สนามบินไม้มีทั่วโลก แต่ไทยไม่ควรสร้าง!

สนามบินไม้มีทั่วโลก แต่ไทยไม่ควรสร้าง!

เมื่อเร็วๆ นี้มี “ดรามา” เกี่ยวกับเรื่องสนามบินไม้ ว่าไทยควรจะสร้างสำหรับอาคารผู้โดยสารหลังที่สองของสนามบินสุวรรณภูมิหรือไม่

วันนี้ผมจะพาท่านไปดูสนามบินไม้ทั่วโลก แล้วมาดูว่าทำไมไทยไม่ควรสร้างแบบนั้น

ตามที่มีข่าวว่าคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ชนะการออกแบบอาคารผู้โดยสารดังกล่าว แต่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ไว้หลายประเด็นนั้น ประเด็นหนึ่งก็คือการใช้ไม้มาก่อสร้างสนามบินว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด ในความเป็นจริง มีสนามบินบางแห่งในโลกก็ใช้ไม้ก่อสร้างเช่นกัน แม้จะไม่ได้ใช้ไม้เป็นโครงสร้างหลักซึ่งยังใช้โลหะ แต่ใช้ประดับตกแต่ง ซึ่งให้ความรู้สึกที่สบายๆ กว่าการใช้โลหะ มาดูกันว่าทั่วโลกมีใครสร้างสนามบินด้วยไม้กันบ้าง

สนามบินบากู หรือสนามบิน Heydar Aliyev ในกรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นสนามบินที่มีผู้ใช้สอยราว 4 ล้านคนต่อปี (https://bit.ly/2zKyXC7) มีสถาปัตยกรรมไม้เป็นแบบชุดรังไหม 16 ชุดซึ่งใช้สำหรับกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่ตู้จำหน่ายบัตรโดยสาร ร้านอาหาร ห้องเด็กเล่น สถาปนิกจากกรุงอิสตันบูลได้สร้าง “หมู่บ้าน” ไม้ในสนามบินเพื่อเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง รังไหมนี้มีขนาด 30 - 300 ตารางเมตร โครงสร้างของรังผึ้งประกอบด้วยโครงไม้คานที่เชื่อมต่อกันโดยใช้ข้อต่อประกบกัน (https://bit.ly/2y6duBz) ไม้ที่ใช้ในกรณีสนามบินนี้ ไม่ได้เป็นโครงสร้าง แต่เป็นเพื่อการตกแต่งมากกว่า

สนามบินแมดริด ประเทศสเปน เป็นสนามบินที่มีโครงไม้ไผ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและได้วางไม้ไผ่ไว้ตกแต่งสำหรับทั้งภายในและภายนอก แผ่นไม้ไผ่โค้งโค้งขนาดเบา 212,000 ตารางเมตรคลุมหน้าภายในของหลังคาของการเพิ่มล่าสุดให้กับอาคารผู้โดยสารที่ 4 ของสนามบินนานาชาติมาดริด ที่เขาเลือกใช้ไม้ไผ่ก็เพื่อให้ดูงดงามและสีสันอันอบอุ่น โดยไม่ได้เพียงใช้ไม้ไผ่ธรรมดา แต่เป็นแบบไม้อัดเคลือบด้วยชั้นเคลือบหลายชั้น ลักษณะโค้งของหลังคาได้รับแรงบันดาลใจจากเงาของนกในเที่ยวบิน เป็นต้น (https://bit.ly/2Qp5gMd)

สนามบินเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ สนามบินแห่งนี้มีขนาด 32,000 ตารางเมตร และสามารถรองรับผู้ใช้บริการได้ประมาณ 6 ล้านคน (https://bit.ly/2OpBwlc) การออกแบบในส่วนขยายของสนามบินแห่งนี้แสดงออกถึงศักยภาพของการใช้ไม้ลามิเนตในโครงการทางสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ คานและโครงสร้างของอาคารใช้ไม้ลามิเนต และสามารถทำให้เกิดเป็นรูปทรงที่ซับซ้อน สามารถแสดงออกเป็นการสร้างชิ้นส่วนตรงที่โค้งเว้าเพื่อเข้าชิ้น และให้เกิดความสวยงามอย่างน่าทึ่ง (https://bit.ly/2y3uIPT)

สนามบินออสโล ณ ประเทศนอรเวย์ สนามบินนี้มีพื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร แต่มี Pier หรือ ส่วนที่เป็นโถงทางเดินสำหรับผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่หลังจากการตรวจคนเข้าเมืองแล้ว ที่มีขนาดยาวถึง 300 เมตรที่ใช้ไม้ทำเป็นซุ้มประตูโค้งที่ใช้ไม้มาจากป่าสแกนดิเนเวีย อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของ Pier นี้เป็นกระจกที่ให้แสงสว่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นประเทศหนาว (หนักมาก) เท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้หลังคาบางส่วนที่หุ้มด้วยไม้โอ๊ค (https://bit.ly/2xZvcGT)

จะสังเกตได้ว่าการใช้ไม้นั้น เขาใช้ในพื้นที่ๆ มีขนาดไม่ใหญ่มากนักเป็นสำคัญ ไม่ใช่ใช้ทั้งอาคาร แต่เพื่อการตกแต่งเป็นหลัก เพื่อให้บรรยากาศดูดีกว่าแบบที่เป็นโลหะแข็ง ยกเว้นสนามบินปูลโกโว ในส่วนที่เป็นอาคารผู้โดยสาร 1 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กที่ใช้แผ่นโลหะที่ดูแล้ว สละสลวยงามตาไม่แพ้ไม้ (https://bit.ly/2NWZwg5) กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงการใช้วัสดุอื่นแทนไม้ได้ นอกจากนั้นข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในประเทศที่มีไม้มาก หรือมีไม้เพื่อการส่งออกเป็นอันมาก ก็อาจใช้ไม้ได้มากเป็นพิเศษเช่นกัน

อย่างไรก็ตามในกรณีอาคารผู้โดยสาร 2 ของสนามบินสุวรรณภูมินั้น มีความจริงที่หลายท่านไม่ทราบก็คือ

  1. คุณดวงฤทธิ์ให้คำอธิบายเพิ่มเติมที่หลายท่านอาจไม่ทราบว่าไม่ใช่ไม้สักนะ แพงไป ที่วางไว้เป็นไม้ตระกูลซีดาร์ หรือ สน ซึ่งมีทั้งที่ญี่ปุ่น อเมริกา สวีเดน หรือแม้กระทั่งออสเตรีย” (https://bit.ly/2o8gKru) นี่แสดงว่าคุณดวงฤทธิ์ไม่ได้คิดใช้ไม้สักหรือไม้อื่นใดที่มีอย่างแพร่หลายในประเทศไทย
  2. ไม้ที่จะใช้ ๆ มากถึง 80,000 ลบ.ม. ซึ่งถึงแม้จะใช้ไม้ในประเทศ ก็ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอใน 1 ปี เช่น ในข้อมูลปี 2560 ล่าสุด ผลิตไม้ซุงสักสวนป่าเพียง 61,518 ลบ.ม. เท่านั้น มีไม้ซุงอื่นจากสวนป่าอีกแค่ 12,853 ลบ.ม. (https://bit.ly/2OjpuJP) และหากดูข้อมูลปีก่อนหน้าจะพบว่าแต่ละปี ไทยผลิตไม้ได้น้อยกว่าปีล่าสุดเสียอีก แต่ถ้าจะใช้ไม้ยางพาราหรือไม้อื่นก็คงได้ เพราะจะได้ส่งเสริมชาวสวนยางได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่คุณดวงฤทธิ์ไม่ใช้

แม้การใช้ไม้จะมีเกิดขึ้นบ้างในบางสนามบิน แต่ที่พบก็มีราว 4 สนามบิน ถ้าค้นมากกว่านี้อาจมีไม่ถึง 10 แห่ง ท่านทราบหรือไม่ ทั่วโลกมีสนามบินพาณิชย์ 41,788 แห่ง การใช้ไม้ทำสนามบินมีน้อยนิดมาก แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก แล้วทำไมเราจึงไม่ควรนำไม้มาทำสนามบิน

  1. เรื่องต้นทุนในการดูแลรักษา คุณดวงฤทธิ์เคยตอบว่า “เป็นเรื่องที่คิดไปเองครับ (หัวเราะ) คนพูดไม่เคยทำ อยากให้คนที่ออกมาพูดขอให้เป็นคนที่มีความรู้มากพอ เพราะการออกแบบสนามบินเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องของการดูแลสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ จะเอาไปเปรียบเทียบกับการดูแลบ้านไม่ได้ คนละเรื่องกัน” (https://bit.ly/2N6foY8) แต่เห็นชัด ๆ อยู่ว่าการสร้างป่าถึง 16,000 ตร.ม. มีต้นทุนค่าดูแลทำความสะอาดต่างๆ ของป่าใหญ่ขนาดนี้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะแพงกว่าสนามบินปกติมาก
  2. การตัดต้นไม้จะเป็นการรักษาระบบนิเวศได้อย่างไรเราควรรักษาป่ามากกว่า แต่แน่นอนว่า เราจะต้องใช้ไม้ในคราวจำเป็นโดยเฉพาะป่าปลูกภาคเอกชน ส่วนภาครัฐควรเก็บรักษาไม้ไว้ได้นับพันๆ ปีดีกว่าจะตัดมาใช้
  3. ที่ว่า วัสดุที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก หิน ปูน ทราย มาจากพื้นดินใช้แล้วก็หมดไป แต่ไม้สามารถปลูกทดแทนได้” ข้อนี้เป็นเท็จหรือไม่ ถ้าคิดอย่างนี้เอาไม้ป่ามาผลาญ ป่านนี้ไม่หมดไปนานแล้ว แต่การนำอิฐ หิน ปูน ทรายมาใช้มันก็ไม่ได้ย่อยสลายหายไปไหน ยังอยู่ดีและที่สำคัญทนทานนับร้อยปีเช่นกัน ในรอบ 60 ปีที่ผ่านการก่อสร้างด้วยอิฐหินปูนทราย ช่วยลดการทำลายป่าได้มหาศาล ประเทศไทยมีอิฐหินปูนทรายมหาศาล ราคาถูก ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด
  4. ที่ว่ามีการผลิตไม้ที่จะใช้ในที่สุวรรณภูมิทั้งยุโรปตอนเหนือ อเมริกา และญี่ปุ่น นี่เรากำลังส่งเสริมการเสียดุลการค้าหรือไม่

การใช้ไม้สนต่างประเทศมาทำสนามบินเป็นการเชิดชูไทยได้อย่างไร อิฐหินปูนทรายของไทยถูกและมีมหาศาล ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โลหะหรือพลาสติกก็สามารถทำให้สวยงามได้เช่นกัน