Smart city แบบสิงคโปร์ เริ่มจากจุดไหน? ***

Smart city  แบบสิงคโปร์ เริ่มจากจุดไหน? ***

สมาร์ท” (Smart) เป็นคำที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองในช่วงหลัง Smart city

ในความหมายของประเทศไทย คือ “เมืองอัจฉริยะ” คำว่า Smart คือ ความฉลาด หลักแหลม มีปฏิภาณ ไหวพริบ และอีกนัยหนึ่งคือ ความโก้ ดูดีและผึ่งผาย โดยในบทความนี้ผู้เขียนขอใช้ทับศัพท์ ว่า “สมาร์ทซิตี้”

วิสัยทัศน์ (Vision)จาก Garden City สู่ City in A Garden

ในอดีต สิงคโปร์ได้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision)การพัฒนาเมืองโดยมุ่งประเด็นเรื่องกายภาพของเมือง ในช่วงแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 (ค.ศ.1963) อดีตประธานาธิบดี ลีกวนยู ได้มุ่งมั่นพัฒนาเมืองสิงคโปร์ให้เป็น Garden City คือเมืองแห่งสวน เพื่อสร้างภูมิทัศน์เมืองให้เป็นสีเขียว แล้วสิงคโปร์ก็ทำได้จริงตามแนวคิดสัมฤทธิผลนิยม (Pragmatism) คือมุ่งหาวิธีการมากกว่ายึดมั่นในอุดมการณ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ โดยการเร่งปลูกต้นไม้ทั้งเกาะเพิ่มปริมาณอย่างจริงจัง เพียงสิบปีผ่านไปเท่านั้น ต้นไม้ที่ปลูกขึ้นตามสวนและถนนหนทาง เจริญเติบโตงอกงามทั้งเกาะ หลังจากนั้นจึงลดความสำคัญของเมืองลง ให้เป็นเมืองในสวน (City in A Garden) กล่าวคือ มีเมืองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสวน นายลีกวนยู ได้วางภาพอนาคตโดยพัฒนาตามวิสัยทัศน์ให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัย น่าท่องเที่ยวและน่าเข้าไปลงทุน 

แผนริเริ่มประเทศแห่งความสมาร์ท (Smart Nation Initiatives)

ขณะที่เมืองในสวน (City in A Garden)ยังคงเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศตามที่กำหนดไว้โดยอดีตประธานาธิบดีลีกวนยู แต่สิงคโปร์ก็ไม่ยอมตกกระแสโลกแห่งการพัฒนา Internet of Things (IoTs) โดยในปี พ.ศ. 2557 ประธานาธิบดีลีเซียนลุง ได้ประกาศ “แผนริเริ่ม” (Initiatives) ประเทศแห่งความสมาร์ท ดังจะเห็นคำนี้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น แผนริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt Road Initiative: BRI) จากประเทศจีน แผนริเริ่มใหม่ในการบุกโลกธุรกิจโดยการพัฒนาการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานอย่างเส้นทางสัญจรจากประเทศจีนสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งคำว่า Initiatives นี้ความหมายที่ตรงที่สุดในเชิงการวางแผน ผู้เขียนพบว่าการแปลความจากพจนานุกรมให้ความหมายว่า a New plan กล่าวคือ แผนที่มีความใหม่ทันสมัย ผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า แผนริเริ่มประเทศแห่งความสมาร์ท(Smart Nation Initiatives) อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ไม่ได้เริ่มความสมาร์ทจาก “ศูนย์” หากแต่พัฒนาเทคโนโลยีและเชื่อมต่อด้านการสื่อสารมาระยะหนึ่งแล้ว โดยในช่วงแรก คือในทศวรรษที่ 1980s (พ.ศ. 2523- 2532) เป็นแผนงานการให้บริการของรัฐด้วยคอมพิวเตอร์ (Civil Service Computorisation Programme) ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2535 เป็นแผนกลยุทธ์ที่มีเป้าหมาย IT2000 ปี พ.ศ. 2553 เป็นการตั้งเป้า iGov2010 ต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้มีแผนริเริ่ม Smart Nation Initiatives และในปี พ.ศ 2558 จึงได้มีแผนแม่บท eGov คือรัฐอิเล็กทรอนิกส์ จึงอาจกล่าวได้ว่า สิงคโปร์ได้พยายามปรับตัวให้ทันต่อความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว

เมือง: ความซับซ้อน (Complexity) ความสมาร์ท (Smart) ข้อมูล (Data) และระบบ (System)

เมืองเป็นพื้นที่ที่จับต้องได้ (Tangible) ดังนั้น การพัฒนา “เมือง” จึงเป็น ความมุ่งหมายของสิงคโปร์ที่ต้องการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เสริมสร้างสังคมที่เข้มแข็งและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการรวมกันของผู้คน ความเป็นอยู่ สภาพกายภาพ การสัญจร การเชื่อมโยงข่าวสาร และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการจัดการต่อความซับซ้อนคือ การจัดการต่อข้อมูลต่างๆที่จำเป็นต่อการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ ผู้เขียนพบว่าความก้าวหน้าล่าสุด คือ การอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการและประชาชน นั่นคือการสร้างแพลตฟอร์ม(Platform) ที่มีระบบการจัดการข้อมูลด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาเมือง ได้แก่ด้านเศรษฐกิจ การเงิน สิ่งแวดล้อม การคมนาคมขนส่ง สุขภาพ สังคมและเทคโนโลยี ในเว็บไซต์ data.gov.sg หรือแม้กระทั่งหน่วยงานสำคัญหลักที่รับผิดชอบในการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ คือ องค์กรพัฒนาเมือง (Urban Redevelopment Authority: URA) ก็ได้เพิ่มความมุ่งหมายของหน่วยงานคือ การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผน ผัง และเปิดกว้างต่อการเข้าถึงข้อมูลอินเตอร์เน็ตสำหรับประชาชน หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน โดยใช้ข้อมูลเหล่านี้ช่วยในการตัดสินใจ เช่น ข้อมูลประชากร การวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมทางสังคม (Urban Behavioral Analytics) ข้อมูลที่เป็นพลวัตอย่างเรื่องการย้ายถิ่น การสัญจรของประชาชนและยวดยานพาหนะแบบ Real-time หรือแม้กระทั่งการอำนวยความสะดวกต่อนักลงทุน ในการเข้าถึงข้อมูลพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการลงทุนประเภทต่างๆและข้อกำหนดการพัฒนาที่กระชับไม่ซับซ้อน ซึ่งทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการลงทุนในสิงคโปร์

สมาร์ทแบบสิงคโปร์มาจากการจัดการข้อมูลที่แม่นยำ เปิดกว้างและเชื่อมต่อ

ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมการเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ผู้เขียนขอยกตัวอย่าง จากประสบการณ์การทำงานวิจัยและการทำงานกับหน่วยงานของไทย พบว่าอุปสรรคสำคัญในการทำงานที่มีผลต่อทั้งเวลาและคุณภาพงานคือ การเสีย “เวลา งบประมาณและทรัพยากร” ไปกับการ “ขอข้อมูล”ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนจดหมายราชการที่มีความเป็นรัฐราชการ (Bureaucratic State) ที่มีระบบ ขั้นตอนมาก  ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานวางแผนการวิจัยนั้น ก็ไม่ได้เข้าถึงด้วยความสะดวกสบายจากเว็บไซต์ต่างๆ นอกจากนั้นสิ่งที่ถูกอัพเดทให้ทันสมัยกลับเป็นรายชื่อคณะผู้บริหารและภาพข่าวงานสำคัญต่างๆ ปัญหาสำคัญที่สุดคือ ข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างหน่วยงาน เช่น จำนวนประชากรในพื้นที่ต่างๆ ข้อมูลประกอบการพัฒนาเชิงพื้นที่เช่น แผนที่ต่างๆ แต่ละหน่วยงานต่างมีชุดข้อมูลของตนที่ไม่ได้มีการอัพเดทแลกเปลี่ยนและตรวจสอบความถูกต้องระหว่างกัน ดังนั้น ในการพัฒนาหรือจัดทำแผนใดๆ กระบวนการหาข้อมูลจึงเป็นขั้นตอนที่สิ้นเปลือง “เวลาและทรัพยากร” มากกว่าการใช้เวลากับการวิเคราะห์ข้อมูลและนำข้อมูลไปพัฒนาต่อ ซึ่งแทบไม่ต้องคิดเลยว่า ประชาชนทั่วไปนั้นจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และสร้างสรรค์ต่อได้อย่างไร ในขณะที่สิงคโปร์แม้จะเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องในเรื่องประชาธิปไตย แต่ก็มีความเชื่อว่าการเข้าถึงข้อมูลและการเชื่อมโยงที่สะดวกจะทำให้เกิดความรู้สึกของการเป็นพลเมือง (citizenship) กล่าวคือ เมื่อภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลโดยง่ายแล้ว ย่อมมองเห็นทิศทางการสร้างสรรค์พัฒนา เกิดการร่วมกันคิด (Co-creation) ดังนั้น สิ่งที่เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งยวดของการก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ไม่ใช่เพียงการพัฒนาเทคโนโลยี แต่เป็น “การปฏิรูปการจัดการข้อมูล” ซึ่งเป็นสิ่งที่จัดการได้ง่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยี 

เมืองสมาร์ทแบบสิงคโปร์ไม่ใช่การ “รับเอา”เทคโนโลยีมาจัดวางในพื้นที่เพียงเท่านั้น จำเป็นต้องวางฐานราก (foundation)การพัฒนาที่มั่นคงบนระบบฐานข้อมูลต่างๆบนแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนของหน่วยงานรัฐ การศึกษาวิจัย การตัดสินใจของภาคเอกชน และประชาชน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกเพื่อนำมาวิเคราะห์และจัดทำแผน ไปจนถึงการเชื่อมต่อของข้อมูลประเด็นต่างๆ นำไปสู่สมาร์ทซิตี้ ในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือในการพัฒนาเมืองของภาคประชาชน (Co-creation) และการสร้างโอกาสการพัฒนาธุรกิจ Start_up จากการเห็นช่องว่างทางธุรกิจที่มาจากข้อมูลต่างๆในเมืองหรือสังคม เมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว การจัดทำแผนการพัฒนาใดๆของหน่วยงานต่างๆนั้น มักเสียเวลาไปกับการหา “ข้อมูล” มากกว่าขั้นตอนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่แนวทางที่ต้องการ ผู้เขียนอดนึกสงสัยไม่ได้ว่า ก่อนที่จะไปสู่ประเทศไทย 4.0 และสมาร์ทซิตี้ นั้น เราจะเริ่มต้นกันอย่างไร? และเราได้สร้างฐานรากการพัฒนา ด้วยการจัดระบบข้อมูล เพื่อการเชื่อมต่อระหว่างกันที่ smooth สู่ความ smart ดีพอหรือยัง?

[เนื้อหาส่วนหนึ่งในบทความนี้มาจากผลงานวิจัยเรื่องการพัฒนาประเทศสิงคโปร์: กระบวนการ การเปลี่ยนผ่าน และความท้าทาย สนับสนุนโดย สกว.]

*** ชื่อเต็ม:  เมืองสมาร์ท ชาติสมาร์ท (Smart city, smart nation) แบบสิงคโปร์เริ่มจากจุดไหน?

โดย... 

ผศ.ดร.เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี 

นักวิจัย ฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว.