50 ปี “ฉันจึงมาหาความหมาย”

50 ปี “ฉันจึงมาหาความหมาย”

บทกวี ชื่อ “เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน” ที่คนชอบอ้างเฉพาะ 4 วรรค “ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง / ฉันจึง มาหา ความหมาย / ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย /

สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว/ พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทองในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2511 เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผู้เขียนเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ต้นเทอมของปี 4

หนังสือชื่อ “ฉันจึงมาหาความหมาย รวมเรื่องสั้น บทละครสั้น และบทกวี ของผู้เขียน พิมพ์ครั้งแรกโดยกลุ่มสภาหน้าโดม ปี 2514 และพิมพ์ครั้งที่ 18 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ปี 2555 ล่าสุด สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้คัดให้เป็นหนังสือ 1 ใน 10 เล่มที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ในงานสัปดาห์หนังสือเดือน เม.ย.2561(นิทรรศการอ่านอีกครั้ง)

 “ฉันจึงมาหาความหมาย หรือ “ยุคแสวงหา” เป็นคำที่นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์วรรณกรรมบางคนใช้กล่าวถึงยุคสมัยที่คนหนุ่มสาวไทยในช่วงปี 2507-2515 เริ่มตื่นตัว ตั้งคำถาม แสวงหาความหมายเรื่องชีวิตและสังคม หลังจากที่สังคมไทยได้ผ่านพ้นยุคเผด็จการจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2501-2506) มีการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริวารที่เอารัดเอาเปรียบและสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น คนหนุ่มสาวรุ่นเบบี้บูม (เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ได้เข้ามหาวิทยาลัย ได้อ่านหนังสือ คิด (ปฏิมากรรมประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มธ.ท่าพระจันทร์ มีรูปปั้นสะท้อนภาพยุคนี้และบทกวีข้างต้นด้วย)

ยุคแสวงหา / ฉันจึงมาหาความหมาย คือยุคการตั้งคำถาม, การถกเถียง, ก่อตัวทางความคิดและจิตสำนึกของปัญญาชนหนุ่มสาว กลุ่มนักเขียน นักกิจกรรม ที่นำไปสู่การเรียกร้องเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ความเป็นธรรมและต่อมาคือประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516

เรื่องแต่งใน ฉันจึงมาหาความหมาย สะท้อนปัญหาชีวิตของคนทั้งในเมืองและชนบท ทั้งและนอกมหาวิทยาลัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ช่องว่าง ความแปลกแยก ตั้งคำถามหลายคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือไม่มีคำตอบที่ชัดเจนมากนัก ผู้เขียนในตอนนั้นเป็นคนหนุ่มที่มีแนวคิดมนุษยนิยม รักความเป็นธรรม ความถูกต้อง สันติภาพ ยังไม่มีแนวคิดแบบเสรีประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือสังคมนิยม เพราะยุคนั้น (2508-2512) เป็นยุคเผด็จการ หนังสือวรรณกรรมเพื่อชีวิต,หนังสือเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ก้าวหน้า เพิ่งจะกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ในช่วงใกล้และหลัง 14 ต.ค. 2516

เรื่องสั้น บทกวี บทละคร ในฉันจึงมาหาความหมาย อาจสะท้อนสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างซับซ้อนได้เพียงบางส่วน แต่ถ้าอ่านแบบตั้งใจก็พอจะเห็นปัญหาสังคมไทยที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ เรื่องแต่งนั้น มุ่งสนองตอบทางอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้นจึงจะสะท้อนในทางอ้อม ให้ผู้อ่านรู้สึกคิดเอาเองมากกว่าจะบอกทุกอย่าง เรื่องสั้น บทกวี ละครสั้น ที่พยายามสื่อด้วยศิลปะนั้น ผู้อ่านไม่ได้เห็นแค่ตัวคนเขียน แต่จะเห็นตัวเขาเอง คนที่รู้จักและเพื่อนร่วมยุคสมัยของเขาในนั้นด้วย

ฉันจึงมาหาความหมายไม่ได้เป็นแค่งานรวมเรื่องแต่งของนักเขียนคนหนึ่ง แต่มันคืองานเขียนที่เป็นตัวแทนความคิดความใฝ่ฝันความคิด ความใฝ่ฝันของคนทั้งรุ่น (อย่างน้อยพวกนักคิด นักกิจกรรม) ในยุคนั้น จะเรียกพวกเขาว่า คนยุคแสวงหา, คนเดือนตุลา, นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเป็นธรรม หรืออะไรก็ตาม แต่คนพวกนี้มีอยู่จริง เคยมีบทบาทที่ส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทยจริง ปัจจุบันพวกเขาหลายคนอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม แต่หลายคนก็ยังคงรักความเป็นธรรม รักสิทธิเสรีภาพและมีอะไรอยู่ลึกๆ ในตัวพวกเขาหรือเธอ ที่คนรุ่นหลังน่าจะเรียนรู้

