายเป็นรถหลักที่เราใช้  บางทีการใช้รถไฟฟ้าแทนรถใช้น้ำมันก็อาจจะพัฒนาในทิศทางเดียวกัน

 ประเด็นสำคัญสำหรับนักลงทุนก็คือ  ธุรกิจในประเทศไทยเราจะถูกกระแสการปฏิวัติทำลายล้างเร็วแค่ไหน  บริษัทไหนหรือกลุ่มไหนที่จะอยู่รอดหรือสามารถปรับตัวและใช้เทคโนโลยี “ทำลายล้างตัวเอง” และกลายเป็นผู้ชนะในเกมใหม่ของธุรกิจ  การวิเคราะห์และคาดการณ์ในประเด็นเหล่านี้ได้ถูกต้องจะทำให้เราสามารถลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดีต่อไปได้ ในทางตรงกันข้าม  ถ้าเราไม่ตระหนักว่ากระแสของการปฏิวัติกำลังมาและมันจะกระทบบริษัทและหุ้นที่เราถืออยู่อย่างรวดเร็ว  หายนะก็อาจจะเกิดขึ้นได้

เริ่มที่ผู้ค้าปลีกเองนั้น  ผมคิดว่าร้านขายหนังสือและคนทำหนังสือพิมพ์หรือแมกกาซีนน่าจะเหนื่อยมาก  เหตุผลอาจจะไม่ใช้เรื่องของระบบการขายเสียทีเดียวแต่น่าจะมาจากการที่คนมีเวลาในการอ่านหนังสือเล่มน้อยลงเพราะเขาต้องอ่านในสื่อสังคมและในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมากขึ้น  ดังนั้น  ธุรกิจเหล่านั้นคงต้องค่อย ๆ ลดขนาดลงและโมเดลธุรกิจอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไป  สุดท้ายแล้วก็อาจจะมีคนอยู่รอดแต่เป็นบริษัทที่เล็กลงมี Market Cap. ที่เล็กลง  ไม่สามารถที่จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ได้

กลุ่มบันเทิงและสื่อต่าง ๆ  รวมถึงทีวี  ภาพยนตร์  การโฆษณาแบบดั้งเดิม  ผมคิดว่าอนาคตนับวันก็น่าจะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ  เหตุผลก็เพราะว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตอลทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลงมาก   ทุกคนสามารถผลิต Content หรือเนื้อหาและเสนอ “ขาย” ออกสู่ตลาดได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำและดึงดูดสายตาคนดูทำให้ผู้นำเดิมมีส่วนแบ่งตลาดลดลง  มีจำนวนผู้ดูน้อยลง  พูดง่าย ๆ  เรตติ้งแบบสูง ๆ  อย่างสมัยก่อนจะทำได้ยากมาก 

ผมเองยังจำได้ว่าในสมัยก่อนนั้นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่บางฉบับนั้นขายได้วันละเป็นล้านฉบับทำให้มีอิทธิพลในสังคมอย่างสูงและทำเงินมหาศาล  เทปเพลงบางอัลบั้มขายได้เป็นล้านตลับ  รายการทีวีนั้นไม่ต้องพูดถึง  มีคนดูเกือบครึ่งประเทศ  แต่ปัจจุบันและเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตผมคิดว่าจะไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นอีกแล้ว  เพราะฉะนั้นหุ้นที่จะมี Market Cap. หรือมีค่าสูง ๆ  ในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็อาจจะหายไป  บริษัทที่เคยมีค่าเป็นแสนหรือหลายหมื่นล้านบาทก็อาจจะไม่มีอีกต่อไป

ห้างร้านที่เป็นสรรพสินค้าและแน่นอนรวมถึงผู้พัฒนาช็อบปิงมอลเองที่มักมีมูลค่าหุ้นสูงมากและค่า PE สูงลิ่วเพราะนักลงทุนคิดว่าเป็นธุรกิจที่ดีเยี่ยมนั้นผมคิดว่าต้องระวัง  เหตุผลนั้นเพราะในขณะนี้ที่อเมริกากิจการเหล่านี้  “กำลังตาย”  ร้านค้าดัง ๆ  ระดับตำนานในอดีตหลายแห่งล้มละลาย  มอลใหญ่ ๆ  จำนวนมากร้างและปิดตัวลง  เพราะพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปมากและหันไปใช้บริการผ่านระบบอีคอมเมิร์ช 

ในประเทศไทยเองนั้นคนก็ยังคิดว่าประเทศไทยมีความแตกต่าง  เพราะคนไปห้างเพื่อไปพักผ่อนในวันหยุดและอาจจะหาอาหารกินหรือไม่ก็ไปทำธุรกรรมทางการเงินและอื่น ๆ  ในห้างที่สะดวกสบายอากาศเย็นและมีที่จอดรถ  ไม่เหมือนคนในอเมริกาที่ไปห้างเพื่อซื้อของเป็นหลัก  ผมเองคิดว่าก็มีความจริงอยู่บ้างแต่ก็ไม่ทั้งหมด 

ความคิดผมก็คือ  คนไทยก็น่าจะยังคงเดินห้างอยู่  แต่คนอาจจะซื้อของในห้างน้อยลง  เพราะหลายอย่างเขาเห็นในเวปขายสินค้าที่มีแบบและฟังชั่นการใช้งานที่ดีและมีราคาถูกซึ่งทำให้เขาซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซแทนที่จะซื้อจากห้างอย่างที่เคยทำในอดีต  ดังนั้นผู้ค้าในห้างก็จะมีรายได้น้อยลงซึ่งทำให้ห้างต้องลดค่าเช่าลงเพื่อให้ผู้ค้าอยู่ได้  ดังนั้น ธุรกิจพัฒนาหรือค้าขายที่เป็นห้างสรรพสินค้าก็จะไม่สามารถทำกำไรมากและโตได้แบบเดิมอีกต่อไป

ธุรกิจเกี่ยวกับรถยนต์และน้ำมันรถซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่มากนั้น  ผมคิดว่าน่าสนใจมากว่าจะไปทางไหน  แน่นอน  มันคงต้อง “ตาย” ในที่สุด  แต่เวลาคือกี่ปี?  ด้วยจำนวนรถยนต์สันดาปภายในที่มีเป็นหลายสิบล้านคันและอายุการใช้งานของรถยนต์ยาวเป็นสิบปีในประเทศไทยทำให้ความต้องการใช้น้ำมันและปั๊มน้ำมันน่าจะยืนอยู่ได้ต่อไปอย่างมีนัยสำคัญไม่น้อยกว่า 10 ปีขึ้นไป  

 ในช่วงเวลาที่เห็นชัดเจนว่า  “การปฏิวัติได้มาถึงแล้ว”  นั้นบริษัทเหล่านั้นก็น่าจะสามารถ “สะสมเงินสด” จากธุรกิจที่กำลังตายนั้นโดยการไม่ลงทุนเพิ่มหรือปรับปรุงอะไรที่ต้องจ่ายเงินมาก  เงินสดนั้นก็จะต้องถูกนำไปพัฒนาหรือทำธุรกิจใหม่ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าเช่นเป็นที่ชาร์จแบตเตอรี่หรือเป็นจุดพักกินอาหารเป็นต้น  หรือไม่อย่างนั้นก็อาจจะไปทำในเรื่องของพลังทดแทนอย่างอื่นก็เป็นได้    และด้วยกระแสเงินสดที่ค่อนข้างมากและราคาหุ้นที่ไม่แพง  การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่ได้น่ากลัวเท่ากับธุรกิจที่เคยทำกำไรได้ดีแต่ถูก Disrupt ทำให้อนาคตของธุรกิจตกต่ำหรือแย่ลงมาก

การปรับตัวเพื่อต้านหรือบรรเทาผลกระทบจากการปฏิวัตินั้น  บางทีก็ทำได้ยาก  เหตุผลชัดเจนก็คือ  เทคโนโลยีใหม่นั้นมีความสามารถและประสิทธิภาพเหนือกว่าของเก่ามาก  ดังนั้น  วิธีที่ผู้บริหารจำนวนมากคิดทำก็คือการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน  เช่น  พวกที่ทำร้านค้าปลีกก็ไปทำอีคอมเมิร์ซเพิ่มเติมขึ้นมา  บางคนทำเป็นมัลติหรือออมนิแชนเนล คือ  ขายในทุกช่องทาง 

อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์โดยเฉพาะที่เห็นจากต่างประเทศก็คือ  ไม่สำเร็จ  เหตุผลน่าจะเป็นว่าคนทำนั้นมักจะไม่ทุ่มสุดตัวเพราะการขายผ่านอีคอมเมิร์ซที่ประสบความสำเร็จนั้นมันมักจะหมายถึงว่ามันต้องทำลายของเก่าซึ่งก็คือตัวเองซึ่งในทางจิตวิทยาและทางปฏิบัติก็เป็นไปได้ยาก   อย่างไรก็ตาม  ในตลาดของไทยเองนั้น  เนื่องจากอีคอมเมิร์ซท้องถิ่นของเรายังไม่แข็งแกร่งเท่ากับบริษัทในตลาดพัฒนาแล้ว 

ดังนั้น  บริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในเทคโนโลยีรุ่นเก่าเองก็อาจจะสามารถเข้ามายึดกุมการปฏิวัติเสียเองก็เป็นได้  หน้าที่ของนักลงทุนก็คือ  คอยติดตามและดูการพัฒนาที่ดำเนินไปเร็วขึ้นเรื่อย ๆ และนำมาประกอบในการตัดสินใจลงทุน