ใช้เครื่องประดับจ่ายเงิน

ใช้เครื่องประดับจ่ายเงิน

ชายคนหนึ่งเดินอาดๆ เข้าไปในร้านขายของใน เมืองMelbourne ออสเตรเลีย เมื่อเลือกของและคิดราคาแล้วก็กำมือที่มีแหวนพิเศษบนนิ้ว

และคว่ำมือลงเหมือนเคาะประตูบนแท่นเล็กๆ ใกล้คนเก็บเงินแล้วก็เดินออกไปทันที เขาไม่ได้เล่นกลหรือฉ้อฉล หากเขาได้จ่ายเงินให้แล้ว นี่คือทิศทางใหม่ของการจ่ายเงินที่สะดวกและรวดเร็วซึ่งกำลังมีการทดลองอยู่ในหลายประเทศ

ธนาคารพาณิชย์ในออสเตรเลีย ทดลองขายแหวนที่ฝังชิปให้ลูกค้าเพื่อเอาไว้จ่ายเงิน ณ จุดที่กำหนดเหมือนที่เราเอาบัตรแตะแท่น ตอนขึ้นรถไฟฟ้าดังที่เรียกว่า contactless payments คือไม่ต้อง แสดงตั๋วไม่ต้องจ่ายเงินสด หากแต่เอาบัตรแตะตอนผ่านก็หักเงินในบัตรไปแล้ว

ในกรณีนี้แหวนทำหน้าที่เช่นเดียวกับบัตร โดยชิปที่ฝังอยู่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลว่าเป็นใคร มีเงินอยู่ในบัญชีมากน้อยเพียงใดและสื่อสารกับจุดอ่านข้อมูลเพื่อเก็บเงิน

แหวนวงนี้แท้จริงแล้วก็คือ บัตรเดบิต(debit card)นั่นเอง (บัตรเครดิตนั้นใช้จ่ายเงิน โดยที่ผู้ถืออาจไม่มีเงินสักบาทในบัญชีเลยก็ได้ แต่บัตรเดบิตนั้นมีเงินฝากอยู่แล้วในบัญชี การใช้บัตรเดบิตก็คือการหักเงินจากบัญชีที่มีเงินอยู่แล้ว)

ขณะนี้มีการทดลองใช้เครื่องประดับติดตัว เช่น แหวนกำไล นาฬิกา สร้อยข้อมือ พวงกุญแจ สายรัดข้อมือ ฯลฯ แทนบัตรเดบิตในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และอีกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งสร้างความงุนงงให้แก่แคชเชียร์และผู้ผ่านไปมาพอควร บางธนาคารเสนอให้ลูกค้าใช้แม้กระทั่งสติ๊กเกอร์ติดที่กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ ปากกา เข็มกลัดเนคไท ฯลฯ ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือของ contactless payments ได้เช่นกัน

แหวนดูจะได้รับการยอมรับมากเพราะสะดวกเนื่องจากใส่ติดนิ้วอยู่แล้ว ต่อไปจะมีบริการพิเศษใส่ชิปให้ในแหวนของตนเองแทนที่จะต้องใส่แหวนพิเศษที่ธนาคารทำขึ้น

การใช้ contactless payments มิได้ขีดวงอยู่เฉพาะกรณีของการใช้บัตรเดบิตเท่านั้น หากรวมไปถึงกรณีของบัตรเครดิตด้วยเช่นกัน เครื่องประดับติดตัวเหล่านี้เป็นเครื่องมือของการถ่ายโอนเงินซึ่งจะเป็นกรณีมีเงินอยู่ในบัญชีแล้วตอนจ่ายหรือกำลัง“จะมี”ในอนาคตก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ขาย

บ้านเราในปัจจุบันมีการใช้บัตรโดยสารรถไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นบัตร เดบิตที่เติมเงินได้ตามต้องการและสามารถนำไปใช้ซื้อสิ่งของอื่นๆ ได้ด้วยในร้านที่มีจุดให้บริการซึ่งให้ความสะดวกและรวดเร็ว สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรปหลายประเทศใช้กันแพร่หลายมากในสวีเดนนั้น ไม่ว่าขึ้นรถเมล์รถไฟ ซื้อสินค้าหรือบริการ เพียงแตะเท่านั้นก็จ่ายเงินแล้วโดยไม่ต้องใช้เงินสด

สาเหตุหนึ่งที่ผู้คนยังหวาดๆ กับการใช้ contactless payments ก็คือกลัวการถูกโกงโดยถูกหักเงินหรือถูกเรียกเก็บเงินไปโดยอัตโนมัติ ไม่เหมือนการจ่ายเงินด้วยวิธีอื่นๆ เช่น QR Codeหรือการโอนเงินให้กันซึ่งผู้จ่ายเงินเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินที่จ่ายออกไป ตราบที่ผู้ใช้ไม่มีความมั่นใจกับระบบไม่มีการกำหนดยอดเงินสูงสุดในการหักแต่ละครั้งแล้ว การจ่ายแบบcontactlessจะประสบความสำเร็จได้ยาก

อย่างไรก็ดีถ้ามองไปรอบบ้านเราในปัจจุบัน เราก็ใช้วิธีนี้กันอยู่แล้วไม่น้อยนับตั้งแต่บัตรรถไฟฟ้า ค่าผ่านทางที่หักเงินแบบอัตโนมัติ บัตรรถไฟฟ้าที่ซื้อสินค้าได้ด้วย บัตรเดบิตของร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ในอนาคตอันใกล้จะมีการใช้บัตรเดบิตชนิด contactless ใบเดียวสำหรับการขึ้นรถไฟฟ้าบนดินและ ใต้ดิน รถขนส่งมวลชน จ่ายค่าบริการหลากหลายชนิดของภาครัฐและเอกชน ฯลฯ ในอนาคตการจ่ายเงินด้วยวิธีนี้จะเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในระดับหนึ่งอย่างแน่นอน ทั้งในรูปบัตรเดบิตและบัตรเครดิต

การใช้โทรศัพท์มือถือเสมือนกระเป๋าเงินหรือบัตรเดบิตก็มีมานานแล้วในโลกถึง 15 ปี โดยเริ่มที่ญี่ปุ่นและเริ่มมีการใช้อย่างกว้างขวางขึ้นในประเทศไทยผ่านการโอนเงินและการใช้ QR Code

contactless paymentsนั้นทำงานโดยการฝังชิปไว้ในบัตรแหวน กำไล ฯลฯ เพื่อส่งคลื่นวิทยุดังวิธีที่เรียกว่า RFID (Radio-frequency identification) หรือNFC (Near-field communication)เมื่อเอาไปวางไว้ใกล้หรือแตะจุดจ่ายเงิน(RFID reader)มันก็จะอ่านสัญญาณและสื่อสารถึงชิปกระบวนการตรวจสอบและถ่ายโอนเงินก็จะเกิดขึ้นทันที

ในบางประเทศเช่น อังกฤษมียอดเงินสูงสุดของการโอนเงินในแต่ละครั้งบังคับไว้ที่30ปอนด์(1,262 บาท)ในกรณีของบัตรเดบิตอาจใช้เวลาถึง 4วันกว่าที่จะหักเงินจริงออกจากบัญชีบัตร contactless เริ่มใช้ในปี2007 ในเวลา 7 ปีมีการออกบัตรรวมทั้งสิ้น 58 ล้านใบ และมีจุดอ่านประมาณ 147,000 จุด ทั่วประเทศและนับวันยิ่งมีการใช้มากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ดีประเทศแรกที่มีการใช้บัตรcontactless ก็คือเกาหลีใต้ โดยเริ่มใช้ ในปี1995 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา smartcard ที่สื่อสารด้วยระบบ RFID จนเป็นบัตร contactless ก็กระจายไปทั่วโลกและมีการต่อยอดกลายร่างเป็นเครื่องประดับไปดังกล่าวแล้ว

ปัจจุบันบริษัทให้บริการการเงินทั้งใหญ่และเล็กทั่วโลก ต่างแข่งขันกันเสนอ contactless smartcard (ยิ่งเป็นบัตรเครดิตก็ยิ่ง smar tเพราะถึงไม่มีเงินในมือก็สามารถซื้อของได้ด้วยการเอาเงินในอนาคตมาใช้หรือพูดง่ายๆก็คือ smartแบบก่อหนี้)ให้ลูกค้า ความสำเร็จอยู่ที่ความมั่นคงของระบบทัศนคติและความไว้วางใจของผู้ใช้จำนวนจุดอ่านสัญญาณนโยบายของภาครัฐ ฯลฯ

มนุษย์เราปัจจุบันถูกครอบงำด้วย 4ส. คือ (1)สูง(คาดหวังว่าจะได้รับรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง) (2)สะดวก (3)สบายและ(4)สม่ำเสมอหรือความยั่งยืนของ3ส.แรก เครื่องประดับกายที่กำลังทดลองอยู่นี้สนับสนุนข้อ(2)และข้อ(3)อย่างเต็มที่ 

การเสพความสุขจากความสะดวกและความสบายไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่าหวาดหวั่น ความหิวกระหายที่จะได้รับแต่ความสะดวกและความสบายอยู่เสมอต่างหากที่เป็นสิ่งซึ่งต้องระวัง