ประเด็นสำหรับคนที่รุ่นปัจจุบันไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนน่าจะอภิปรายกันมากที่สุดคือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร สังคมไทยในรอบ 50 ปีเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยและความเป็นอยู่ ความนึกคิดห้อวของประชาชน ดีขึ้น เลวลง หรือก็เหมือนเดิม แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก?

ในช่วง 3 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 - 6 ต.ค. 2519 เป็นยุคที่เรามีโอกาสปฏิรูปสังคมไทยให้เป็นธรรม มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้มาก นักศึกษาตื่นตัว มีอุดมคติสูง แต่ชนชั้นนำไทยที่จารีตนิยมสุดโต่งมาก ได้ทำลายโอกาสนี้ พวกเขาห่วงอำนาจ/ผลประโยชน์ตัวเองมาก กลัวการเปลี่ยนแปลงมาก พวกเขารณรงค์ปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษา ประชาชน บีบคั้นให้นักศึกษาเอียงซ้ายสุดโต่งอย่างไม่มีทางเลือก ความล้มเหลวของพรรคฝ่ายสังคมนิยมทั้งในไทยและทั่วโลกในเวลา 3-4 ปีต่อมา ทำให้ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมยิ่งเฟื่องฟู และสร้างปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งกว่าในยุคก่อนปี 2516

ปัญหาใหญ่ที่ประชาชนยังเอาชนะไม่ได้ คือ สังคมไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง แบบผูกขาดอำนาจโดยคนกลุ่มน้อย มีโครงสร้างความคิด, ค่านิยมที่จารีตนิยมล้าหลังมาก คนไทยส่วนใหญ่ไม่รักการอ่าน คิดวิเคราะห์ ไม่มีแนวคิดเชิงปฏิรูป ไม่ขวนขวายทำจริงอย่างต่อเนื่อง ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล คนหลายคนเห็นความไม่เป็นธรรมชัดๆ อาจเข้ามาช่วย แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นผ่านไปแล้วก็เลิกรากันไป ไม่คิดทำต่อเนื่องอย่างลึกซึ้ง

50 ปีที่ผ่านมา คนชนบทและคนจนในเมืองได้พัฒนาทางวัตถุ พ้นจากความขาดแคลนยากจนแบบดั้งเดิมบ้าง แต่พวกเขาก็ต้องเจอความยากจนแบบใหม่ที่พวกเขาต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ชาวไร่ชาวนายังต้องเสี่ยงตาย เจ็บป่วยจากการทำเกษตรแบบเคมีมากขึ้น คนงานก็ตายและป่วยจากสภาพแวดล้อมเป็นพิษเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ช่องว่างของคนต่างกลุ่มเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องฐานะ รายได้ เท่านั้น เรื่องการศึกษา ฐานะทางสังคมก็แตกต่างกันมากขึ้น คนจนนอกจากจะจนทางเศรษฐกิจแล้ว ยังจนด้านความรู้ ความคิด ความอ่าน และถูกครอบงำจากชนชั้นสูงเพิ่มขึ้น นักศึกษา ปัญญาชน หลังจากพรรคฝ่ายซ้ายล้มเหลวในปี 2525 แล้ว ก็กลายเป็นพวกเสรีนิยม, บริโภคนิยม, ปัจเจกชนนิยม เพิ่มขึ้น

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เราไม่อาจพูดแบบขาวดำได้ว่าเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 หรือคนเดือนตุลา สำเร็จ 100% หรือล้มเหลว 0% ตราบเท่าที่ใครยังมีชีวิต มีความใฝ่ฝัน และยังมีความภูมิใจในตัวเองอยู่ พวกเขา (และเธอ) ก็ยังคงทำหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ตามจิตสำนึกของตนเองได้ต่อไป

(จะมีการอภิปรายเรื่อง 50 ปี ฉันจึงมาหาความหมาย ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์สิริกิตติ์ ในวันพุธที่ 24 ต.ค.นี้ เวลา 16.00-17.00 น. ที่ห้องโถงเอเทรียม โดยบุญส่ง ชเลธร กษิดิศ อนันทนาธร และเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล)